ความใจกว้างของสโมสร
กับการย้ายตัวของนักเตะ

“I have dreamed of playing here… Liverpool did everything they could to keep me and tried to make me stay but they understood that this was my dream”

คือประโยคจากปากของ Coutinho ภายหลังที่ดีลการย้ายทีมมาเจ้าบุญทุ่ม Barcelona จบลงและมีการเปิดตัวนักเตะคนใหม่ที่คาดว่าจะสวมเสื้อเบอร์ 14 แทน Mascherano ไปเรียบร้อยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับแฟนหงส์อย่างผมและคนอื่นๆ จะว่าไปก็เสียดายแต่อย่างว่า ฟุตบอลก็แบบนี้แหละครับ Mr. Money คือนายใหญ่สุดของวงการ สั่งหันซ้ายหันขวา ใครก็ทำตามอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามพวกเราจะได้หายอึดอัดกันเสียที จะไปก็ไปชัดเจนดี Klopp จะได้เดินหน้าหาตัวตายตัวแทนต่อไปแบบไม่กั๊ก และก็ถือซะว่าเป็นผลดีในเชิงพาณิชย์ที่การลงทุนเพียงแค่ 8.5 ล้านปอนด์เมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นการลงทุนที่ผลตอบแทนสูงกว่าเกือบ 15 เท่าเลยทีเดียว

 

กรณีที่นักเตะมีการโยกย้ายสโมสรนี้ หลังๆ ก็ต้องทำใจครับว่าเป็นเรื่องปกติ สโมสรใหญ่ๆ มักจะได้เปรียบสโมสรเล็กๆ อยู่แล้วในการดึงตัว และหลายๆ ครั้งที่มีข่าวว่าจะมีการคว้าตัวกัน เกือบจะไม่มีครั้งไหนเลยครับที่ไม่สำเร็จ เหมือนกรณีนี้ Klopp ก็ออกปากรับสภาพเมื่อต้นสัปดาห์เช่นกันว่า “It is his dream and I am now convinced there is nothing left at our disposal to change his mind” เพื่อยืนยันว่าสโมสรก็ได้ทำทุกอย่างที่ทำได้ในการดึงตัวเค้าไว้ หวังให้ประสานงานกับ Salah และเพื่อนร่วมทีมอีกหลายคนที่กำลังฟอร์มแรงทั้งใน EPL และรอบหลังๆ ของ UCL แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยไป

Jurgen Klopp

และในช่วงสัปดาห์ที่แฟนหงส์ลุ้นดีลของ Coutinho วงการฟุตบอลไทยเราเองก็ไม่น้อยหน้ามีข่าวเกี่ยวกับการโยกย้ายตัวของนักฟุตบอลไทยไปเล่นในญี่ปุ่น นั่นก็คือการที่นักเตะอีก 2 คนของสโมสร SCG เมืองทองยูไนเต็ดอย่าง ธีรศิลป์ แดงดา และ ธีราทร บุญมาทัน สองกำลังสำคัญของทีมที่สโมสรได้ตกลงเซ็นสัญญายืมตัวเป็นเวลา 1 ปีปล่อยให้ทั้ง 2 คนไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่เจลีก ตาม เจ ชนาธิปไป

ในด้านความรู้สึกส่วนตัว อย่างแรกในฐานะของแฟนบอลคนไทยทั่วๆ ไปก็ต้องบอกว่ายินดีนะครับที่เราจะได้เห็นนักเตะไทยไปเล่นในลีกต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แสดงว่าฝีมือเราใช้ได้ และลีกเราก็เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะนักเตะที่สร้างศักยภาพให้โดดเด่นเตะตาได้ จะว่าไปแล้วเราก็เคยมีนักเตะไทยหลายคนไปเล่นในญี่ปุ่นแล้วไล่มาตั้งแต่ วิทยา เลาหกุล, วรวรรณ ชิตวณิช, พิชัย คงศรี หรือ นที ทองสุขแก้ว และอีกหลายคน แต่ผมว่าตั้งแต่นี้ไปเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นนักเตะไทยไปเล่นในลีกต่างประเทศมากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการสื่อสารมันรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก การทำ Scouting ของทีมต่างชาติผมว่าง่ายขึ้นเยอะ ทั้งคลิปวิดีโอ ภาพนิ่ง รวมถึงสถิติต่างๆ มันถูกรวบรวมเอาไว้เป็นแหล่งข้อมูลที่ง่ายต่อการเข้าถึงและประเมินนักเตะได้ ถูกใจขึ้นเครื่องบินแป๊บเดียวมานั่งดูบนอัฒจรรย์แล้ว

ธีรศิลป์ แดงดา

ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องบอกว่าทางสโมสร SCG เมืองทองยูไนเต็ดเองก็ใจกล้าพอควรเลยทีเดียวที่ปล่อยตัวนักเตะตัวหลักของสโมสรไปถึง 3 คนในรอบไม่ถึงปีดี ถึงแม้ดูความเห็นนักเลงคีย์บอร์ดในพวกกระทู้ต่างๆ ก็มีทั้งหาข้อจิกกัดกันต่างๆ นานาบ้างก็ว่าเคยมีคนอื่นเค้าทำกันมาตั้งเยอะแต่ไม่โปรโมต ฯลฯ แต่ยอมรับกันเถอะครับว่ากรณีนี้สโมสรเมืองทองได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเค้าพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นผลักดันให้นักเตะของไทยมีการพัฒนาตัวเองทางอ้อมได้แบบหนึ่ง การที่นักเตะตัวหลักในทีมชาติได้มีโอกาสไปเล่นในต่างประเทศ ต้องพิสูจน์ตัวเองกับทีมใหม่ การไม่อยากล้มเหลวให้เป็นตราบาปในอาชีพ ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยผิดหวังหรอกครับ กลับมาโดยมากจะแกร่งทางด้านร่างกาย จิตใจ และทักษะกันเกือบทุกคน นี่คือสิ่งที่วงการฟุตบอลไทยจะได้

ในกรณีที่ SCG เมืองทองยูไนเต็ดใจป้ำปล่อยทั้ง 3 คนนี้ออกไป สำหรับนักเตะที่อายุไม่มากนักอย่าง ธีราทร และ ชนาธิป นั้น Make Sense ทั้งสำหรับตัวนักเตะเองและสโมสร นักเตะได้พัฒนา แกร่งขึ้นกลับมารับใช้สโมสรต่อทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้นได้อีกนาน แต่ที่เรียกได้ว่าค่อนข้างแปลกใจสำหรับผมก็คือการปล่อยตัวหลักอย่างธีรศิลป์ที่เคยมีโอกาสไปอยู่อังกฤษและสเปนมาแล้วแถมอายุค่อนข้างมากแล้วไปด้วยนี่น่ะสิ น่าสนใจครับ เพราะผมว่านักเตะที่อายุเกิน 30 ขึ้นไปน่าจะเกิดจุดพีคไปแล้ว โอกาสที่เค้าจะใช้ช่วงเวลาอีก 1 ปีในญี่ปุ่นพัฒนาตัวเองนั้นคงน้อยกว่าธีราทรและชนาธิปเยอะ ไม่รู้ว่าไปแล้วจะได้กำไรอะไรกลับมาคืนทางสโมสรหรือเปล่า แต่ทางเมืองทองกลับเต็มใจให้ธีรศิลป์ได้มีโอกาสนี้ด้วยเหมือนกันทั้งๆ ที่จะไม่ให้ไปก็ได้นะครับ

ธีราทร บุญมาทัน

เมื่อมองย้อนกลับไปเปรียบกับกรณีของ Coutinho แล้ว จะเห็นได้ว่ามาคนละแนวเลยครับ Liverpool และ Klopp เองนั้นพยายามดึงตัว Coutinho เอาไว้ให้ได้ ในขณะที่ทาง SCG เมืองทองและผู้บริหารเองนั้นไม่เคยแสดงจุดยืนเช่นนั้นเลย เท่าที่ผมติดตามข่าวมาโดยตลอดช่วงปีที่ผ่านมาเคยมีข่าวออกมาบ้างก่อนชนาธิปจะไปญี่ปุ่นว่ามีสโมสรต่างชาติเริ่มสนใจนักเตะในทีม แต่สโมสรไม่ได้ระบุว่าตัวเองไม่สนใจที่จะขายหรือจะเก็บตัวนักเตะเอาไว้แต่อย่างใด แถมตอนจะส่งตัวนักเตะไปยังมีเลี้ยงส่ง แถมพาไปเปิดตัวกับสโมสรใหม่ด้วยเสียอีก นอกเหนือไปจากที่มีนโยบายจะไม่กั๊กตัวนักเตะเอาไว้แล้วนั้น ต้องบอกว่างานนี้ทางเจ้าของสโมสรเองนั้นเผลอๆ มีส่วนสนับสนุนนักเตะให้มีโอกาสนี้ด้วย จะเนื่องด้วยมี Connection ในวงการมากมายหรือเพื่อนฝูงที่คอยสอดส่องโอกาสต่างๆ มาให้ก็มิทราบได้ แหม ถ้าเกิดทาง Coutinho หรือ Klopp มาเห็นคงงงอยู่ว่าทำไมสโมสรไทยใจกว้างขนาดนี้

ล่าสุดขณะที่ผมเขียนต้นฉบับนี้อยู่ ดีลการย้ายตัวของนักเตะทีมชาติไทยตัวหลักของทีมสโมสรดังกล่าวอีกหนึ่งคนก็กำลังจะจบลงกับสโมสรใหม่ทางฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นอีกความใจกว้างของสโมสรที่เรียกว่าเป็นดีลใหญ่มากๆ เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามจากกรณีที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าผมเป็นนักเตะรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแล้วล่ะก็ สโมสรประเภทนี้หรือเปล่าครับที่ผมจะอยากเข้ามาเป็นเด็กในสังกัด หรืออยากจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่เตะตา สโมสรที่ผู้บริหารใจกว้างและสปอร์ตพอที่จะเสียสละบางอย่างเพื่อให้นักเตะได้มีโอกาสเติบโตและเปิดกว้างให้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ น่าสนใจมากครับ

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  5 มกราคม 2561

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก

 

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม