Agent

เอเจนท์นักฟุตบอล ระบบตัวแทนนักกีฬา ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

Agent ระบบตัวแทนนักกีฬามืออาชีพ

ความสำเร็จของทีมชาติไทยในซูซูกิคัพเมื่อปลายปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ บอลไทยฟีเวอร์ อย่างต่อเนื่อง สำหรับตัวนักเตะในชุดนี้เองก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีในการสร้างโปรไฟล์ตัวเองอย่างต่อเนื่อง มีการเดินสายขอบคุณสปอนเซอร์ต่างๆ และพบปะสื่อมวลชน และหลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับโลกการพาณิชย์ที่จะมีการคว้าตัวบรรดานักเตะหรือแม้กระทั่งสต๊าฟโค้ชเองมาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าต่างๆ มากมาย รวมไปถึงการต่อยอดเดินสายขยายการรับรู้ว่าด้วยการสัมภาษณ์ การถ่ายแบบ การถ่ายโฆษณา ฯลฯ ซึ่งนำมาสู่อีกมุมองหนึ่งของผมที่เห็นว่าผลพวงของความสำเร็จดังกล่าว ถ้าตัวนักเตะเตรียมตัวรับมือไว้ไม่ดีก็จะเป็นดาบสองคมที่ส่งผลกระทบต่อผลงานได้เช่นกัน

เราเคยเห็นตัวอย่างมามากแล้วสำหรับดาวเด่นในอดีตที่จัดการกับชื่อเสียง เงินทองของตัวเองได้ไม่ดี สุดท้ายก็กระทบผลงานในสนาม ซึ่งผมคิดว่า “ตัวแทนนักกีฬามืออาชีพ” เป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่จะเข้ามาช่วยจัดการเรื่องอื่นๆ ที่อยู่นอกสนามฟุตบอลให้กับนักฟุตบอลเหล่านี้ เพื่อให้เค้าได้โฟกัสอยู่กับการฝึกซ้อมและแข่งขันให้มากที่สุด

เมื่อกล่าวถึง ตัวแทนนักกีฬา หรือที่เรียกกันตามทับศัพท์ว่า เอเจนท์ นั้น โดยมากเราจะมองเห็นภาพลักษณ์ของอาชีพนี้ในแง่มุมเดียวคือเรื่อง เงินๆ ทองๆ เพราะเวลามีการซื้อขายตัวนักเตะระดับโลกระหว่างสโมสร ชื่อของเอเจนท์ประจำตัวนักเตะเหล่านั้นมักจะเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจาอยู่เสมอ นั่นก็เพราะหน้าที่หลักอันหนึ่งของเอเจนท์ก็คือดูแลผลประโยชน์ของนักเตะอันเนื่องมาจากค่าเหนื่อยและส่วนแบ่งที่ได้มาจากการซื้อขายนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น Jorge Mendes ที่ถูกขนานนามว่าเป็น super agent ของ C Ronaldo, James Rodriguez, และ Radamel Falcao ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นดีลการซื้อขายระดับท็อป 5 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หน้าที่หลักอันนี้ที่ต้องปล่อยให้มืออาชีพจัดการก็เพราะไม่ว่านักเตะคนไหนก็อยากเสียสมาธิเพราะความกังวลเรื่องการเจรจาในเรื่องดังกล่าว รวมถึงทักษะการเจรจาของเอเจนท์ที่มีประสบการณ์โชกโชนย่อมเหนือกว่านักเตะที่วันๆ ขลุกอยู่แต่ในสนาม ซึ่งเอเจนท์มีชื่อหลายรายก็มีพื้นเพทางการเจรจาธุรกิจมาก่อนจะทำหน้าที่นี้ได้อยู่แล้ว ไม่เชื่อท่านผู้อ่านลองไปหาหนังสืออัตชีวประวัติของนักเตะคนสำคัญๆ มาอ่านสิครับ จะเห็นได้ว่าเอเจนท์มีบทบาทต่อการย้ายทีมแค่ไหน

ถ้าหันกลับมามองระบบเอเจนท์มืออาชีพในเมืองไทยซึ่งปัจจุบันจากเว็ปไซต์ของ FIFA มีผู้ที่สอบได้ license และรับรองจาก FIFA อยู่ 13 ราย ผมคิดว่าอาชีพนี้ควรได้รับความสำคัญและมีการวางพื้นฐานอย่างเป็นรูปแบบเพราะต้องยอมรับว่าระบบบริหารฟุตบอลไทยของเรายังค่อนข้างยึดติดกับการอุปถัมภ์ การฝาก และบุญคุณ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะเด็กบางครั้งก็ต้องอาศัยโอกาสจากผู้ใหญ่ แต่เมื่อถึงจังหวะหนึ่งของชีวิตการค้าแข้งในรูปแบบมืออาชีพ ผมเชื่อว่าการมีบุคคลกลางมืออาชีพเข้ามาช่วยมองภาพรวมของสถานการณ์และช่วยหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับนักเตะเองเป็นเรื่องที่จำเป็น การตัดสินใจของนักเตะไม่ควรเป็นความลำบากใจของเค้าเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสภาพอารมณ์และสุดท้ายส่งผลต่อผลงานในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของเอเจนท์ที่ดีไม่ได้จบที่แต่ตรงการดูแลผลประโยชน์ของนักเตะในเรื่องนี้แต่อย่างเดียว อย่างที่ต่างประเทศเองเอเจนท์มืออาชีพจริงๆ ยังต้องทำหน้าที่ ดูแล ให้คำปรึกษา และช่วยฟูมฟักนักเตะในสังกัดตัวเองในเรื่องอื่นๆ ด้วยเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวนักเตะเองในระหว่างอาชีพการค้าแข้ง เพื่อให้เป็นที่สนใจและถูกใจของแฟนบอล สโมสรต่างๆ และบรรดาแบรนด์สินค้าที่อยากจะดึงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากอาชีพนี้ไม่ได้มีระยะเวลาที่ยาวนาน อย่างมากก็ 15 ปี หรืออาจสั้นกว่านั้นหากมีอาการบาดเจ็บเกิดขึ้น เอเจนท์ที่ดียังมีส่วนช่วยวางแผนชีวิตหลังจบอาชีพนักเตะให้กับนักกีฬาอีกด้วย

กรณีศึกษาตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจมากคือ Rio Ferdinand กับทีมเอเจนท์ของเค้าที่นอกเหนือจะทำหน้าที่มาตรฐานต่างๆ แล้ว ยังสามารถช่วยกันคิดนำเอาแพล็ตฟอร์มของสื่อใหม่ๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้าง แบรนด์ ของนักเตะให้มีคนชื่นชอบติดตามเค้าบน twitter ถึงกว่า 5 ล้านคนและมีรายการทีวีและแมกกาซีนออนไลน์ที่ Rio สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านสื่อเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนและไม่มีการบิดเบือนและสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ในโลกเรียกได้ว่าจบอาชีพค้าแข้งไป Rio ก็ยังสามารถสื่อสารกับแฟนๆ ของเค้าได้ไปตลอดและอาศัยฐานแฟนในการสร้างอาชีพหรือขายของได้ไม่ยาก

นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในเนื้องานของ ตัวแทนนักกีฬามืออาชีพ ซึ่งผมเชื่อว่าของประเทศไทยเรายังสามารถพัฒนามาตรฐานได้อีกเยอะ บอลลีกเรากำลังไปได้สวย นักฟุตบอลรุ่นใหม่ๆ ที่เก่งๆ ก็มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ได้รับการยอมรับจากต่างชาติทั้งในด้านฝีมือและมาตรฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพตรงนี้ควรได้รับความสนใจ มีการกำกับ ดูแล และวางมาตรฐานให้เหมาะสมอย่างใกล้ชิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันมิให้ ความไม่เป็นมืออาชีพ เข้ามาบั่นทอนครับ

ภาพประกอบ :  http://www.101greatgoals.com

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม