จะปั้นเด็ก ให้เป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ใครกันที่ทำได้บ้าง?

เมื่อสุดสัปดาห์ก่อนผมหยิบหนังสือพิมพ์ฝรั่งเล่มหนึ่งมาอ่าน ในเล่มมีคอลัมน์ยาวเกือบสองหน้าเต็มเกี่ยวกับสโมสรฟุตบอล โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ โดยเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับการปั้นเด็กของสโมสรนี้ขึ้นมาว่าประสบความสำเร็จได้อย่างไร มีแนวคิดอย่างไรในการบริหารสโมสรแบบนี้ ช่องว่าง อุปสรรค โอกาส และมุมมองของโค้ช แมวมอง และตัวนักเตะเอง เรียกได้ว่าเป็นการตั้งใจอ่านหนังสือพิมพ์สองหน้าเต็มแบบตั้งใจเต็มที่ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นครั้งแรกของผมในรอบหลายสัปดาห์ทีเดียวเลย เพราะนอกเหนือไปจากหน้ากีฬาที่รายงานข่าวทั่วๆ ไปแล้ว นานๆ ครั้งจะมีคอลัมน์ที่เจาะลึกเรื่อง Inside แบบที่น่าสนใจมาให้อ่าน

 

Josue VS Mario Goetze

ถ้าพูดถึง Academy ของสโมสรฟุตบอลในยุโรป เรียกได้ว่าเกือบทุกสโมสรก็มีของตัวเองทั้งนั้น ที่จะขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คงหนีไม่พ้น La Masia ของเจ้าบุญทุ่มบาร์เซโลน่าในสเปน แหล่งปั้นนักเตะในสังกัดชั้นดีหลายต่อหลายคนมามากมาย แต่บทความนี้บอกว่าอันที่จริงแล้วชื่อของสโมสร โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เองก็มิได้ด้อยกว่าเลยในเรื่องของการปั้นนักเตะรุ่นเยาว์ขึ้นมารับใช้ทีมชุดใหญ่ รวมถึงทีมชาติเยอรมันรุ่นหลังๆ หลายคน เช่น Mario Gotze หรือ Mats Hummels ที่กลายเป็นเป้าหมายของทีมคู่ปรับอย่าง Bayern Munich มาคว้าตัวไปหรือ Marco Reus และล่าสุดนักเตะในทีมอย่าง Christian Pulisic ที่อายุยังไม่ถึง 18 ดีก็เริ่มเป็นที่จับตาของหลายๆ คน

ย้อนหลังกลับไปเมื่อสิบสองปีก่อน ในปี 2005 สโมสรดอร์ทมุนด์ตกที่นั่งลำบากเนื่องด้วยหนี้สินมากมายและเกือบล้มละลายถ้าหากไม่ได้นักลงทุนลงเงินเพิ่มและปรับโครงสร้างหนี้สโมสร (จากรายงานบอกว่าหนึ่งในผู้ให้กู้ยืมกว่า 2 ล้านยูโรก็คือ บาเยิร์นมิวนิค คู่ปรับของดอร์ทมุนด์นั่นเอง) เนื่องด้วยความทะเยอทะยานที่จะแข่งกับสโมสรรุ่นใหญ่อย่างบาเยิร์น ภายหลังสภาพเกือบล้มละลาย สโมสรก็เปลี่ยนแนวทางใหม่ เลิกที่จะละเลงเงินกับการซื้อตัวนักเตะแพงๆ มาเสริมทีมและหันมาพัฒนาและ Scout นักเตะรุ่นใหม่ๆ แทนเช่น Kagawa จากญี่ปุ่นและ Aubameyang จากกาบอง

Shinji Kagawa
Pierre-Emerick Aubameyang

ปัจจุบัน ดอร์ทมุนด์ กลายเป็นแหล่งที่บรรดาสโมสรชั้นนำต่างๆ ในยุโรปจับตาดูว่าจะมีโอกาสซื้อตัวนักเตะที่ดอร์ทมุนด์พัฒนาขึ้นมาเมื่อไหร่ดี ทั้ง Gundogan ที่ไป Manchester City ทั้ง Mkhitaryan ที่ไป Manchester United ทั้ง Dembele ที่ไป Barcelona ทุกคนล้วนแล้วแต่ได้ดีจากการปั้นของดอร์ทมุนด์ทั้งนั้น ซึ่งประธานสโมสรเองก็ยอมรับว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะสู้กับค่าเหนื่อยและค่าตัวที่สโมสรยักษ์ใหญ่เหล่านี้เสนอให้ และสโมสรเองมิได้มีเจตนาที่จะเป็นแหล่งเพราะพันธุ์นักเตะเพื่อขายแต่อย่างใด แต่เนื่องด้วยความเป็นจริงทางการพาณิชย์ต่างหากที่ทำให้ทีมเหล่านี้ได้เม็ดเงินที่มากกว่าทั้งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดและสปอนเซอร์ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะบอกว่ากลยุทธ์เช่นนี้จะทำให้ดอร์ทมุนด์ไม่สามารถเก็บนักเตะชั้นเยี่ยมเอาไว้ในทีมได้เลย แต่ประธานสโมสรเองนั้นก็ออกปากว่านี่คือธรรมชาติของทีมที่เราทุกคนต้องยอมรับ เราไม่มีทางใหญ่สู้บาเยิร์นฯ เป้าหมายของเราอาจไม่ใช่การล้มบาเยิร์นฯ ลงจากบัลลังค์ แต่คือการทำให้ดีที่สุดในสิ่งที่เราเป็น ตั้งเป้าหมายเองและบรรลุให้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 เสมอไป ซึ่งแนวคิดนี้ก็มีส่วนหนึ่งที่ดึงดูดนักเตะใหม่ๆ มาร่วมทีมเพราะมองว่าเป็นเหมือน Philosophy ของสโมสรสมัยใหม่ที่น่ามาร่วมด้วย เพราะสโมสรที่สนับสนุนและปั้นนักเตะหน้าใหม่ๆ น่าจะเหมาะกับพวกเค้ามากกว่าในการค่อยๆ ปั้นตัวเองจากดินไปเป็นดาว โดยไม่ต้องเผชิญกับภาวะกดดันมากนัก อีกทั้งโอกาสได้แสดงฝีมือน่าจะมากกว่าสโมสรที่เต็มไปด้วยซุปเปอร์สตาร์ด้วย

ล่าสุดนักเตะวัย 17 ปีจากสวีเดน Alexander Isak ก็ตัดสินใจเลือกที่จะมาดอร์ทมุนด์แทนที่จะไป Real Madrid โดยให้เหตุผลว่าเป็นสโมสรที่น่าจะทำให้เค้าเติบโตได้ดีกว่า

Alexander Isak

ในไทยเองก็มีแหล่งบ่มเพาะเช่นนี้มากมาย ทั้งในระดับโรงเรียนและสโมสรที่เกิดขึ้นภายหลังการเฟื่องฟูของฟุตบอลไทย อย่างที่ผมเคยเขียนถึงไปเมื่อหลายปีก่อน โรงเรียนอย่างอัสสัมชัญ ธนบุรี ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาบันและสโมสรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเตะรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาประดับวงการฟุตบอลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์, ธีรศิลป์ แดงดา, ธีราธร บุญมาทัน ฯลฯ อีกหลายคนที่ผมจำไม่หมด ผมเชื่อว่าใครก็ตามที่ได้สัมผัสพูดคุยกับเสี่ยโต คุณณรงค์วิทย์ อุ่นแสงจันทร์ ศิษย์เก่าที่คลุกคลีอยู่กับการปั้นทีมฟุตบอลจากโรงเรียนนี้ให้พัฒนาและก้าวหน้ามาอย่างรวดเร็ว และคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้อยู่เบื้องหลังอีกท่านหนึ่งก็พอจะทราบดีถึงความมุ่งมั่นของการช่วยสร้างเด็กรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาประดับวงการของสถาบันนี้

Credit : ACT YOUTH Invitational 2017

อย่างไรก็ตาม แนวทางการปั้นเด็กผ่านกระบวนการของสถาบันก็ไม่ใช่ว่าเป็นแหล่งเดียวที่จะผลิตนักเตะดีๆ ขึ้นมาได้ รายที่มาแปลกกว่าคนอื่นก็คือ เมสซี่เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เรียกได้ว่าไม่ได้อยู่ในสารบบของสถาบันการศึกษาที่เป็นสุดยอดของโรงเรียนฟุตบอลแต่อย่างใด แต่เป็นการปลุกปั้นด้วยฝีมือของบิดาของเค้าเองในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะเยาวชนของเจ

ลองย้อนหลังกลับไปอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณพ่อก้องภพ สรงกระสินธ์เมื่อหลายปีก่อนสิครับ แล้วจะเข้าใจว่า การปลุกปั้น โดยพ่อของตัวเองไม่ได้มีแค่นิยายหรือการ์ตูนเพ้อฝันเท่านั้น แต่เป็นความจริงที่ผมเองยังยากที่จะเชื่อว่ามีคนทำแบบนี้ได้ ด้วยความบ้าฟุตบอลของคุณพ่อก้องภพ บวกกับอะไรบางอย่างในตัวของชนาธิปที่บ่งบอกว่าฟุตบอลคือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของเค้าที่แสดงออกผ่านความมุ่งมั่นตั้งแต่เล็กๆ เมื่อรวมกับกระบวนการ ครูพัก ลักจำ ของคุณพ่อในการเอาเทคนิคต่างๆ จากเซียนบอลและโค้ชหลายๆ คนมาสอน ความละเอียดในหลายๆ เรื่องที่ทั้งสองพ่อลูกและครอบครัวเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ทั้งดุ ทั้งบ่น ทั้งให้กำลังใจกันและกัน สร้างเป็นความผูกพันธ์ที่ลึกซึ้งผ่านลูกกลมๆ ที่ผมคิดว่ายากที่จะสร้างให้เกิดขึ้นได้ในโลกของความเป็นจริง แต่ก็เกิดขึ้นแล้วอย่างที่เราๆ เห็นกัน

ชนาธิป สรงกระสินทร์

อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งเล่มนั้นจบ ผมยังคิดในใจเลยครับว่า แหมถ้าเกิดเค้ารู้จักชนาธิป และได้มีโอกาสสัมภาษณ์เจ้าตัวแล้วล่ะก็ อีก 2 หน้าหนังสือพิมพ์ที่จะยกให้เรื่องราวของการปลุกปั้นนักฟุตบอลระดับเทพของประเทศไทยในรูปแบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนอาจจะไม่พอนะครับ

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  19  มกราคม 2561

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก

 

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ