“ความอคติด้วยเพราะเพศ”
บทเรียนและตัวอย่างในอดีต
กับความท้าทายสำหรับอนาคต

“รถคันนี้ขับไม่ได้เรื่องเลย เชื่อไหมว่าคนขับเป็นผู้หญิงแน่ๆ”

เคยไหมครับที่ท่านผู้อ่านคิดแบบนี้เวลาเจอรถคันข้างหน้าทำเราหงุดหงิด หรือเวลาเลือกซื้อการ์ดวันเกิดให้ลูกหลานตัวเอง ผมเชื่อเลยครับว่าผู้อ่านต้องไม่เคยหาการ์ดรูปนักผจญภัย นักสำรวจที่เป็นเด็กผู้หญิง ใช่ครับ นี่คือเรื่องของ “ความอคติด้วยเพราะเพศ” หรือ Gender Bias ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เราอยู่กับมันมานานมาก นานเสียจนเราไม่เคยคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ

ต้องยอมรับว่าเรื่อง Gender Bias หรือ Gender Stereotypes นี้ถูกสังคมปลูกฝังเข้าไปในความคิดของพวกเราทุกคนตั้งแต่เด็ก ยกตัวอย่างเช่นคำพร่ำสอนที่ผู้ใหญ่มักจะบอกเด็กผู้ชายว่าต้องเข้มแข็งอย่าร้องไห้ ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะถูกสอนให้อ่อนโยน เรียบร้อย ซึ่งนักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาหลายคนบอกว่าการปลูกฝังเช่นนี้แหละที่เป็นการจำกัดศักยภาพของเด็กโดยที่สังคมไม่รู้ตัว

ตัวอย่างของปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจาก Gender Stereotypes ในยุคที่ผ่านๆ มาก็คือเรามีอัตราส่วนผู้หญิงในสายการศึกษาและสายอาชีพสาขาจำพวก STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) น้อยกว่าผู้ชายอย่างชัดเจน และในทางกลับกันเราก็จะเห็นอัตราส่วนผู้ชายในสายการศึกษาและสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานบริการหรืองานพยาบาลดูแลต่างๆ น้อยเช่นกัน ซึ่งต้องบอกว่ายุคที่ผ่านๆ มาก็เหมือนวังวน เมื่อโอกาสทางด้านการเลือกสายการศึกษาและอาชีพไปในแบบเดิมๆ น้อยครั้งที่เราจะเห็น “บุคคลตัวอย่าง” หรือ Role Model ที่สามารถก้าวข้ามวิถีสังคมนี้ได้ ทำให้การท้าทายกรอบความคิดยิ่งทำได้ยาก

ในปัจจุบัน เราได้เห็นการก้าวข้าม Gender Stereotypes ของสตรีหลายๆ ท่านที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างให้สังคมได้เห็นว่าบทบาทและศักยภาพของสตรีไม่ได้ด้อยไปกว่าบุรุษแต่อย่างใด

ในส่วนของโลกกีฬาและโลกของบันเทิง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าถึงสังคมได้แพร่หลายและสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้เสมอๆ ให้กับคนธรรมดาๆ เราได้เห็นหลายๆ ตัวอย่างที่ก้าวข้ามเรื่องนี้มาได้ เราได้เห็นนักขับรถแข่งสตรีขึ้นโพเดียมเทียบเคียงกับผู้ชาย เราได้เห็นกรณีเงินรางวัลเทนนิส ฟุตบอล ฯลฯ ของสตรียกระดับให้เทียบเท่าของผู้ชาย เราเห็นกรรมการฟุตบอลสตรีตัดสินในแม็ตท์พรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เราได้เห็นตัวเอกในภาพยนตร์หลายเรื่องเป็นสตรีเพศที่แข็งแกร่งไม่แพ้บุรุษ

ในโลกของการเมืองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกโลกหนึ่งที่การก้าวข้าม Stereotypes เป็นเรื่องยากเพราะสตรีมักถูกมองว่าเป็นเพศที่ประนีประนอม การจะทำให้สังคมยอมรับได้ว่าสตรีก็เด็ดขาดได้โดยไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราได้เห็นตัวอย่างนาง ออง ซาน ซูจี ของเมียนมาร์ นาง แองเจลา เมอร์เคิล ของเยอรมัน นางคริสเตียน ลาการ์ดของ IMF และธนาคารกลางยุโรป ในขณะที่ภาคเอกชนก็มี CEO และผู้บริหารสูงสุดเป็นสตรีเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

แต่ลองดูดีๆ กรณีต่างๆ ด้านบนจะเห็นได้ว่าเราใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าที่จะเปิดรับและก้าวข้ามมุมมองเรื่อง Gender Stereotypes และมีตัวอย่างที่น่าชื่นชม นั่นทำให้ผมกังวลไม่น้อยสำหรับความเป็นไปของสังคม เศรษฐกิจปัจจุบันที่วิถีของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกของปัญญาประดิษฐ์ จักรกล หรือคริปโต มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว ใครที่เริ่มต้นได้ก่อนก็จะเป็นผู้ที่จะประสบความสำเร็จในโลกอนาคตข้างหน้า ใครสตาร์ทช้าไปนิดเดียวโอกาสที่จะตามทันแทบไม่มี

แนวโน้มความกังวลของผมน่าจะถูกคอนเฟิร์มได้ด้วยสถิติในปีที่แล้วจากองค์กรชื่อ Girls Who Code ที่บอกว่าแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และวิศวะกรรมเป็นสตรีเพศแค่ 24% และ 11% ตามลำดับ ผู้ที่จบการศึกษาในระบบ STEM เป็นสตรีเพศแค่ 19% และสตาร์ทอัพที่สตรีเพศเป็น CEO หรือผู้ก่อตั้งได้รับเงินลงทุนน้อยกว่าสตาร์ทอัพที่นำโดยเพศชายถึงเกือบ 50 เท่า

สำหรับโลกที่ปลาเร็วกินปลาช้า  ผมว่าเราต้องถามตัวเองว่าเราเร็วพอหรือยังที่จะ Break the bias ปรับเปลี่ยนทัศนคติ แนวคิด องค์ประกอบโครงสร้างทางสังคม ในการสนับสนุนให้สตรีเพศได้พัฒนาศักยภาพสำหรับโลกอนาคต เราไม่มีเวลาเป็นสิบๆ ปีที่จะค่อยๆ ปรับเหมือนเมื่อในอดีตแล้วนะครับ

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม