LGBTI ในวงการกีฬา

เรื่องที่ผมจะเขียนถึงวันนี้อาจจะดูเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนและ “ต้องห้าม” สำหรับสังคมบางกลุ่ม แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับวงการกีฬาที่เราต้องเปิดรับเรื่องแบบนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาโดยไม่มีข้อแม้

คงไม่มีใครเถียงว่า ฟุตบอล ยังถูกมองว่าเป็นกีฬาของเพศชายเสียส่วนมาก แม้ฟุตบอลหญิงจะเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ยังต้องถือว่าไม่ค่อยแพร่หลายและยังไม่ขึ้นมาเทียบเท่าวงการฟุตบอลชายได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับ ค่าตอบแทน ค่าตัว เงินรางวัล ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีความเท่าเทียมกันทั้งสิ้น และห่างกันค่อนข้างมากเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าผมเอ่ยชื่อ Megan Rapione นักฟุตบอลตำแหน่งกองกลางทีมชาติสหรัฐอเมริกา Lianne Sanderson ผู้เล่นตำแหน่งกองหน้าทีมชาติอังกฤษ และ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติสหรัฐฯ อีกคนอย่าง Abby Wambach ท่านผู้อ่านอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกันเท่าไหร่แม้พวกเธอจะเป็นนักฟุตบอลหญิงระดับต้นๆ ของวงการในอดีตและปัจจุบัน

Megan-Rapinoe-Sansiri Blog
Megan Rapinoe – Copyright: 2019 Quality Sport Images

พวกเธอเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นนักฟุตบอลระดับโลกเท่านั้นนะครับ แต่เป็นนักกีฬาสตรีที่ออกมาเปิดเผยว่าพวกเธอเป็น “ผู้หญิงที่รักผู้หญิง” ด้วยกันอย่างเปิดเผย ถึงขนาดบางคนมีคู่หมั้นและคู่สมรสแล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่ายินดีนะครับที่พวกเธอสามารถเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาได้อย่างสบายใจ ต่างกับนักกีฬาชายที่ไม่ค่อยเปิดเผยเรื่องนี้กัน แม้จะมีการเปิดตัวบ้างแต่โดยมากถ้าสังเกตที่ผ่านมาจะเปิดเผยภายหลังที่จบอาชีพนักกีฬาอาชีพไปแล้วเสียส่วนมาก

แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีนักกีฬาชายหลายคนที่ออกมาเปิดเผยว่าเป็น เกย์ อย่างนักกระโดดน้ำทีมชาติอังกฤษชื่อ Tom Daley หรือ นักรักบี้ชื่อ Keegan Hirst นักบาสเก็ตบอล NBA ชื่อ Jason Collins หรือแม้กระทั่งนักกีฬาผาดโผนอย่างสเกตบอร์ดที่ชื่อ Brian Anderson แต่เราจะเห็นได้น้อยมากถึงนักฟุตบอลที่ออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์ ถ้าย้อนหลังไปเมื่อเกือบปีที่แล้ว ผมจำได้เคยมีข่าวว่าจะมีนักฟุตบอลอาชีพที่เล่นในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ 2 รายกำลังจะเปิดเผยตัวให้ทราบว่าเป็นเกย์ แต่ท้ายสุดผมก็เห็นข่าวนี้เงียบหายไปและเข้าใจว่าก็ไม่มีการเปิดเผยกันอย่างที่บอก

Tom-Daley-Dustin
Tom Daley and his husband, Dustin Lance Black – Credit: CNN

ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะความเชื่อของสังคมที่มีกันมาแต่เนิ่นนาน เป็นแนวคิดแบบ stereotype ที่มองว่ากีฬาที่มีการปะทะเป็นเรื่องความเป็นแมนของเพศชาย เป็นเรื่องของความแข็งแรง กำยำ ทำให้ถ้าจะมีนักกีฬาสักคนออกมาบอกว่าตัวเค้าเองเป็นเกย์ จะเป็นการสร้างความสั่นสะเทือนกับความเชื่อดังกล่าว และสร้างความวิตก ในประเด็นที่สังคมไม่เคยยอมรับและไม่เคยรับรู้ อีกทั้งปรากฏการณ์แบบนี้ยังไม่ค่อยได้เห็นกันทำให้ทุกฝ่ายอาจจะไม่รู้ว่าจะมีปฏิกิริยาหรือประพฤติตัวอย่างไร ไหนจะเพื่อนร่วมทีม ไหนจะโค้ช ไหนจะผู้จัดการทีม ไหนจะแฟนๆ รวมทั้งสปอนเซอร์ต่างๆ ซึ่งถ้าเรามองในภาพรวมผมก็ยอมรับครับว่าคงต้องเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและต้องมีความเด็ดขาดจริงๆ ถึงจะทำได้

อีกความเชื่อหนึ่งที่ผมคิดว่าสร้างความแตกต่างก็คือ ความเชื่อที่คิดว่าการเป็นเกย์ของเพศชายเป็นองค์ประกอบและปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ศักยภาพทางกีฬาของพวกเค้า “ด้อย” กว่าธรรมดา ในขณะที่การที่ผู้หญิงมีความเป็นชายมากกว่าปกติจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของพวกเธอให้สูงกว่าสตรีธรรมดา จะว่าไปก็เป็นสมมติฐานความเชื่อที่ไม่แฟร์นะครับ และผมก็ไม่เชื่อด้วยว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องนี้ยังสร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มนักกีฬาเกย์ที่กลัวว่า มูลค่า ของตนจะลดลงและส่งผลกระทบต่อดีลสนับสนุนของสปอนเซอร์

แต่นับเป็นเรื่องที่ดีนะครับที่บรรดาสปอนเซอร์อุปกรณ์กีฬาระดับโลกอย่างทั้ง adidas และ nike ต่างก็มีแนวทางที่เปิดกว้าง และให้การสนับสนุนบรรดานักกีฬากลุ่ม LGBTI อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะ adidas ถึงกับมีข้อระบุในสัญญาว่าหากมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว และเปิดเผยตัวว่าเป็นกลุ่ม LGBTI จะไม่มีผลกระทบใดๆ และจะไม่เป็นปัจจัยในการยกเลิกหรือไม่ต่อสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งจะว่าไปก็เป็นตัวช่วยในการล้มล้างความคิดกีดกันในเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย

แต่ปัญหาใหญ่อีกหนึ่งผมว่าอยู่ที่พวกเราแฟนๆ กีฬาด้วยครับ ยิ่งถ้าเป็นแฟนกีฬาประเภทฟุตบอลแล้วล่ะก็ ต้องปรับความคิดกันขนานใหญ่นะครับ เพราะเรายังเห็นภาพน่าเกลียดหลายต่อหลายครั้งในสนามและนอกสนาม ไม่ว่าจะเป็นความคิดประเภท sexist อย่างเช่นการเหยียดความสามารถกรรมการสุภาพสตรีอย่างที่ Andy Gray และ Richard Keys คู่หูพากษ์บอลของ Sky TV ทำและโดนไล่ออกมาแล้ว หรือกรณีที่แฟนบอลหลายๆ คนยังตะโกนดูถูกนักฟุตบอลหญิงทีมชาติสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ในการแข่งขันโอลิมปิคที่ผ่านมา (2016) ในเชิงต่อต้านการรักร่วมเพศ

Andy-Gray-and-Richard-Keys
Andy Gray and Richard Keys at the Sony Radio Academy Awards in 2012

เรื่องเหล่านี้ไม่ไกลตัวหรอกครับ ผมเชื่อว่าวงการฟุตบอลไทยเราท้ายที่สุดก็ต้องเจอกับเรื่องแบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเร็วหรือช้าแค่ไหน ถ้าจะก้าวข้ามให้ได้เราต้องเริ่มที่การปรับทัศนคติของเยาวชนรุ่นใหม่จากคนในบ้านและผู้ปกครองนะครับ ให้เค้าเข้าใจและยอมรับตัวตนของเพื่อนร่วมสังคม รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องไม่หลีกเลี่ยงที่จะจัดการกับปรากฏการณ์ทางสังคมอันนี้ อย่าหลับตาข้างเดียวแล้วคิดว่าให้มันดำเนินไปด้วยตัวเอง เราทุกคนในสังคมและวงการกีฬาควรมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดความเสมอภาค ให้เกียรติทุกคนทุกเพศเหมือนกันครับ

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม