จดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ
ประยุทธ์ ในวิกฤติ COVID

วิกฤติที่เกิดจากเชื้อ COVID-19 ครั้งนี้นับเป็นวิกฤติสังคมและเศรษฐกิจที่ผมคิดว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาตร์โลก เป็นความท้าทายอันหนักหน่วงของท่านนายกรัฐมนตรีและทีมงานซึ่งมองผ่านเลนส์คนทำธุรกิจ ผมเห็นด้วยกับแนวทางการรับมือในช่วงที่ผ่านมา โดยสามารถตัดสินใจได้ค่อนข้างเฉียบขาดและดำเนินมาตรการที่ แรง และ เร็ว เปรียบเหมือนฉีดยารักษาโรคให้แรงไว้ก่อน จัดการอาการป่วยหนักให้หาย จะมีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ เราค่อยมารักษากันภายหลัง

พอได้เห็นมาตรการเหล่านี้เริ่มส่งผลในทางที่ดี ผมจึงตั้งใจเขียนจดหมายเปิดผนึกนี้ถึงท่านนายกฯ เพื่อนำเสนอวัคซีนสูตรที่สองที่จะช่วยเสริมความเร็วและความแรง เพื่อกระตุ้นระบบเศรษกิจอันยวบยาบในระยะสั้นและกลางดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. การลดภาษี มาตรการที่จะใส่เงินเข้ามือประชาชนตรงที่สุด คือการลดภาษีบุคคลธรรมดา ที่นอกจากจะเพิ่มกำลังซื้อแล้ว ยังเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำงานมากขึ้น เป็นการเพิ่ม productivity อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีเงินก็มีการจับจ่ายใช้สอยส่งผล multiplier effect ให้เกิดการบริโภค การผลิต การจ้างงาน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องลดภาษีนี้รัฐบาลเคยพูดไว้ตอนหาเสียง ถ้ายังอยู่ระหว่างการพิจารณาระบบภาษีทั้งระบบที่จะทำให้มีฐานภาษีที่กว้างและเป็นธรรมมากขึ้น ควรต้องเร่งให้เร็ว อย่ารอช้า

2. ภาคการเกษตร ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและนับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อประเทศ ถ้ากลุ่มคนรากหญ้าที่เป็นสันหลังของเศรษฐกิจเหล่านี้อยู่ไม่ได้ เราทุกคนก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นควรมีมาตรการช่วยประกันราคาพืชผลให้เกษตรกร โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ที่มีผลผลิตสูงสุด 5 อันดับ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลต้องรับภาระตรงนี้ไปก่อนอย่างน้อย 2 ปี ยกตัวอย่างมันสำปะหลังที่ตลาดกำลังชะงัก ราคาหัวมันกิโลละ 1.7 บาท เพิ่มให้เท่ากับปีสองปีก่อนที่กิโลละเกิน 2 บาทเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตรแทนที่จะรอเงินช่วยเหลืออย่างเดียว

3. การท่องเที่ยว หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ควรจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ควรต้องประสานกันให้ดี ทันทีที่ทางสาธารณสุขส่งสัญญาณว่าสามารถผ่อนคลายได้ อย่างแรกที่ต้องทำเลยก็คือต้องเพิ่มการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ และขยายเวลาให้สามารถลดหย่อนต่อเนื่องไป 3 ปี ไม่ใช่แค่เป็นช่วงสั้นๆ ตามเทศกาลเท่านั้น ทำแบบนี้ภาคธุรกิจก็จะสามารถวางแผนการปรับตัวได้อย่างมั่นใจตามโรดแม็ปที่รัฐบาลบอกเอาไว้

4. จากบทบาทในการจัดการ COVID ในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขไทยค่อนข้างมีประสิทธิภาพที่ดี และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจและดึงนักท่องเที่ยวกลับมา อย่างตลาดนักท่องเที่ยวที่สำคัญๆ อย่าง จีน หรือ อินเดีย เราต้องเร่งพิจารณามาตรการยกเว้นการขอ visa เข้าประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลับมา อย่างไรเสีย มูลค่าทางเศรษฐกิจการจ้างงานที่จะเกิดขึ้น และ multiplier effect ที่จะตามมา ต้องมากกว่าประเด็นรายได้จากค่า visa fee ที่จะเสียไปแน่นอน ต้องมองให้ขาดและก้าวข้ามให้ได้

นำเสนอมาถึงตรงนี้จะไม่พูดถึงอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ก็คงไม่ได้ ซึ่งผมต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้ต้องการสร้างประเด็นเพื่อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจนี้แต่อย่างใด แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าอสังหาฯ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ (multiplier effect) ได้สูงมากอุตสาหกรรมหนึ่ง เนื่องจากเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อและจัดจ้างในหลายภาคส่วนตามมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ ดังนั้นมาตรการภาษีและดอกเบี้ยต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อขายอสังหาฯ รัฐบาลต้องมองให้ทะลุ ต้องให้แน่ใจว่าประโยชน์ของมาตรการเหล่านั้นได้ประโยชน์จริงกับผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นการซื้อ ซึ่งผมมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อจากด้านบนดังนี้

5. การพิจารณาลดหย่อนภาษีให้กับคนซื้อบ้านหลังแรกเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ให้ 2 แสนบาทในปีที่โอนกรรมสิทธิ์ปีเดียว ให้เพิ่มไปได้สูงสุด 1 – 3 ล้านบาทเป็นไปได้หรือไม่ เพราะจำนวนเงินสุทธิที่เข้ากระเป๋าของผู้บริโภคแท้ที่จริงแล้วขึ้นกับอัตราภาษีเงินได้ของเขาในปีนั้น ลดหย่อนรายจ่ายซื้อที่อยู่อาศัยสองแสนบาท จำนวนเงินที่เข้ากระเป๋าผู้บริโภคจริงๆ จะน้อยมาก เทียบเท่ากับสองแสนบาทคูณด้วยอัตราภาษี ยกตัวอย่างเช่น คนที่ซื้อบ้านเสียภาษีเงินได้อยู่ในอัตรา 10% จำนวนเงินที่เขาจะได้รับประโยชน์คือ 20,000 บาท (200,000 x 10%) ซึ่งน้อยมาก ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะจูงใจให้เกิดการซื้อได้

6. เพิ่มการลดหย่อนเงินประกันสินเชื่อบ้าน เพราะการประกันสินเชื่อบ้าน หรือ ชื่อเต็มๆ ว่า ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (Mortgage Reducing Term Assurance (MRTA)) เป็นการทำประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่มีจุดประสงค์อยู่ที่การประกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ โดยให้คุ้มครองสินเชื่อของผู้กู้ซึ่งในกรณีนี้ คือ สินเชื่อบ้าน ทำให้แม้ว่าจะเกิดเหตุต่อชีวิตผู้กู้ ก็ไม่กระทบต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน เพราะบริษัทรับประกันจะทำหน้าที่ผ่อนชำระหนี้แทนผู้กู้เอง โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการคุ้มครองและวงเงินประกันที่ผู้กู้เลือกทำประกันเอาไว้ ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น ลดปัญหาเรื่องซื้อ หรือโอนไม่ได้เพราะกู้ไม่ผ่านลง ช่วยผู้ซื้อให้มั่นใจได้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาจะไม่สูญเสียบ้านซึ่งเป็นหลักประกัน และช่วยผู้ให้กู้ให้ได้รับเงินคืนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รัฐน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ แต่ถ้าหากเป็นการลดหย่อนดอกเบี้ย ลดค่าธรรมเนียมการโอน หรือค่าธรรมเนียมการจดจำนอง เรื่องพวกนี้ไม่จำเป็น เพราะผู้ประกอบการได้เตรียมเอามาจัดเข้าไปเป็นโปรโมชั่นให้ลูกค้าอยู่แล้ว กลายเป็นว่ารัฐไปช่วยผู้ประกอบการให้ประหยัดงบส่งเสริมการขาย ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ

7. ยกเลิกมาตรการ LTV เพราะลำพังแค่การผ่อนคลายจะไม่พอ สถานการณ์ตลาดตอนนี้ไม่มีใครเก็งกำไรแล้วและคงไม่ใช่สภาวะที่อสังหาริมทรัพย์จะทำให้ฟองสบู่แตกได้อย่างที่กังวล ผมต้องเรียนว่า ผลกระทบของการที่จะสะกัดการเก็งกำไรหรืออุปสงค์เทียมเสียหาย ลามมาถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการซื้ออยู่เอง โดยเฉพาะคนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ตามความจำเป็นของสภาวะที่เปลี่ยนไป และที่สำคัญส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้างซึ่งเริ่มที่จะมีสัญญาณที่ไม่ดีก่อนที่จะเกิดวิกฤตินี้ด้วยซ้ำไป

8. มาตรการทั้งหมดที่พูดมานั้นต้องอาศัยมาตรการการเงินการคลังที่ผ่อนคลายแบบไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยมาต่อเนื่องจนบอกว่าเป็น historical low แต่สุดท้ายจะยังไม่พอสำหรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติขนาดนี้ เงินฝากของเศรษฐีที่ถูกเก็บอยู่ในธนาคารต้องนำกลับออกมาเพื่อหมุนเวียนในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และเช่นกัน multiplier effect ที่จะตามมา ต้องคิดว่าเป็นการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อวิกฤติจบไป ดังนั้น ผมหวังว่าจะได้เห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีกในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปเพื่อเป็นการช่วยธุรกิจทุกภาคส่วน และครัวเรือนที่เป็นหนี้อยู่ด้วย

9. เนื่องจากจะต้องมีการกู้เงินที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อรองรับมาตรการการคลัง และ พ.ร.ก 1 ล้านล้าน จึงอยากเห็นการ diversify เครื่องมือในการกู้เงินเพื่อให้ลดผลกระทบกับตลาดการเงินโดยต้องไม่มีการแย่งชิงสภาพคล่องกับทางเอกชน (crowding out) จนทำให้ต้นทุนของภาคเอกชนสูงขึ้นมากเกินไป ผมคิดว่าก็เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ออก product ทางการเงินใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยออกหรือ อาจจะไม่ได้ออกมานานแล้ว ผมมองว่ามี พันธบัตร 2 รูปแบบที่น่าสนใจ

พันธบัตรรูปแบบแรกคือ Green/ Social / Sustainability Bond อยากเห็นการออก Green หรือ Social Bond ของทางรัฐบาลซึ่งจะเป็นการออกครั้งแรก เพื่อนำเงินไปลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และโครงการทางสังคมที่จะทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกรอบ Sustainable Development Goals (SDGs) ของสหประชาชาติที่ทางรัฐบาลได้ให้พันธสัญญาไว้ นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างความตื่นตัวให้ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น นอกจากจะได้เงินกู้ครบแล้วยังเป็นการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริงครับ

พันธบัตรรูปแบบที่สองคือ USD Bond การที่ไประดมทุนจากตลาดทุนต่างประเทศจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแย่งชิงสภาพคล่องของภาคเอกชน ในปัจจุบัน มีหลายๆ ประเทศไปออก USD Bond แล้วในต้นทุนที่ต่ำและสามารถ lock in ได้ยาวถึง 50 ปี บางประเทศออกไปเป็นร้อยปีด้วยซ้ำ ผมเชื่อว่าถ้าประเทศไทยไปออกจะสามารถได้ต้นทุนที่ดีเนื่องจากเรามีสถานะทางการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ การไปออก USD Bond ก็เปรียบเหมือนไปทำการตลาดให้ประเทศ จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะไปสื่อสารเกี่ยวกับแง่ดีของประเทศเราในด้านต่างๆ และเชิญชวนให้กลับมาลงทุน ท่องเที่ยวที่ประเทศไทยอีกครั้ง แต่ต้องรีบหน่อยนะครับ เพราะทุกๆ ประเทศและทางสหรัฐฯ เองก็มีแผนที่จะระดมทุนผ่านตลาดพันธบัตรในวงเงินมหาศาลเช่นกัน ถ้าช้าโอกาสดีๆ แบบนี้จะหายไปได้

10. โจทย์ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้มีการเลิกจ้างงานน้อยที่สุด ตอนนี้การถูกเลิกจ้างงานน่าจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับทุกคน เพราะตลาดแรงงานไทยมีการจ้างงานนอกระบบและในกลุ่ม SMEs สูงมากซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบางต่อการถูกเลิกจ้าง อย่าลืมว่าเรายังไม่ได้พูดถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกว่า สามสี่แสนคน พวกเค้าจะหางานทำที่ไหนในสภาวะแบบนี้ ดังนั้นท่านนายกฯ ต้องเรียกเจ้าของธุรกิจและเจ้าของกิจการอันดับต้นๆ ของประเทศเพื่อมาชี้แจงถึงความจำเป็นในการคงการจ้างงานและห้ามเลิกจ้างโดยเด็ดขาด ถือเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่จะต้องช่วยทำหน้าที่ประคองตลาดแรงงานไปด้วยกันทุกคน นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นและรับมือกับปัญหาว่างงานที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยการสั่งหน่วยงานราชการจ้างคนเพิ่มให้มากที่สุดก็เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือชั่วคราว เช่นหน่วยงานสาธารณสุขหรือตำรวจ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมากขึ้นในยุควิกฤตินี้ (การรักษาพยาบาลและการดูแลสวัสดิภาพประชาชน) ซึ่งถ้าเราแก้ปัญหาการเลิกจ้างไม่ได้ จะเป็นการซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจและสังคมให้แย่ไปกว่านี้อีก

ถึงเวลาแล้วที่เราจะให้ความสําคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่า เสถียรภาพทางการเงิน ผมจึงขอเสนอให้ทางหน่วยงานภาครัฐ “Do whatever it takes” หรือ “จัดเต็มให้เร็วและแรง” เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ (multiplier effect) ผ่านการกระตุ้นปัจจัยทางอุปสงค์เพื่อให้เกิดกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างเช่น การจ้างงาน หรือการลงทุน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ลูกจ้างเกิดรายได้มากขึ้น เป็นวงจรไปเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าสามารถทำได้หลายภาคส่วนดังที่กล่าวไปข้างต้น

11. มีอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะเป็นแนวคิดใหม่ๆ อาจจะขัดต่อความเข้าใจเดิมๆ อยู่ แต่ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ความสามารถในการรับมือกับปัญหา และคว้าเอาโอกาสที่ผ่านเข้ามาให้ทันท่วงทีมีความสำคัญ และเป็นปัจจัยในการอยู่รอดของธุรกิจ น่าจะต้องทำอะไรที่มีกระบวนการและขั้นตอนมาก ใช้เวลานานจนในบางครั้งอาจทำให้พลาดโอกาสสำคัญๆ หรือเลวร้ายไปกว่านั้น คือไปไม่รอดไปเลย อย่างเรื่องกระบวนการเพิ่มทุนออกหุ้นใหม่ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผมรู้สึกว่า เป็นอุปสรรคต่อการจัดการ เพราะขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก และใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 45 ถึง 60 วัน ซึ่งอาจทำให้กิจการพลาดโอกาสดีๆ ไป ตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้มีนักลงทุนอยากจะเอาเงินมาลงทุนในบริษัท ทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น ฝ่ายจัดการพิจารณาแล้วทั้งราคาและสัดส่วนในการลงทุนเหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อกิจการ ณ เวลานั้นแล้ว แต่กว่าที่นักลงทุนรายดังกล่าวจะลงทุนในบริษัทได้ ต้องใช้เวลาอีก 45 ถึง 60 วัน เพื่อจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้อนุมัติเรื่องนี้ ซึ่งช่วงเวลา 45 ถึง 60 วันดังกล่าว สำหรับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ในความเห็นของผม ฝ่ายจัดการควรมีเครื่องมือหรืออำนาจที่จะตอบรับกับโอกาสดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น กำหนดไปเลยว่า ภายในกรอบราคาหุ้นนี้ และสัดส่วนการถือหุ้นที่จะออกเท่านี้ ให้เป็นอำนาจตามกฏหมายของคณะกรรมการบริษัทที่สามารถดำเนินการไปได้เองโดยไม่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติ เพียงรายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบก็เพียงพอ เพื่อที่ฝ่ายจัดการจะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะจัดการในเรื่องโครงสร้างทุนของกิจการได้ในกรอบประมาณหนึ่ง

อย่างที่ผมบอกในตอนต้นเรื่องนี้ฟังดูแล้วอาจจะขัดกับความรู้สึก หรือ ตรรกะที่เราเคยเรียนมา แต่ผมเชื่อว่า ในเรื่องนี้มีจุดที่สมดุลย์ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้กับทั้งตัวกิจการ และผู้ถือหุ้นของบริษัท และเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อความคล่องตัวในการบริหารเงินทุนกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

บัญญัติ 11 ประการที่ผมชี้แจงไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่น่าจะช่วยเสริมแนวทางของรัฐบาลปัจจุบันที่ใช้กระสุนที่มีให้ หนัก แรง และเร็ว ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง ซึ่งถ้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมาเร็วเท่าใหร่ ก็จะทำให้ภาครัฐกลับมามีรายได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นจะช่วยให้มีการจ้างงาน และประชาชนมีรายได้ครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

เศรษฐา ทวีสิน

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน