ครั้งก่อนผมเขียนเรื่องแรงกดดันต่อสตรีเพศในช่วงโควิดที่มีหน้าที่ทั้งเรื่องงานและดูแลบ้านมาเขียนได้รับความสนใจจากผู้อ่านกันเยอะ (ไปอ่านกันที่นี่นะครับ คลิก) ครั้งนี้ผมขอลงลึกเพิ่มเติม 2-3 เรื่องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างบุรุษเพศและสตรีเพศ
เรื่องแรกเกี่ยวกับทางเลือกอาชีพของคนในสังคมไทยที่ถูกกำกับด้วยวิถีการแบ่งบทบาทหญิงชายตามค่านิยมเดิมๆ สถิติในประเทศเราจะเห็นว่ายังมีสตรีเพศอยู่ในสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยกว่าชาย ซึ่งในยุคนี้เป็นสายที่มีโอกาสทางอาชีพเปิดกว้างมากกว่า ยิ่งเข้าทำงานแล้วอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น วิศวกรรมหรือปัญญาประดิษฐ์ก็ยังถูกมองว่าเป็นอาชีพที่เหมาะกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (ตัวเลขจาก World Economic Forum ระบุว่า สัดส่วนของนักวิชาชีพด้านปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นผู้ชายยังนำลิ่วทิ้งห่างผู้หญิงร้อยละ 78 ต่อร้อยละ 22)
ในโลกยุคดิจิทัลที่ automation หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทกับงานมากขึ้น ทักษะคนคนทำงานต้องเปลี่ยนไป ภาคธุรกิจที่จ้างงานสตรีเพศอยู่เยอะๆ อย่างท่องเที่ยว สายการบิน บริการ ร้านอาหาร และรีเทล จะโดนกระทบยังไง ทั้งภาครัฐและเอกชนควรคิดเตรียมแผน reskill ให้กับพวกเธออย่างจริงจังชัดเจนนะครับเพื่อที่จะได้พร้อมเมื่อเวลานั้นมาถึง
Entrepreneurship ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนสตรีเพศมากขึ้น องค์กรใหญ่ๆ บางแห่งเพิ่มสัดส่วนผู้บริหารสตรีมากขึ้น หรือขึ้นเป็น CEO เลยก็มี เป็นเรื่องที่ดีครับ แต่สำหรับสตรีที่อยากตั้งไข่ธุรกิจของตัวเอง ภาครัฐน่าจะให้ความสำคัญเยอะๆ อย่าง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เริ่มต้นได้ดีกับพวกธุรกิจ SME หรือ OTOP แต่อยากให้ขยายรวมถึงธุรกิจในโลกใหม่ด้วย ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเข้าใจกับบริบทธุรกิจใหม่ๆ อย่างแพล็ตฟอร์มหรือสตาร์ทอัพต่างๆ ไม่งั้นก็จะมองจำกัดการสนับสนุนแค่ธุรกิจรูปแบบเดิมๆ เท่านั้น
ในด้านสวัสดิการก็สำคัญ ภาครัฐควรปรับปรุงระบบสวัสดิการดูแลเด็กและครอบครัวให้ดี เช่นลงทุนกับเรื่องจับต้องได้อย่างสถานรับเลี้ยงเด็ก ทำให้ดีให้คุณแม่สบายใจที่จะฝากบุตรไว้ มีโอกาสทำงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันเพื่อมิให้สมดุลย์หายไปมัวแต่ทำงานกันอย่างเดียว องค์กรหรือนายจ้างต่างๆ ก็ควรเปิดกว้างเรื่องการแบ่งเวลา นโยบาย flexible work scheme มีออกกฎไปให้ชัดเจน อย่าให้พวกเธอต้องกลัวที่จะใช้สิทธิเรื่องพวกนี้เพราะกลัวโดนเพ่งเล็ง กลัวตกงานเพราะถ้าให้องค์กรเลือกก็จะเลือกเก็บผู้ชายไว้ก่อน ความคิดแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
เรื่องพวกนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ นะครับ แต่บทวิจัยของ McKinsey เค้าบอกว่าไอ้การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุรุษเพศและสตรีเพศในเรื่องพวกนี้แหละที่จะส่งผลทางบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในอนาคต อย่างแน่นอน ถึงเวลาที่เราจะต้องขยับตัวกันจริงจังแล้วไหมครับ