ดูเหมือนว่า เวลาเทศกาลต่าง ๆ มาถึงเมื่อใด จะมีหนังที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลานั้น ๆ ไปโดยคิดกันเอง เช่น ถ้าเป็นเทศกาลคริสต์มาส อเมริกันชนก็จะชอบดู Home Alone ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ “โดดเดี่ยวผู้น่ารัก” เพราะถูกลืมทิ้งไว้ที่บ้าน (แล้วทำไมต้องลืมซ้ำในภาคสอง ก็เพราะภาคแรกมันดันได้เงินไปสองหมื่นกว่าล้านบาท)
แต่ถ้าเป็นหนังไทยในช่วงสงกรานต์ ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มักถูกนำมาฉายทางทีวีซ้ำ ๆ ทุกปี ก็คือ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ใครที่เคยดู อาจไม่ได้สังเกตว่า ทำไมข้าวของเครื่องใช้ที่ เหมยลี่(คริส หอวัง) ใช้ ถึงเป็น “สีม่วง” ?
นั่นเพราะว่า สปอนเซอร์หลัก ๆ มาจากแบรนด์รถไฟฟ้ากับสายการบิน ที่บังเอิญแบบเจตนา มีสีม่วงเป็น “สีหลัก” ของสินค้า จะเป็นตัวสถานี สายมือจับในโบกี้ ราวเหล็ก ชุดยูนิฟอร์ม มันเป็นสีม่วงทั้งนั้น ลิปสติกที่ เหมยลี่ ใช้ทาปาก จึงเป็นม่วงไม่ใช่แดง แถมดาวตกที่นางเอกชวนพระเอกไปดู พอมันมาจริง ๆ จากฟากฟ้า ดาวตกยังเป็นสีม่วงขนาดนั้น…
อย่างไรก็ดี เราเคยคิดเล่น ๆ มั้ยว่า ในยามที่เรา “ร้อนกันมาก” ในช่วงปิดเทอม หนังแบบไหนที่เหมาะกับฤดูร้อนแบบนี้ ?
ละทิ้งวัยเยาว์ ก้าวสู่การเติบโต
มีหนังอยู่แนวทางหนึ่งครับ ที่มักมีเนื้อหา มีฉากหลัง “ผูกโยง เชื่อมโยง” กับหน้าร้อนหรือฤดูร้อน บางคนอาจจะเคยได้ยินศัพท์คำว่า coming-of-age ที่ถ้าแปลให้ง่ายขึ้นก็ประมาณ การสูญเสียความเยาว์ ความไร้เดียงสาของวัยเด็ก ก่อนจะเติบโตขึ้นไปสู่อีกวัยหนึ่ง
หนังกลุ่มนี้แนวทางนี้ ตัวละครมักเป็นเด็กหรือวัยรุ่นช่วงต้น ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง อาจเป็นเรื่องร้ายแรง ความตาย หรือเรื่องความรัก และเมื่อผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นไป วุฒิภาวะ สายตา ความรู้สึกนึกคิด จะไม่เหมือนเดิมอีก จะไม่มองอะไรแบบไร้เดียงสา เพราะได้รู้แล้วว่า ชีวิตไม่ได้มีแต่สีขาว สดใส
มีหนังมากมายหลายเรื่อง ที่ใช้อธิบายกลุ่มหนัง coming-of-age ได้ชัดเจน แต่จะขอยกตัวอย่างเรื่องที่หาดูง่าย และค่อนข้างเป็นที่รู้จัก
หนังเรื่องนี้คือ Stand By Me ของผู้กำกับ ร็อบ ไรเนอร์ ในปี 1986 ตัวหนังทำมาจากเรื่องสั้นที่ชื่อ The Body ที่เขียนไว้ในหนังสือของ สตีเฟ่น คิง
![](https://erdeg5uu5jc.exactdn.com/wp-content/uploads/2019/05/Stand-by-me-Sansiri-Blog-2.jpg?strip=all&lossy=1&ssl=1)
(ภาพจาก LA WEEKLY)
พล็อทเกี่ยวกับเด็กผู้ชาย 4 คนที่ไปรู้มาว่า มีเด็กคนหนึ่งถูกรถไฟทับหรือชนจนเสียชีวิต และศพนั้นถูกทิ้งไว้ในป่า ถ้าพวกเขาออกตามหาพบเป็นคนแรก พวกเขาจะเป็นฮีโร่ทันที
ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แบบคาสเซิลร็อคนั้น มีเรื่องให้เป็นฮีโร่ไม่มากนัก ในบ้านชนบทไกลปืนเที่ยงของหนังบางเรื่องนั้น บางทีแค่ตกปลาใหญ่ ๆ ได้ตัวหนึ่ง ก็เป็นฮีโร่แล้ว …แต่ไม่ว่าจะเป็นฮีโร่ด้วยวีรกรรมแบบไหน กอร์ดี้ – เวิร์น – คริส และ เท็ดดี้ ก็อยากเป็นฮีโร่แบบเด็ก ๆ อยู่ดี
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในฤดูร้อนที่ร้อนมาก มุมกล้องต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกว่า เด็ก ๆ กำลังถูกแผดเผาด้วยแสงแดดจัด ๆ ความไร้เดียงสาของพวกเขา มาถึงจุดจบทันทีเมื่อได้พบศพจริง ๆ ทุกคนรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องวิ่งหนีหมา หรือวิ่งหนีรถไฟบนราง แล้วชนะ!
![](https://erdeg5uu5jc.exactdn.com/wp-content/uploads/2019/05/Stand-by-me-Sansiri-Blog-4.jpg?strip=all&lossy=1&resize=640%2C427&ssl=1)
(ภาพจาก IMDb)
แต่ศพคนตาย ทำให้เด็ก ๆ เงียบงัน และแปรเปลี่ยนไป กอร์ดี้บอกว่า พวกเขาออกจากบ้านไปในวันศุกร์ พอกลับมาอีกทีในวันอาทิตย์ ทำไมหมู่บ้านหรือบ้าน ไม่เหมือนเดิม… ไม่เหมือนเดิมนั้น ไม่ใช่ใครสร้างบ้านใหม่ หรือทาสีใหม่ แต่ไม่เหมือนเดิมเพราะสายตา ความคิด ของพวกเขา เปลี่ยนไปแล้ว
วัยเยาว์ที่ติดตัวไปวันศุกร์ มันตกหล่นไปในชายป่า พวกเขาไม่ได้เป็นเด็กอีก แต่โตเป็นวัยรุ่นที่เลิกสดใส มองโลกสีขาว สนุกสนาน มีรายละเอียดอย่างหนึ่งที่หนังใช้ระบุ การสิ้นสุดวัยเยาว์ของตัวละคร นั่นคือ เด็กทุกคนอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นช่วง “ก้าวข้าม” พอดี
ฉากหลังหน้าร้อนแดดจัด ๆ ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกว่า ความไร้เดียงสา วัยเยาว์ ถูกแผดเผาจนหมดสิ้น โดยโครงสร้างและวิธีเน้นย้ำจุดสำคัญ ๆ stand by me ค่อนข้างสมบูรณ์กว่าหนังแนวทางนี้หลาย ๆ เรื่อง
นอกจาก coming-of-age แล้ว หนังอีกกลุ่มหนึ่งที่มักใช้ฤดูร้อนเป็นฉากหลังด้วยก็คือ หนังแนวทางพวก nostalgia หรือถวิลหาอดีต หรือวันเก่า ๆ ที่สวยงาม แต่ไม่เสมอไป เพราะบางทีเราอาจถวิลหาอดีตที่เป็นหน้าหนาวก็ได้
coming-of-age มาจากอะไร ?
(ภาพจาก USA TODAY)
มีการวิเคราะห์ในสายวิชาการของหนังว่า เหตุการณ์ที่มีการเรียกใช้ถึงศัพท์คำนี้ มาจากการเหตุการณ์สงครามเวียดนามของอเมริกัน ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้ สายตาคนหนุ่มคนสาวมองชีวิตสวยงาม และกระโดดเข้าสู่สงครามด้วยความรักชาติ อยากเป็นฮีโร่ของประเทศ
ก่อนที่สงครามจะยืดเยื้อหลายปี และทุกคนเริ่มรู้แล้วว่า มันเป็นเรื่อง “ลับ ลวง พราง”
ผมไม่ทราบเหมือนกันว่า วัยเยาว์ของคนเรา หมดลงที่ตอนอายุเท่าไหร่…
แต่บางที มันถูกเร่งให้หมดเร็วขึ้น ด้วยอาการอยากเป็นฮีโร่ของตัวเอง เหมือนที่เด็ก 1 ใน 4 ของหนัง stand by me โดนแทงตายในร้านอาหารในเวลาต่อมา เพราะอยากแสดงความเป็นฮีโร่
เขาเป็น nobody มาก่อนหน้านั้น
และตายลง เพราะอยากเป็น somebody
นี่คือเรื่องสั้นที่ชื่อ The Body …