ผู้นำต้องกล้าที่จะพูด
อย่ากลัวดอกพิกุลจะร่วง

หลายคนเคยถามผมว่าในฐานะผู้นำขององค์กร ทำไมถึงเลือกที่จะใช้ Twitter ของตัวเองให้ความเห็นในเรื่องราวหลากหลาย

ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองบ้างประปราย ไม่ได้พูดเฉพาะเรื่องของธุรกิจตัวเองอย่างเดียว โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสอัพเดต พูดคุยกับทีมงานของบริษัทที่รับผิดชอบ Twitter ในไทยก็สอบถามเขามาตลอดนะครับว่ามีผู้นำองค์กรท่านอื่น ๆ หรือไม่ที่เลือกใช้ช่องทางนี้ในการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ กับสังคมอย่างเปิดเผย แต่ทุกครั้งก็จะได้ฟีดแบ็กว่ายังมีน้อยมากสำหรับผู้บริหารในประเทศไทย

ผมก็ไม่รู้ว่าคนอื่นที่ไม่ใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียออกมาแสดงความเห็นทางเศรษฐกิจ สังคมแบบตรง ๆ กันเพราะกลัวไปจับประเด็นที่ร้อนแรงและเป็นที่ถกเถียงทำให้ทัวร์ลงหรือเปล่า เพราะแน่นอนความเห็นที่เรามีต่อประเด็นพวกนี้ย่อมมีทั้งถูกใจหรือไม่ถูกใจสังคมบางกลุ่ม

ก็น่าเสียดายอยู่ เพราะผมเชื่อว่าหนึ่งในหน้าที่ของผู้นำองค์กรภาคเอกชนก็คือการมีส่วนร่วมเสนอแนะความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ให้กับสังคม หลาย ๆ ครั้งเรามีประสบการณ์ ความคิด ความหวังดีในหัวที่อยากจะนำเสนอแต่ไม่มีเวทีที่จะพูดเพราะหน้าสื่อก็มีจำกัด ใครจะอยากมาสัมภาษณ์เราในเรื่องจุกจิก ๆ ตลอดเวลาถ้าเราไม่มีข่าวใหญ่ให้กับเขา การใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารก็เลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผมคิดว่าสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน และผมเองเลือกที่จะไม่กลัว เพราะเรามีเจตนาดีในเรื่องที่พูด

การมีช่องทางในการสื่อสารก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือเนื้อความที่เราจะส่งออกไป โดยผมยึดหลักที่เพื่อนสนิทผมผู้ล่วงลับไปแล้ว คุณโต้ง-ฐากูร (บุนปาน) เคยสอนผมเสมอว่าให้พูดเรื่อง “ความ” อย่าไปพูดเรื่อง “คน” ซึ่งผมคิดว่าเป็นแนวคิดที่หลักแหลมและผู้นำทุกคนควรจำให้ขึ้นใจ

คิดแบบนี้แล้วมันจะเปิดประตูให้เรากล้าพูดในสิ่งที่เราอยากจะพูดได้เต็มที่ แม้ประเด็นนั้นจะร้อนแค่ไหน เพราะทุกคนจะเห็นว่าเรามีเจตนาต้องการแสดงความเห็นต่อ “เหตุ” และ “ผล” ของการกระทำ ความ “ผิดพลาด” และ “ถูกต้อง” ถูกวิเคราะห์ผ่านบริบทองค์รวมเพื่อเรียนรู้และปรับปรุง โดยมิได้มีอคติหรือความตั้งใจจะชมเชยหรือโจมตีปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง

ที่สำคัญอย่าไปยึดติดว่าสิ่งที่เราคิดมันถูกตลอด ให้ประเด็นเรื่อง “ความ” ที่เราจุดขึ้นมาทำหน้าที่ของมัน กระตุกให้สังคมสนใจที่จะต่อยอดหรือหยิบเรื่องนี้มาคุยกันต่อในเชิงสร้างสรรค์

ผมเองยึดมั่นว่าการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะสร้างความแตกแยกในสังคม ซึ่งว่าไปก็มีความละเอียดอ่อนนะครับ บางครั้งก็พลาดที่ไปกล่าวพาดพิงถึง “คน” ออกไป ตัวเองก็ต้องปรับทัศนคติใหม่แล้วโฟกัสที่เรื่อง “ความ” เหมือนเดิมให้ได้

ถ้าจะยกกรณีของผมเองเป็นตัวอย่าง ทุกสิ่งที่ให้ความเห็นเป็นเรื่องที่ผมไตร่ตรองอย่างดีแล้ว จะต้องเป็นเรื่องที่เรายึดมั่นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสังคมและเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม หรือความหลากหลายทางเพศ ถ้าเจตนาเราชัด เราก็จะได้คนที่มองประเด็นเดียวกับเราเข้ามาคุย อย่างล่าสุดที่เราหยิบประเด็นเรื่องความเท่าเทียมขึ้นมาพูด จนมีโอกาสได้จับมือกับ DTAC และ Unilever ช่วยกันสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมให้ใหญ่ขึ้น หรือถ้าเห็นต่างเราก็ได้รับฟังและเรียนรู้ประเด็นเพิ่มเติมจากคนที่มองอีกมุมในบรรยากาศที่สร้างสรรค์

ฝากไว้เลยนะครับสำหรับใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองมีสถานะเป็น “ผู้นำ” ในสังคม ความกล้าที่จะหยิบยกประเด็นเศรษฐกิจ สังคมที่เราเล็งเห็นว่าสำคัญมาพูด ให้ความเห็น เสนอแนะ ชี้นำให้เกิดแรงกระเพื่อมในทางบวก เป็นคุณลักษณะหนึ่งที่ผมคิดว่าสังคมมองหาจาก “เจ้าสัว” “นายทุน” ภาคเอกชน เพราะเราต้องการความคิดดี ๆ ในหัวของทุกคนออกมาแชร์กันอย่างสร้างสรรค์

อย่าให้ประชาชนเขามองว่า “เจ้าสัว” “นายทุน” จะพูดก็ต่อเมื่ออำนวยประโยชน์ให้กับตัวเอง พวกพ้อง คอนเน็กชั่นที่อวยประโยชน์ แค่นั้น…

สังคมจับตาดูคุณอยู่นะครับ

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน