ท่ามกลางการโรมรันพันตู ระหว่าง Roma กับ Green Book ว่าใครจะเข้าวินออสการ์เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หนังเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจมากนักอย่าง Free Solo กลับเป็นไฮไลท์ของนักดูหนังว่า อาจจะคว้ารางวัล “หนังสารคดี” ยอดเยี่ยมของออสการ์ ก็เป็นได้
และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ
(ภาพจาก VOA News)
ผมว่าการมาถึงของ Free Solo น่าสนใจกว่าการ “อุปาทานหมู่” หรือ mass hysteria เรื่องที่หลายคนเชื่อว่า เทรนด์ผิวสีที่ยกพลขึ้นบกในหลายวงการ จะทำให้ Black Panther ได้หนังเยี่ยมสาขาใหญ่สุดเสียอีก
แล้วทำไม Free Solo ถึงน่าสนใจ ?
ผมตั้งใจรอให้หนังเรื่องนี้ เข้าโรงในบ้านเราก่อนแล้วเขียนถึง โดยหลังจากดูไปแล้วทางออนไลน์ ก็ไปดูซ้ำในโรงอีกครั้งที่ CTW เพื่อเปรียบเทียบว่า จอที่ใหญ่กว่าดูในไอแพด จะเป็น spectacle ที่ช่วยให้ตื่นเต้นด้านภาพมากแค่ไหน
ผมดูรอบแรก วันแรกที่เข้าฉาย (เขาฉายโรง 14 และมีคนดูราว ๆ ครึ่งโรงเล็ก) หนังเรื่องนี้เป็นสารคดีถ่ายทำชีวิตของนักปีนเขาชื่อ อเล็กซ์ ฮันโนลด์ อายุ 33 ปี น่าสนใจมั้ยว่า คนปีนเขาในโลกนี้มีเป็นพันหมื่นแสนทั่วโลก ทำไมหนังที่กำกับโดย อลิซาเบธ ไช วาสาเฮลี และ จิมมี ชิน ถึงเลือกถ่าย อเล็กซ์
(ภาพจาก USA Today )
ผู้ชายคนนี้ตัดสินใจที่จะปีนเขาเอล แคพพิทานในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งตั้งชัน 80 องศา และสูงเกือบหนึ่งกิโลเมตร เขาไม่ใช่คนแรกที่ปีนและคิดจะปีน… แต่แทบทุกคนที่คิดจะปีน และเคยปีน ตกลงมาเสียชีวิตไปหลายคนแล้ว บางคนปีนมามาก ปราบผาเขามาเยอะ ก็มาตายที่เอล แคพ ผาปราบเซียน
ชื่อเรื่องก็ตรงกับการปีนคือ ต้องปีนด้วยมือเปล่า ไม่มีอะไรช่วยทั้งสิ้น และไม่มีเชือกรัดประคองห้อยโหน ตกลงมาคือตาย หนังสารคดีเรื่องนี้จึงมีทางออกอยู่มากกว่าหนึ่งทาง คือเขาไม่รอด มันก็กลายเป็นหนังที่มีอารมณ์หนึ่ง และถ้าเขาปีนสำเร็จ มันก็จะเป็นสารคดีที่น่าตื่นเต้นมาก
ทีมงานติดตามถ่ายทำตั้งแต่ชีวิตส่วนตัว ชีวิตคนรักที่ชื่อ คาสซานดร้า (ซึ่งเป็นนักปีนเขาเหมือนกัน) และตอนวัยเยาว์ที่เขาเริ่มสนใจปีนเขาตั้งแต่ 10 ขวบ ซึ่งในขณะที่เขาสนใจหมกมุ่นกับการปีนนั่นปีนนี่ เช่น ชอบปีนต้นไม้ ปีนกำแพงในโรงเรียน เพื่อน ๆ ของเขาสนใจว่าจะได้เกรดเฉลี่ยทางการเรียนดีแค่ไหน
สิ่งที่หนังบอกเราอ้อม ๆ คือ ชีวิตที่จะไปสู่ความสำเร็จนั้น มันไม่ได้มีช่องเดียว คือ “เรียนเก่ง” ปีนเขาให้เก่ง ก็ประสบความสำเร็จได้
เหมือน มาร์ค ทเวน เขียนเรื่องสั้น, โกวเล้ง เขียนนิยายจีน หรือ ชาติ กอบจิตติ เขียน “พันธุ์หมาบ้า” คนเหล่านี้ก็ไม่ได้สอบได้คะแนนดีด้านเรียงความ
ในตัวหนัง ผมเพิ่งรู้ว่า อเล็กซ์ ไม่มีบ้าน เขาใช้ชีวิตกินนอนแต่ใน “บ้านรถ” รวมทั้งทำอาหาร เขาบอกว่าการปีนเขาต้องใช้กำลังใจอย่างมาก เพราะเวลาคุณอยู่กลางหินผาบนโขดเขา คุณไม่มีใครช่วย และหมดกำลังใจไม่ได้ แถมยังต้อง แก้ปัญหาคนเดียว ด้วยตัวคุณเอง
มันไม่มีขอเปลี่ยนตัว ทดเวลาเจ็บ หรือสำรองข้างสนาม
(ภาพจาก National Geographic)
สุดท้ายแล้ว อเล็กซ์ ปีนสำเร็จ และใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง 56 นาที ผมเชื่อว่าตอนที่เขาออกสตาร์ท ก็ไม่มีใครมั่นใจว่า เขาจะรอดหรือตก เพราะก่อนหน้าเขาที่เก่ง ๆ หลายคนก็ตกลงมา ยิ่งหนังเอาตัวอย่างของคนที่ตกลงมาเสียชีวิตมาให้ดู ทำให้ดราม่าในหนังเกิดขึ้นทางอ้อม
ดราม่าที่เกิดขึ้นนี่เอง ที่ได้ยกระดับสารคดี “หนังกีฬา” ให้ก้าวขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง ต้องเล่าก่อนว่า ก่อนหน้านี้สารคดีที่อยู่ในหมวด Sport Movie แบบ documentary ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาลี หรือชีวิตเด็กวัยรุ่นสองคนใน Hoop Dream ปี 1994 เป็นสารคดีแบบเก่า รักษาขนบนิยมคือ เลี่ยงที่จะใส่ความเป็น dramatic เข้าไป
เพราะเงื่อนไขอย่างหนึ่งของหนังสารคดีก็คือ เน้น fact ข้อเท็จจริง ห้ามปนเปื้อนอารมณ์ตกแต่งทางดราม่าจนคนดูมีอารมณ์ร่วมแบบดูละครทีวีตบตี ห้ามมีฉากเอฟเฟคท์ เพราะมันจะไม่ใช่สารคดี แต่กลายเป็นหนังทั่วไป
แต่ช่วงระยะหลัง ๆ ที่เทรนด์ วัฒนธรรมป็อปสาย reality show บูมทั้งโลกนั้น สารคดียุคใหม่ก็มีการปรับตัวสูงว่า แม้มันจะเป็นสารคดี แต่ก็สามารถ “ตื่นเต้นได้” บิ้วอารมณ์คนดูได้ โดยเนื้อกลางแก่นใน ยังเป็นความจริงอยู่
(ภาพจาก National Geographic)
Free Solo ซึ่งเป็นสารคดีที่เน้นความตื่นเต้นอยู่แล้ว จากการลุ้นอเล็กซ์ปีนเขา แถมมีการใช้นักแสดงแทนฉากสั้น ๆ ทำให้สารคดีเรื่องหนึ่งดึงเอาศัพท์หนังคำหนึ่งขึ้นมาด้วย นั่นคือ dramatic-realism ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการนำเอาแนวทางสองอย่างมาผสมกัน ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
เอาความน่าเชื่อถือ สมจริงแบบ documentary มาสวมคลุมกับความตื่นเต้น ใส่อารมณ์ร่วมแบบ drama จึงกลายเป็น dramatic-realism
มีหนังไทยที่เคยอยู่ในแนวนี้บางเรื่องเหมือนกัน ทั้งที่มันน่าจะเป็นหนังดราม่าทั่วไป นั่นคือ ผีเสื้อและดอกไม้ ของ ยุทธนา มุกดาสนิท ใครสนใจว่ามันเป็นอย่างไร ลองไปหาดูได้ในออนไลน์
การคว้ารางวัลของ free solo นักปีนเขามือเปล่าไม่ใช้เชือกช่วย
น่าจะทำให้คนสร้างสารคดีหลาย ๆ คน มองเห็นลู่ทางว่า ไม่จำเป็นเลยที่สารคดีต้องหมายถึงเพียงแค่ เอากล้องมาถ่ายคนสองคนคุยกันแบบทั่วไป มันสามารถใส่ช่อง (เมื่อสบช่อง) น้ำหนักระหว่างความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นจริงได้ โดยผ่านการตัดต่อ !
เดี๋ยวนี้มีสารคดีดี ๆ เยอะแยะ ที่น่าสนใจ บางเรื่องถ่ายทำกัน 3-4 ปี ติดตามวัยที่เติบโตจริงของนักแสดง นั่นหมายความว่า ถ่ายกันตั้งแต่อายุน้อยถึงอายุมากขึ้น (Hoop Dream ถ่าย 4 ปี จนมีฟุตเตจยาว 250 ชั่วโมง ทั้งที่ใช้ได้เพียง 3 ชั่วโมงบนจอ)
วันที่ออสการ์ประกาศว่า Free Solo ชนะเลิศหนังยอดเยี่ยมในสาขาสารคดี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลายคนปรบมือเสียงดังและยืนขึ้น
เป็นการ “ยืนขึ้น” เพื่อแสดงความคารวะ อเล็กซ์ ฮันโนลด์
และ “ยืนเคารพ” เพื่อยินดีกับ “ขนบใหม่” หนังสารคดี…