ชุดแข่ง

เสื้อกีฬาฟุตบอล ช่องทางสร้างเม็ดเงินมหาศาลทั้งสโมสรและสปอนเซอร์

สำหรับบรรดาทีมฟุตบอลระดับโลกนั้นต้องเรียกว่า ชุดแข่ง เป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดรายได้สูงมากที่สุดอย่างหนึ่งในรายงานประจำปีเลยทีเดียว ซึ่งรายได้นั้นก็มาจาก 2 ทาง อย่างแรกก็คือการขายพื้นที่ให้กับสปอนเซอร์เพื่อโฆษณาแบรนด์อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อย่างที่สองก็คือดีลที่ทำกับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาที่แต่ละทีมใช้อย่างอาดิดาสหรือไนกี้เป็นต้น และจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์จะเห็นได้ว่ายิ่งนับวันผ่านไปปริมาณเม็ดเงินที่หมุนเวียนอยู่ในฟุตบอลระดับสโมสรโลกที่เกิดจากชุดแข่งนี่จะอู้ฟู่ขึ้นไปเรื่อยๆ

Rakuten สปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายใหม่ของสโมสร Barcelona – Credit: 90min.com

 

ยกตัวอย่างสโมสรระดับโลกอย่าง Barcelona ที่เรียกได้ว่าแต่ละดีลที่ได้ในเชิงพาณิชย์เป็นดีลระดับที่เรียกเสียงฮือฮาได้ตลอดเวลา ล่าสุดตัวเลข 2,200 ล้านบาทต่อปี คือมูลค่าเงินที่สโมสร Barcelona จะได้รับจากสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายใหม่ที่เป็นบริษัท e-commerce ของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Rakuten ถือเป็นสถิติใหม่ของดีลสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อของสโมสรที่เอาชนะดีลระหว่าง Chevrolet และ Manchester United ได้อย่างขาดลอย โดยต้องบอกว่างานนี้ต้องขอขอบคุณกองหลังตัวเก๋าของทีมอย่าง Gerard Pique และศรีภริยานักร้อง Shakira ที่เป็นคนนำดีลนี้มาสู่สโมสรจากการรู้จักกันเป็นส่วนตัวกับนาย Hiroshi Mikitani CEO ของบริษัทนี้ ซึ่งทำให้ Barcelona สามารถปิดดีลกับนักเตะระดับเทพอย่าง Messi ได้ในที่สุดด้วยเม็ดเงินที่การันตีจากดีลกับ Rakuten นี้ด้วย

 

jersey-deal_sansiri-blog-1
Intel สปอนเซอร์ด้านในของเสื้อชุดแข่งของสโมสร Barcelona ที่มากับสโลแกน “intel inside” – Credit: newsroom.intel.com
jersey-deal_sansiri-blog-2
Credit: newsroom.intel.com

 

ถ้าผู้อ่านติดตามข่าวของสโมสรนี้อย่างต่อเนื่องจะจำได้ว่าเมื่อปี 2013 สโมสรนี้ก็ได้ดีลที่นับว่าเป็น marketing gimmick ในปริมาณเงินที่สูงถึงกว่า 700 ล้านบาทในระยะเวลา 4 ปีด้วยการให้พื้นที่ด้านในของเสื้อชุดแข่งกับบริษัทผลิต chip ของสหรัฐฯ อย่าง intel โดยทางสปอนเซอร์หวังว่าเมื่อดาราของทีมอย่าง Neymar, Messi, หรือ Suarez ทำประตูได้จะยกเสื้อขึ้นเพื่อโชว์โลโก้ของบริษัทนี้เพื่อให้เข้ากับสโลแกนที่ว่า “intel inside” ซึ่งถ้าหารออกมาแล้วเป็นเม็ดเงินที่มากกว่า Leicester City ได้จากสปอนเซอร์หลักบนหน้าอกเสื้อ King Power ในฤดูกาลที่ผ่านมาเสียอีก มหัศจรรย์ไหมล่ะครับ

ดีลในเรื่องของสปอนเซอร์บนหน้าอกยังนับว่าจิ๊บจ๊อยถ้าเทียบกับดีลที่แต่ละสโมสรทำกับแบรนด์ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬา เพราะสำหรับสโมสรระดับใหญ่ของโลกที่มีแฟนบอลเป็นล้านๆ คนทั่วโลก แบรนด์อย่างไนกี้ หรือ อาดิดาส ไม่รังเกียจหรอกครับที่จะผูกมัดด้วยจำนวนเงินมหาศาลเพราะก่อให้เกิดรายได้โดยตรงจากยอดขายเสื้อของทีมนั้นๆ

 

jersey-deal_sansiri-blog-3
Barcelona จับมือกับ Nike – Credit: news.nike.com
jersey-deal_sansiri-blog-5
Manchester United จับมือกับ Adidas – Credit: adidas.com

 

ชุดแข่ง ลองดูดีลใหม่ระยะเวลา 10 ปีของ Barcelona กับ Nike ที่จะเริ่มในปี 2018 และไปจบในปี 2028 สิครับ ล่าสุดข่าวบอกว่าจับมือกันด้วยจำนวนเงินที่กว่า 4,300 ล้านบาทต่อปี ใช่ครับ ต่อปี นั่นหมายถึง Barcelona จะได้เงินกว่า 43,000 ล้านบาทในสิบปีข้างหน้านี้แบบไม่ต้องทำอะไรเลยก็ยังได้ ทำลายสถิติ 3,225 ล้านต่อปีของ Manchester United ที่ทำกับ Adidas เป็นเวลา 10 ปีเมื่อฤดูกาลที่แล้วกระจุยกระจายไปเลย อันดับสามตอนนี้ได้แก่ Chelsea กับไนกี้ที่จะเริ่มในปี 2017 และยาวไปอีก 15 ปีด้วยมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านต่อปี ตามมาด้วย Bayern Munich และ Real Madrid ในอันดับสี่และห้า

ถ้าจะถามว่าคุ้มไหมกับการลงเงินแบบนี้ ก็ต้องลองมาดูกันง่ายๆ ที่จำนวนเสื้อของแต่ละทีมที่ขายได้ในแต่ละปีก็แล้วกันครับ รายงานล่าสุดของ Barcelona เค้าบอกว่าขายเสื้อไปได้ในปีนี้ทั่วโลกทั้งสิ้นประมาณ 1,980,000 ตัว เอามาคูณกับราคาเสื้อที่วางขายอยู่ในหน้าร้าน ถ้าจำไม่ผิดราคาเมืองไทยน่าจะประมาณ 3,500 ศิริรวมเป็นเงินที่ไนกี้ได้จากการขายอยู่ที่ 6,930 ล้านบาทหักลบแล้วเหลือเงินอยู่ที่ประมาณ 2,630 ล้านบาท โอเคครับถ้าหักต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจจะไม่กำไรสุทธิแต่ก็ถือว่าทำได้ไม่เลวกับการขายเฉพาะเสื้อแข่งอย่างเดียว นี่ยังไม่นับผลิตภัณฑ์ merchandising อื่นๆ อย่างเสื้อยืด กางเกง กระเป๋า ผ้าพันคอ ฯลฯ ผมว่ายังไงก็คุ้ม

 

jersey-deal_sansiri-blog-6
Pogba และ Ibrahimovich ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสโมสร Manchester United ทำให้ยอดขายเสื้อของ Adidas เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก – Credit: mirror.co.uk

 

แต่สำหรับในปีนี้ทีมสโมสรที่ขายเสื้อได้มากที่สุดตกเป็นของ Manchester United ครับ ที่เค้าบอกว่าขายไปได้แล้วทั้งสิ้นกว่า 2,850,000 ตัว ขยับเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงกว่า 40% ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการซื้อตัว Pogba และ Ibrahimovich เข้ามาเสริม เพราะเค้าบอกว่าเบอร์ที่ขายดีที่สุด 2 อันดับแรกคือของสองคนนี้ เช่นกันถ้าเอาจำนวนที่ขายได้คูณกับมูลค่าเสื้อที่ราคาประมาณ 3,500 บาทเท่ากัน เท่ากับว่าอาดิดาสทำรายได้จากเสื้อแข่ง Manchester United เป็นเงินถึง 9,975 ล้านบาท เท่ากับว่ามีส่วนต่างถึง 6,750 ล้าน คิดยังไงก็กำไรครับ นับว่าเป็นดีลที่น่าจะสร้างความเปรมปรีดิ์ให้กับอาดิดาสอย่างมากมายในปีนี้หลังจากที่ประสบความล้มเหลวกับแบรนด์ลูกอย่าง Reebok และ Taylor Made

ทีนี้เราลองมาดูกันครับว่าสำหรับทีมชาตินั้น แต่ละสมาคมฟุตบอลสามารถสร้างรายได้จากดีลกับแต่ละ  แบรนด์ที่เข้าไปสปอนเซอร์ชุดแข่งกันเท่าไหร่บ้าง

สำหรับอันดับหนึ่งนั้นเป็นของทีมชาติเยอรมันนีที่ได้อาดิดาสเป็นผู้สนับสนุนมากว่า 50 ปีแล้ว โดยดีลใหม่นั้นอาดิดาสจะจ่ายให้กับสมาคมฟุตบอลเยอรมันที่ประมาณ 1,850 ล้านบาทต่อปีจนถึงปี 2022 ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ ในขณะที่อันดับสองเป็นของทีมฝรั่งเศสที่ได้จากไนกี้ (2011-2018) ปีละเกือบๆ 1,600 ล้านบาท อันดับที่สามเป็นของทีมสเปนที่ได้จากอาดิดาสประมาณเกือบปีละ 1,500 ล้านบาท (2015-2026) ในขณะที่ทีมสุดฮิตของคนไทยอย่างทีมชาติอังกฤษได้จากไนกี้ประมาณปีละ 1,275 ล้านบาท แต่เชื่อว่าไนกี้จะไม่ต่อสัญญาใหม่หลังหมดวาระในปี 2018 อันเนื่องมาจากความผิดหวังและผลงานที่ย่ำแย่มาโดยตลอดในหลายๆ ทัวร์นาเมนท์ใหญ่ๆ ของทีมอังกฤษนี้

ใน 10 อันดับแรกนั้นมีทีมชาติที่ไม่ใช่ทีมจากยุโรปติดมา 3 ทีมคือบราซิลในอันดับ 5 จีนในอันดับ 7 และสหรัฐฯ ในอันดับ 9 ซึ่งก็น่าแปลกใจนะครับที่ทีมอย่างอาร์เจนติน่าไม่ติดอันดับกับเค้าด้วยแม้จะมี Messi เป็นดาราดังในทีม ในขณะที่เสื้อของ Barcelona นั้นสามารถใช้เค้าเป็นแม่เหล็กดึงดูดสปอนเซอร์ได้มากมาย ผมว่าสมาคมฟุตบอลอาร์เจนติน่าคงหวังว่าสักวันทีมชาติอาร์เจนติน่าภายใต้การเปลี่ยนใจกลับมาเล่นใหม่ของ Messi จะได้แชมป์ใดแชมป์หนึ่งสักวัน จะได้ถูกหวยขายเสื้อได้ดิบได้ดีสปอนเซอร์อยากจ่ายเงินให้เยอะๆ บ้างนะครับ นับเป็นความกดดันอีกอันที่ Messi คงไม่อยากจะแบกเป็นภาระแน่ๆ เลยครับ

ข้อมูลจาก: คอลัมน์ “เศรษฐา & กีฬา” ชุดแข่ง ขุมทองของสปอนเซอร์และทีมฟุตบอล โดยคุณเศรษฐา ทวีสิน (สยาม สปอร์ต รายวัน) วันที่ 25พฤศจิกายน 2559

ถ้าคุณสนใจบทความกีฬา: 

Donald Trump!! คลิก
คุ้มไหมกับค่าตัวที่แสนแพง
 คลิก

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ