นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว
ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ เชลซี แต่หมายถึง เฟสบุ๊ค กูเกิ้ล อเมซอน และ ไมโครซอฟ์ท โดยมีลูกค้าที่รู้จักปรับใช้แพลทฟอร์มนี้กับผลประโยชน์ตัวเอง
นับตั้งแต่โควิดสตั๊นทั้งโลกจนหยุดนิ่ง
ช่วงสองเดือนนี้ ถ้าตามโลกชุมชนออนไลน์ที่บ้าสะสมเสื้อกีฬา เราจะเห็นว่ามีคนมากมายลุกขึ้นมา “ขายเสื้อสะสม” เนื่องจากพิษเศรษฐกิจ และวิธีการขายที่ผมไปตามดู ก็ครีเอทไปไกลกว่า “สองยุคแรก” จะเรียกว่าเป็น “คลื่นยุคที่สาม” ก็น่าจะได้
เท้าความก่อนว่า ราวๆ 30 ปีก่อนหน้านี้ วิธีการซื้อขายเสื้อบอล ก็คือไปดูตามตลาดเก่า ที่พ่อค้าจะเทกระสอบเสื้อเก่า ที่ขนลงเรือมาจากต่างประเทศ เททีเป็นพันๆ ตัว ก็แย่งกันเอา ที่เหลือก็เอาไปวางขายในร้าน ในตลาด ในแผง…
ยุคต่อมาราวๆ สัก 10 ก่อนหน้านี้ การขายเสื้อ “ย้าย” ไปอยู่ในโลกออนไลน์ แต่เป็นขายแบบ แปะ โฟส วาง เอาไว้ พร้อมทิ้งเบอร์หรือติดต่อตรงๆ …กระทั่งปีนี้ วิธีการขายเสื้อบอล กระโดดไปอีกขั้น ด้วยการ live สดๆ เชิญชวนด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น และไม่ตื่นเต้น… วิธีการขายก็ตั้งกล้องกันเลย บอกข้อมูลพื้นฐานของเสื้อ ราคาก็ให้คนดู live แข่งกันบลัฟเอาเอง
เป็นเทรนด์ที่มาแรงตอนนี้ แต่ไม่รู้จะแรงจริง ไปอีกนานมั้ย ?
วัฒนธรรม “เสื้อบอล” ที่เราเรียกกันว่า jersey shirt kit มาจากไหน
ต้องย้อนไปว่า ในสายศิลปะการละครนั้น นักวิชาการบางคนแบ่งยุคสมัยใหม่ที่ปี 1878 ไม่เหมือนสายภาพยนตร์ที่หลายคนปักป้ายไว้ว่า หนังที่เกิดหลังสงครามโลก(ทศวรรษที่ 40) คือหนังสมัยใหม่หมด (บางคนแบ่งแค่ว่า หนังยุคเก่าคือหนังเงียบ หนังยุคใหม่คือหนังเสียง)
แต่ “เสื้อบอล” ไม่ได้มีห้วงยามกระชับ ชัดเจนแบบนั้น มันมีช่วงเปลี่ยนผ่าน มีรอยต่อผสมผสานจนเข้ารูป ในเวลานั้น “เสื้อบอล” ยังไม่ได้มี “แบบแผน” ที่หลากหลายในการเล่นเหมือนเกมฟุตบอล
ขณะที่อังกฤษกลางศตวรรษที่ 19 เคยเล่นระบบ 1-2-7 (กองหลังตัวเดียว) หรือสก๊อตแลนด์ คู่แข่งเคยใช้ระบบ 2-2-6 มาต่อสู้ เมื่อลองศึกษาดูจะพบว่า ทั้งก่อนหน้าและคล้อยหลัง มีรูปแบบการเล่นฟุตบอลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อุรุกวัยในบอลโลก 1930 กับระบบ 2-3-5 (ที่เรียกว่าปิรามิด)
หรือ 3-3-4 ที่เรียกย่อๆ ว่า WW ของฮังการียุคเกรียงไกรในทศวรรษที่ 50 แม้แต่ระบบ 4-2-4 ที่บราซิลเล่นอยู่พักใหญ่ ก็แอพพลายมาจากระบบนี้ของฮังการี
ในยุคแรกเริ่มของลูกหนังนั้น ผู้คนหรือแฟนบอล กระทั่งผู้จัดการทีมอาจจะถกเถียงเรื่องรูปแบบการเล่น โค้ชอาจจะคิดค้นแทคติกแตกต่างกันในเกม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกทีมไม่ผิดแผกกันก็คือ “เสื้อบอลที่ใส่ลงเล่น”
ถ้าเราจะนับว่า ช่วงยุค 1840’s คือต้นทางแรกๆ ของการก่อเนิดฟุตบอล อันมีที่มาจากการคิดค้นกติกาของผู้เล่นในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นี่ก็เกือบๆ 170 ปีเข้าไปแล้ว ซึ่งเป็นอายุที่ถือได้ว่า ฟุตบอลคือกีฬาที่ “เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง” ของมนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือ เสื้อบอลในยุคแรกนั้น มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เสื้อบอลในปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นยุค 20 นั้น ทำหน้าที่ในเชิง “เครื่องแต่งกาย” ไม่เหมือนแฟชั่นและอัตลักษณ์แบบสมัยนี้
จี.โอ. สมิธ ผู้เล่นของทีมมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดในปี 1892 เคยบอกว่า เสื้อบอลในสมัยนั้น ไม่คำนึงถึงเนื้อผ้าหรือความสวยงามใดๆ เป็นเพียงอะไรก็ได้ที่มาห่อหุ้มร่างกายนักบอล
คำพูดของ สมิธ เห็นจะจริง เพราะเกือบๆ 70-80 ปีแรกของวงการลูกหนังนั้น รูปแบบหรือฟอร์มเกี่ยวกับเสื้อนักบอลนั้น เกือบจะออกมาแบบเดียวกัน
เริ่มจากใช้เสื้อผ้า “อะไรก็ได้”
เช่นชุดทำงานประจำวัน ชุดแต่งกายเสื้อแขนยาว(พับแขน) กางเกงยาวเลยเข่า และรองเท้าบู๊ท ซึ่งมักเป็นรองเท้าหนังหนาๆ แข็งๆ พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ ชุดนักบอลหรือ kit นั้น (shirt คือ เสื้อบอล kit มักใช้กับชุดกีฬา รวมทั้งกางเกงและถุงเท้า ส่วน jersey มักถูกใช้อธิบายสิ่งที่เป็นดีเมลในเสื้อบอล เช่น ลายผ้า หรือรูปแบบ ฯลฯ)
ภาพที่เราเห็นใน dvd หนังฟุตบอลหรือหนังสือฟุตบอลเก่าๆ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว จึงมักเป็นภาพของเสื้อเชิ้ตหนาๆ ผ้าดิบๆ ที่มาพร้อมกางเกงทรงลุง จนเกิดคำถามว่า เตะบอลสะดวก teen ได้ยังไง
ขอโทษ บางคนมาถ่ายรูปประจำปี หรือรูปทีมโดยที่มืออีกข้างถือจอบ ซึ่งบ่งบอกถึงอาชีพที่ทำได้ดี
ในยุคแรกเริ่มนี้ มีเรื่องที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบอีกว่า จริงๆ แล้ว เสื้อบอลยังไม่ใช่สัญลักษณ์ในการบ่งบอกพวก หรือแบ่งแยกทีม
นิตยสาร the complete book of soccer และ true colour มีข้อมูลตรงกันว่า สิ่งที่ถูกนำมาใช้แบ่งทีม หรือสร้างความเข้าใจในการเล่นก่อนก็คือ หมวกแก๊ป (ใช่แล้ว คุณอ่านไม่ผิดหรอก)
ช่วงก่อร่างสร้างตัวในยุค 1850-1870 มีการใช้หมวกที่สวมใส่ เป็นการบอกถึงพวกเดียวกัน ริชาร์ด เคลย์ นักบอลคนหนึ่งของอังกฤษ พูดติดตลกว่า เวลาจะส่งบอล แทนที่จะดูที่เสื้อ ดูที่ใบหน้า ก็เงยไปมองที่หมวกแทน
การที่ฟุตบอลยุคแรก ไม่ได้คำนึงถึงชุดกีฬาอย่างที่ควรจะเป็นนั้น มีปัจจัยทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นก็คือ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และนักเล่นไม่มองเห็นความจำเป็นว่า ทำไมจะต้องลงทุนด้วยการตัดเสื้อผ้าชั้นดี เพื่อลงไปคลุกฝุ่นในสนาม
ทีมเอฟเวอร์ตันยุคแรกในปี 1878 จึงเคยใส่เสื้อทหาร เป็นผ้าดิบลงไปแข่งบอล หรือนักบอลแมนยูฯ ลิเวอร์พูล จึงไม่แตกต่างอะไรจากนักบอลทีมแรกๆ อย่าง เชฟฟิล์ด ยูไนเต็ด กับ น็อตต์ เคาน์ตี้ ที่มีผ้าดิบๆ ที่สามารถเอาจากที่ไหนก็ได้ สวมเป็นเสื้อบอลลงไป
ถามว่า แล้วขณะที่เสื้อบอลยังเป็น “แขนยาวพับแขน” ทำไมกางเกงนักบอลถึงต้อง “ยาวเกินหัวเข่า” ด้วย
หลังจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษก่อตั้งหรือฟอร์มขึ้นมาได้ในปี 1863 กฎข้อหนึ่งที่มีออกมาใช้พักหนึ่งก็คือ ผู้เล่นจะต้องสวมกางเกงเลยหัวเข่า เหตุผลของมันไม่มีอะไรมาก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของนักบอลเวลาลื่นล้มหรือเสียบสกัด (อากาศหนาวทำให้ผู้เล่นเจ็บมากขึ้นไปอีก หากบาดเจ็บ)
ชุดที่บ่งบอกถึงยุคสมัยนี้ได้ดีก็คือ ชุดแข่งของเด็กหนุ่มในโรงเรียน harrow public school boy เมื่อปี 1870 หรือชุดของ มาร์ค วิแธม นักบอลของทีมเชฟฟิล์ด ยูไนเต็ด เอฟซี. ในช่วงเวลาเดียวกัน
ภาพรวมสรุปยุคแรกเริ่มของเสื้อบอล
เมื่อแรกเริ่มที่สมาคมฟุตบอลก่อร่างสร้างตัวในปลายปีค.ศ.1800 จนถึงต้นปีค.ศ.1900 นักกีฬาสวมใส่อะไรก็ตามที่ปะติดปะต่อผลิตง่ายๆในท้องถิ่นและราคาถูก ส่งตรงจากผู้จัดหาในแต่ละพื้นที่
ตอนนั้น “เอกลักษณ์ของทีม” ยังไม่ใช่ “ประเด็นสำคัญ” ในช่วงระยะแรกของวงการฟุตบอล บางครั้งผู้เล่นสวมใส่เพียงกางเกงขายาวน้ำหนักเบา (มักจะเหน็บในถุงเท้ายาวทำจากขนสัตว์) และเสื้อเชิ้ตธรรมดา อาศัยสีของ “หมวกแก๊ป” เป็นตัวกำหนดผู้เล่นของแต่ละทีมเพราะพวกเขาสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันอากาศหนาวและบาดแผลจากการเล่นที่ดุเดือด
ช่วงปลายยุค 1800’s นั้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือ คนงานจากหลายพื้นที่ในเมืองเดียวกัน มีการรวมตัวเล่นฟุตบอลเป็นกิจกรรมยามว่างหลังเลิกงาน และพัฒนากลายมาเป็นแนวคิดจัดตั้งทีมฟุตบอลขึ้น
เมื่อมีทีมที่มากขึ้น และเข้าสู่กระบวนการแข่งขันในระบบลีกในเวลาต่อมา วัฒนธรรมเสื้อบอลเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้
หมวกแก๊ปที่เคยเป็นสัญลักษณ์แบ่งทีมหายไป (และถูกใช้ในเวลาอันสั้น) แต่ที่สำคัญมากกว่าก็คือ ทุกทีมเริ่มหันมาสนใจในการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเอง
อย่างแรกคือ “สีเสื้อ” และอย่างที่สองคือ “เนื้อผ้า”
หลายทีมเริ่มจับจองสีเสื้อที่คิดว่าเก๋เท่มีเอกลักษณ์ให้จดจำได้ แต่ในระยะแรก สีเสื้อส่วนใหญ่เป็นสีพื้นๆ ดำขาวเทาน้ำตาลหรือสีอ่อนๆ
การเปลี่ยนแปลงในเวลานี้ กลับกลายเป็นการสร้างหรือหาสีให้เสื้อ ขณะที่เนื้อผ้า มีการปรับเปลี่ยนไปใช้ “ผ้าขนสัตว์” ซึ่งหาได้ง่ายในเวลานั้น (หลายคนมีอาชีพเกี่ยวกับทอผ้า หรือล่าสัตว์)
สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ จากผ้าแข่งที่ดิบแข็งกระด้าง ออกแนวๆ สากๆ ชุดแข่งก็กลายมาเป็นผ้าหนาๆ แบบ “ขนสัตว์” โครงสร้างของเสื้อมีลักษณะที่ใหญ่โคร่ง
ผู้เล่นบางคนของทีมเปรสตัน นอร์ทเอนด์ ซึ่งชนะเลิศในปี 1889 เคยบอกว่า มันไปได้ดีกับแนวคิดของกางเกงคลุมเข่า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ เนื่องเพราะเสื้อขนสัตว์ ก็คือ ชุดห่มคลุมที่ป้องกันความหนาวเหน็บเสียดทานของอากาศไปในตัว
การใช้ผ้าขนสัตว์หรือ wool jersey นั้น มีความนิยมอย่างแพร่หลาย พวกเขาคิดว่ามันคือปรากฏการณ์ใหม่ของชุดแข่ง
…แล้วในปีหนึ่ง เรื่องตลกน็อคคนอังกฤษจนหัวเราะไม่ออกทั้งประเทศก็มาถึง เขาเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทัศนคติทีมชาติอังกฤษ และแฟนบอลจนถึงวันนี้
วันหนึ่งในปีค.ศ.1953 ทีมชาติอังกฤษมีคิวเตะกระชับมิตรกับทีมชาติฮังกาเรียน เมื่ออาคันตุกะมาถึงที่สนามเวมบลีย์ พวกเขาสวมเสื้อเชิ้ต “เข้ารูป” “น้ำหนักเบา” และ “กางเกงขาสั้นกว่าปกติ” ที่มาพร้อมกับ “บูตแรงเสียดทานต่ำ”
โดยขนบธรรมเนียมนั้น ทีมอังกฤษมีความรู้สึกว่า เสื้อบอลหรือชุดแข่งนั้น เสื้อขนสัตว์หรือเสื้อแบบเก่าผ้าดิบดีกว่า “เสื้ออะไรก็ไม่รู้” ของพวกฮังกาเรียน แน่นอนล่ะ คนดูหรือกองเชียร์เจ้าถิ่นหัวเราะเยาะทีมเยือนเมื่อพวกเขาวิ่งลงสนาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน
ทว่า ผลการแข่งขันที่ออกมา ปรากฏว่าเจ้าบ้านพ่ายยับ !
เมื่อเริ่มแรกผู้ชมเจ้าถิ่นหัวเราะเยาะเครื่องแต่งกายของพวกเขา ที่แสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสองทีม และเมื่อผลการแข่งขันปรากฏว่าอังกฤษพ่ายแพ้ย่อยยับต่อทีมเยือน
ความพ่ายแพ้นัดนั้น สองวันต่อมา สื่อมวลชนเจ้าบ้าน มีการนำไปวิเคาะห์ และมองว่ามันคือปัจจัยสำคัญในชัยชนะของพวกฮังกาเรียน
เท่านั้นล่ะ หลายทีมลุกขึ้นมาปฏิวัติสู่การเปลี่ยนแปลงแบบสุดขีด
แฟชั่นเสื้อบอลของอังกฤษ จึงมีการบันทึกว่า รับวัฒนธรรมมาจากทีมในยุโรป ซึ่งหลังจากเกมการแข่งขันนั้น ชุดกีฬาเก่าของฝ่ายอังกฤษถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และไม่นานนักสมาชิกในทีมจึงสวมเสื้อที่คล้ายคลึงกับทีมอื่นๆ ในยุโรปโดยมีรูปแบบมาจากทีมฮังกาเรียน
และแน่นอนว่า มันมีความแตกต่างตรงที่ทีมชาติอังกฤษ เลือกที่จะสวมชุด “สีขาว”
บางคนวิเคราะห์ถึงการที่อังกฤษเลือกสวมชุดสีขาวว่า เกี่ยวพันกับรากทางวัฒนธรรม บางคนวิจารณ์ว่า มันเป็นสีของฮีโร่ที่บริสุทธิ์
แต่ จอห์ เดฟลิน นักวิเคราะห์วัฒนธรรมสี ชี้ว่า สีขาวคือสีของคุณธรรม(ethic) ซึ่งหมายความว่า คนที่สวมเสื้อสีนี้คือ คือฮีโร่ที่มีคุณธรรม
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า ทุกทีมที่ใส่สีขาว จะคิดแบบนี้ เพราะอย่างน้อย ลีดส์ ยูไนเต็ด ยุครุ่งเรืองของ ดอน เรวี่ ในทศวรรษที่ 70’s นั้น รับอิทธิพลสีเสื้อมาจากทีมรีล มาดริด ซึ่งเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จในตอนนั้น ส่วนมาดริดน่ะ ก็ไปเอาสีขาวมาจากสโมสร “โครินเธียนส” ของบราซิลอีกที
แล้ววิธีการขายเสื้อยุคนั้น ก็ต้องไปจองที่สโมสร ซึ่งเน้นที่เสื้อเด็กๆ มากกว่าผู้ใหญ่ และขายในวงจำกัด
ซึ่งคงไม่มีใครเชื่อถ้าร้อยกว่าปีที่แล้ว เกิดมีใครไปบอกว่า อีกหนึ่งศตวรรษต่อมา การขายเสื้อบอล จะมาถึงวิธีตะโกนเอาสดๆ ทางเฟสบุ๊ค !
ภาพ featured จาก Football Shirt Culture