แม้แสงแดดจากพระอาทิตย์ของช่วงสายแก่ๆ ปลายปี 2565 จะสาดส่องร้อนแรงแค่ไหน ก็ไม่อาจหยุดยั้งพวกเรา ที่จะทำหน้าที่เป็นไกด์พาทุกคนมาทัวร์โครงการในครั้งนี้ได้
แต่ถ้าคุณคาดหวังจะได้เห็นภาพโครงการบ้านสวยๆ ส่วนกลางว้าวๆ ล่ะก็อาจจะผิดหวังนิดหน่อย เพราะวันนี้เราจะอาสาพาทุกคนไป “ทัวร์เก็บขยะ” ผ่านเส้นทางการจัดการในโครงการก่อสร้างของแสนสิริ!
อย่าเพิ่งรีบสละรถ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องสกปรกไกลตัว ลองตามเราไปดูวิธีการที่พวกเราจะสามารถช่วยดูแลโลกใบนี้ได้ เพราะ #ขยะเป็นเรื่องของเราทุกคน
เพื่อนๆ บางคนอาจจะยังไม่เคยทราบว่า ในการก่อสร้างแต่ละครั้งนั้น จะมีขยะเหลือตามมาด้วย ซึ่งก็จะแบ่งหลักๆ เป็น ขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ (Recycle), ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuse) และขยะที่ต้องนำไปฝังกลบ (Landfill) ซึ่งหากไม่มีการวางแผนการจัดการขยะที่ดี จะทำให้เกิดขยะเหลือทิ้งเยอะมากกก
แต่นั่นจะไม่เกิดขึ้นกับโครงการแสนสิริ เพราะเรามีทีมผู้รวบรวมข้อมูลสู่ส่วนกลาง และรายงานผลลงระบบ Waste Management ทุกเดือน เพื่อติดตามผล เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดขยะภายในโครงการก่อสร้างและทุกโครงการกันอย่างจริงจัง
เริ่มแรกของทัวร์ จริงๆ แล้วเรามาไม่ทัน ทีมงานเล่าให้ฟังว่า ก่อนเริ่มงาน จะมี Morning Talk ระหว่างทีมงาน, ผู้รับเหมา และคนงาน นอกจากจะบรีฟเรื่องงานแล้ว ทุกเช้าจะเป็นการอัพเดตข้อมูลเรื่องการจัดการ ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเมื่อวานก่อน และสิ่งที่ต้องทำในวันนั้นๆ
นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนจะมีการนัด Training จากทีม Waste Management สำหรับผู้รับเหมาของเราทุกราย เพื่อให้ช่วยจัดการขยะในโครงการก่อสร้างอีกด้วย
สำหรับขยะก่อสร้างต้องทำจุดรวมและคัดแยกขยะพิเศษหน่อย ซึ่งขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ (Recyclable Waste) จะเก็บแยกไว้ รอ ‘คุณลุงซาเล้ง’ หรือรถรับซื้อของเก่ามารับไป เงินที่ได้จากการขายก็จะเข้าส่วนกองกลาง เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพี่ๆ คนงานนั่นเอง
ส่วนขยะที่ไม่สามารถใช้ได้จริงๆ ก็จะมีพี่ๆ รถขยะ กทม. นำขยะไปจัดการต่ออย่างถูกกฏหมาย แต่แน่นอนว่า ทีม Waste Management และทีมงานแสนสิริทุกคน จะพยายามทำให้เหลือขยะในส่วนนี้ น้อยที่สุด!
แล้วขยะที่ไม่สามารถขายต่อได้ แต่ไม่ต้องถึงขนาดฝังกลบไปไหนต่อนะ? นี่เลย… ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Reuse) จะถูกคัดแยกเอาไว้ ให้กลับไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด อย่างเช่น ถังสีที่ไม่ได้ใช้แล้ว ก็ถูกดัดแปลงทำเป็นที่ล้างมือคนงานได้แบบเก๋ๆ แถมใช้งานได้จริง เก่งอ่ะ คิดได้ไงเนี่ย!
ถุงปูน ใช้เสร็จที่นี่เราไม่ทิ้งง่ายๆ จ้าา นำไปเย็บเข้าด้วยกันมารวมเป็นแผ่น ใช้รองปูพื้นสำหรับช่วยป้องกันสีเปื้อนพื้นบ้าน แถมยังสามารถย้ายไปใช้กับบ้านหลังอื่นๆ ได้อีกด้วย เป็นการลดขยะเหลือทิ้ง และเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างจีเนียสเลย!
เศษคอนกรีตสดที่เหลือ อ่ะอ่ะ เหมาะกับคนหล่ออย่างเรา เพราะทีมงานเค้าก็เอาไปหล่อเข้าแบบ ใช้สำหรับเป็นฝาสำหรับปิดถังบำบัดได้
เสร็จงานแล้ว ไม่มีเดินตัวปลิวแยกย้ายกันกลับบ้านนะ แต่ทีมงานของเราจะช่วยกันไปเก็บขยะตามไซต์งานก่อน เผื่อมีหลงเหลือจากที่เก็บไปเมื่อวาน โดยปกติแล้ว จะมีกิจกรรม “5 ส.” (สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และ สร้างนิสัย) หรือ Big Cleaning เพื่อจัดการขยะครั้งใหญ่กันสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว และขยะทั้งหมดจะถูกนำไปทิ้งที่จุดรวมขยะของโครงการนั่นเอง
ไม่ใช่แค่ฝั่งก่อสร้าง ทางฝ่ายนิติบุคคล (PMR) จากพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ก็มีวิธีบริหารจัดการขยะอย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน เริ่มตั้งแต่การตั้งจุดสำหรับการแยกทิ้งขยะ แบ่งถังเป็นสีต่างๆ ตามมาตรฐานสากล ทั้งบริเวณบ้านและพื้นที่ส่วนกลาง เรียกว่ารองรับทุกจุดทั่วทั้งโครงการเลย
“นำขวดพลาสติกที่แยกไว้แล้วมาให้ค่ะ”
ลูกบ้านของเราน่ารักมากกก รักความสะอาดแล้ว ยังมีหัวใจรักษ์โลกสีเขียวด้วย ทีมงานเล่าให้ฟังว่า ลูกบ้านที่นี่จะแยกขยะตั้งต้นมาตั้งแต่บ้านเลย อย่างเช่น แยกขวด กล่องลังกระดาษ สำหรับให้นิติฯ นำไป Recycle และแยกขยะเหลือทิ้งมัดมาอย่างดี เรียกได้ว่า ลูกบ้านที่น่ารักของเราช่วยลดการเกิดขยะฝังกลบได้เยอะมากเลย
สำหรับประเภทขยะที่สามารถ Recycle ได้นั้น ทางพี่ๆ ทีมนิติบุคคล (PMR) ก็จะนำมาคัดแยกกันอีกครั้ง ส่วนไหนที่ขายได้เงิน รายได้ก็จะมาเข้าส่วนกลาง ไว้เป็นประโยชน์ให้กับลูกบ้านของเราอีกด้วยล่ะ
ก่อนจบทัวร์ เราเอ่ยปากชมและขอบคุณทีมงาน เพราะเส้นทางจัดการขยะนี้ ไม่ได้ง่ายเลย และแน่นอนว่าช่วงเริ่มต้นตั้งไข่นั้นก็ยากไม่น้อย เพราะนี่คือเรื่องใหม่ และอาจจะเป็นเหมือนหนึ่งในภาระงานที่พวกเขาต้องรับผิดชอบมากยิ่งขึ้น
แต่หลังจากที่ทำความเข้าใจ ทำให้พวกเขาได้เห็นผลลัพธ์หลังจากการกระทำนั้น และปลูกจิตสำนึก จนทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน เพื่อลดขยะจากสถานที่ก่อสร้าง และขยะจากผู้บริโภค Construction & Consumer Waste ให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด
การเดินทางกลับรอบนี้จึงมีแต่ความภูมิใจ และสบายใจ เพราะเราได้รู้แน่ชัดแล้วว่า ที่แสนสิรินั้น มีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น ที่จะสนับสนุนเรื่องราวความยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตของโลกใบนี้ที่ยั่งยืน