Donald Trump!!

ช่วงสิบกว่าวันที่ผ่านมาคงไม่มีเรื่องไหนที่ดึงความสนใจคนทั่วโลกได้มากกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาและการได้มาซึ่ง “ว่าที่ประธานาธิบดี” ที่มีชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสร้างความเซอร์ไพรส์และตกใจแตกตื่นให้กับหลายๆ คน จะว่าไปโลกของเราช่างเต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจนะครับ ไม่ต่างอะไรกับตอนที่ผลการโหวตการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษที่เราเรียกกันติดปากว่า Brexit ออกมาหรือตอนที่ Leicester ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ใครก็ตามที่ลงพนันไว้ทั้งสามเรื่องแล้วถูกทั้งสามเรื่องได้นี่ผมว่ากลายเป็นมหาเศรษฐีทันทีแน่นอน

ที่ผมพูดถึงเรื่องของโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งนี้ก็เพราะว่าตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคือตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของโลก ฯลฯ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการหาเสียงของนายทรัมป์ในช่วงที่ผ่านมาเต็มไปด้วยเรื่องที่สร้างความแตกแยกทางความคิดอย่างมากอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดในการปิดกั้นทางการค้าและมองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลักแบบเห็นแก่ตัวหน่อยๆ หรือแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย การกีดกันคนต่างด้าว การพูดถึงการสร้างกำแพงกั้นไม่ให้เพื่อนบ้านชาวเม็กซิกันข้ามดินแดนมายังสหรัฐฯ ซึ่งมองในมุมของแฟนกีฬาคนหนึ่งกรณีนี้ก็น่าสนใจตรงที่ว่าชัยชนะในครั้งนี้ของทรัมป์จะมีนัยยะอะไรต่อวงการกีฬาโลกบ้างหรือเปล่า

เรื่องแรกเลยที่นักวิเคราะห์ด้านกีฬามองก็คือการพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคในปี 2024 ของนคร ลอส แอนเจลิสซึ่งต้องแข่งขันกับกรุงปารีสและบูดาเปสต์อาจจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบของสหรัฐฯ กับการได้ประธานาธิบดีอย่างนายทรัมป์ เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะการที่จะได้ชัยชนะในการเสนอตัวนั้นจะต้องได้รับการลงคะแนนเสียงจากประเทศสมาชิก IOC ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศที่จะได้ผลกระทบในทางลบอย่างชัดเจนจากนโยบายของนายทรัมป์คงจะไม่โหวตให้กับ ลอส แอนเจลิสเป็นแน่ และเริ่มมีเสียงออกมาจากสมาชิกบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายประเภทเอาประเทศตัวเองเป็นหลักของนายทรัมป์ตอนหาเสียง เพราะนั่นหมายถึงการขาดผู้นำที่แข็งแกร่งที่เต็มใจของโลกเสรีที่จะช่วยพยุงสภาวะสมดุลย์ของระบบระหว่างประเทศ นอกจากนี้แล้วนโยบายของนายทรัมป์ที่ถูกมองว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติและไม่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมในสิทธิของคนแต่ละเชื้อชาติ โดยเฉพาะแนวทางการส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศและการกีดกันชาวมุสลิมเป็นแนวความคิดที่มีน้อยคนนักที่จะเห็นด้วย ดังนั้นคงไม่แปลกถ้าหากประเทศสมาชิกอื่นๆ จะลงคะแนนเสียงให้กับเมืองคู่แข่งอันดับหนึ่งอย่างปารีสครับ

อีกมหกรรมกีฬาหนึ่งที่สหรัฐฯ อเมริกาอาจจะชวดการเป็นเจ้าภาพก็คือฟุตบอลโลกปี 2026 เนื่องมาจากการที่ FIFA เริ่มมองถึงการขยายทีมที่เข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายเป็น 48 ทีมมีแม็ตช์แข่งขันมากขึ้น และภาระของประเทศที่เคยเป็นเจ้าภาพในอดีตที่สุดท้ายแล้วไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการลงทุนอันมหาศาลกับการรับภาระเป็นเจ้าภาพคนเดียวและเสียเงินลงทุนเป็นจำนวนมากเกินความจำเป็น (อย่างกรณีบราซิลล่าสุด) ทำให้มีแนวทางออกมาจาก FIFA ที่จะพิจารณาการเป็นเจ้าภาพร่วมเหมือนอย่างที่ฟุตบอล EURO เคยทำมาแล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้ว สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกเจ้าภาพร่วมที่ดูเหมาะสมมากที่สุด ณ ตอนนี้

ดังนั้น ถ้าหากสหรัฐฯ สนใจที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพร่วม แต่เพื่อนบ้านที่แค้นเคืองจากนโยบายอันสุดโต่งในเรื่องของการกีดกันชาวเม็กซิกันของนายทรัมป์ อาจส่งผลทำให้รัฐบาลและประชาชนเม็กซิโกไม่ปรารถนาที่จะร่วมลงขันเป็นเจ้าภาพกับสหรัฐฯ ซึ่งก็คงจะทำให้โอกาสที่จะมีฟุตบอลโลกในประเทศเจ้าภาพร่วมอย่างที่ FIFA ต้องการเป็นไปได้ยาก เพราะสิ่งสำคัญก็คือประเทศเจ้าภาพจะต้องได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาลประเทศนั้นๆ แม้จะสามารถล็อบบี้ในระดับรัฐบาลกันได้แต่ด้วยความรู้สึกของประชาชนเม็กซิกันที่ต่อต้านนายทรัมป์ เชื่อว่ารัฐบาลเม็กซิโกคงไม่อยากฝืนใจประชาชนตัวเองเพื่อเอาใจทรัมป์หรอกครับ

อีกเรื่องที่นักวิเคราะห์มองกันไว้ก็คือโอกาสในการขยายธุรกิจ franchise ของทีมกีฬาในสหรัฐฯ สู่ตลาดโลก เพราะนโยบายของนายทรัมป์ที่บอกไว้ตอนหาเสียงว่าจะยุติความสัมพันธ์ทางการค้าหลายดีลกับหลายๆ ประเทศหรือการรีวิวกำแพงภาษีกับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ เสียใหม่ จะส่งผลให้มีหลายประเทศที่จะต้องเสียเปรียบทางการค้ากับนโยบายดังกล่าว แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับความพยายามของ franchise กีฬาประจำชาติสหรัฐฯ ต่างๆ ที่พยายามขยายออกไปหาฐานแฟนๆ ใหม่ๆ ในต่างประเทศเพื่อหวังผลในเชิงพาณิชย์

ที่ผ่านมาผู้บริหารของทั้ง NBA, NFL และ MLB (เมเจอร์ลีกเบสบอล) ได้มีความคิดที่จะเอากีฬาทั้งสามอย่างนี้ออกไปหาลูกค้าใหม่ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งเราก็ได้เคยเห็นการแข่งขันกีฬาทั้งสามอย่างนี้ในเมืองใหญ่ๆ อย่างลอนดอน บาร์เซโลน่า ริโอ เดอ จาเนโร เซี่ยงไฮ้ หรือเบอร์ลิน แต่ลองนึกภาพดูสิครับว่าถ้าหากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายทรัมป์ เกิดตั้งกำแพงภาษีใหม่กับสินค้านำเข้าจากจีนให้สูงขึ้นเป็น 45% อย่างที่เค้าหาเสียงเอาไว้ คิดหรือครับว่าทางการของจีนจะเต็มใจให้ franchise กีฬาเหล่านี้เข้าไปเปิดตลาดในจีนได้ง่ายๆ ไม่มีทางหรอกครับ นั่นยังไม่รวมถึงการแก้เผ็ดในด้านอื่นๆ เช่นการทำให้วีซ่าของทีมเข้าประเทศได้ยากขึ้น การยกเลิกมาตรการภาษีสำหรับหน่วยงานของทีมต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศนั้นๆ เพื่อดูแลผลประโยชน์ด้านการค้า ฯลฯ

เรื่องสุดท้ายที่แฟนๆ บอลอาจจะต้องจับตาดูก็คือกรณีของการที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ กล้าที่จะเดินหน้าเปิดคดีและจับกุมตัวผู้บริหารของ FIFA ในปีที่ผ่านมาไปตั้งหลายคนในกรณีทุจริตในหน้าที่ ซึ่งถ้าหากเกิดการเปลี่ยนชุดคณะผู้บริหารประเทศ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าความพยายามในการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้จะได้รับความสำคัญและเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ซึ่งกรณี FIFA นี้น่าจะเป็นกรณีเดียวที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์จะสามารถสร้างคะแนนบวกให้ตัวเองในแวดวงสังคมกีฬาโลก เพราะเรื่องอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้นดูเหมือนจะไม่เอื้อกับคะแนนนิยมของสหรัฐฯ เสียเลย

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน