Climate Change
กับความเหลื่อมล้ำ

สมัยหนุ่มๆ ผมจำได้ว่ามีภาพยนตร์ฮิตเรื่อง Blade Runner ที่แฮริสัน ฟอร์ด แสดงเป็นตัวเอก โดยในภาพยนตร์ดังกล่าวเค้าคาดการณ์ถึงอนาคตของเมืองที่มีรถไฟฟ้าบินได้ มีหุ่นยนต์ที่เลียนแบบมนุษย์ สามารถตั้งครรภ์ได้ ซึ่งยังเป็นอนาคตที่คาดการณ์ได้ไม่ค่อยใกล้เคียงกับความเป็นจริงเท่าไหร่

แต่สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ดังกล่าวคาดเดาได้ใกล้เคียงมากก็คือสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของโลกที่เสื่อมโทรมลง เต็มไปด้วยมลพิษและภาวะอากาศที่สุดโต่ง รวมถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจของประชากรโลกในอนาคต ซึ่งอยากจะบอกว่าผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้มองความสัมพันธ์ของสองประเด็นนี้ได้ขาด เพราะมีความสอดคล้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลกับการถ่างตัวของความไม่เท่าเทียม? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ลองดูในระดับโลกกันก่อน เราจะเห็นว่าโดยมากแล้วกลุ่มประเทศที่ยากจน แม้ตามสถิติแล้วจะมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เยอะนัก แต่ประเทศเหล่านี้มักตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจะทำให้สภาพอากาศยากต่อการดำรงชีวิตของประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่ง หรือในที่ราบ ชุมชนบ้านเรือนที่ไม่แข็ง เสียหายง่าย และไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงฉับพลันของสภาพภูมิอากาศ ขาดงบประมาณในการปรับปรุงผังเมือง ระบบวิศวกรรมพื้นฐาน รวมถึงความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตที่ตามมาจากภัยธรรมชาติ มลภาวะและโรคระบาด อีกทั้งผลผลิตทางเกษตรที่ลดลงและประสิทธิผลของแรงงานที่เสียเปล่าไป โดยตัวเลขจากการศึกษาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหั่นรายได้ของกลุ่มประเทศที่ยากจนลงกว่า 30% และลดผลผลิตทางการเกษตรลงกว่า 21% นับจากปี 1961 เป็นต้นมา

ตัวเลขจากการวิเคราะห์บอกว่าระหว่างปี 1961 มาจนถึง 2000 จะเห็นว่ากลุ่มประเทศที่ยากจนรั้งท้ายถูกกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งทิ้งห่างไปเรื่อยๆ โดยเค้าบอกว่าช่องว่างด้านความมั่งคั่งระหว่าง 2 กลุ่มนี้เติบโตเกินกว่าที่ควรจะเป็นถึง 25% ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับการเก็บสถิติของ Global Climate Risk Index ที่บอกว่ากลุ่มประเทศอันดับต้นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในช่วงปี 1999-2018 อย่างเมียนม่า ไฮติ หรือ เนปาล ก็เป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มค่อนข้างยากจนอันดับต้นๆ เช่นกัน

แล้วถ้าเราลองส่องดูในระดับประเทศ เราเห็นอะไร ดูกันง่ายๆ ไม่ยากครับ ในกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าย่อมมีทรัพยากรในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเครื่องปรับอากาศที่ช่วยบรรเทาจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ยังสามารถจ่ายค่าไฟได้ไม่ต้องกังวล ในกรณีที่จะมีภัยพิบัติ คนที่มีความมั่งคั่งกว่าก็จะมีศักยภาพมากกว่าในการอพยพตัวเองออกจากพื้นที่และสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ตัวอย่างง่ายๆ เหล่านี้ชัดเจนว่ากลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจเสียเปรียบและเป็นความจริงที่ทำให้ช่องว่างด้านความมั่งคั่งขยายตัวเรื่อยๆ เพราะทรัพยากรที่เป็นตัวช่วยในการใช้ชีวิตและฟื้นตัวไม่เหมือนกัน

ผมพูดถึงภาพยนตร์ Blade Runner และยกประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับความเท่าเทียมมาให้เป็นไอเดีย แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไกลเกินไปก็ไม่เป็นไรครับ ลองคิดในมุมที่ใกล้ๆ ตัวดูก็ได้ ถ้าเรายังดำเนินชีวิตกันตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อสิ้นศตวรรษนี้ว่ากันว่าความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศจะสุดโต่งถึงขั้นที่เมื่อคลื่นความร้อนปกคลุม มนุษย์จะไม่สามารถใช้ชีวิตข้างนอกบ้านตอนกลางวันได้เลยในบางประเทศ ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้วจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาในอเมริกาหรือออสเตรเลีย พื้นที่หลายแห่งที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่มาก อย่างเกาะในแปซิฟิค บังคลาเทศ รัฐเท็กซัส รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วยก็จะจมอยู่ใต้น้ำถาวร

คราวนี้ต้องให้ท่านผู้อ่านกลับไปหาภาพยนตร์อย่าง The Day After Tomorrow มาดูแทนแล้วกันครับ ดูจบแล้วอย่าลืมเตือนตัวเองนะครับว่าวันนี้เราได้ลงมือเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวให้น้อยลงหรือยัง?

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน