โภชนาการสำหรับนักกีฬา จะตามหลักการหรือจะตามใจปากดี

เมื่อเดือนที่แล้วเราได้เห็นการจับมือระหว่างเจ้าอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยรายหนึ่งกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านอาหารสำหรับนักกีฬาไทยในการแข่งขันซีเกมส์และอาเซียนพาราเกมส์ ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายนี้ก็ได้เคยช่วยสนับสนุนทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิคครั้งที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลปีที่แล้วด้วยเช่นกัน ก็นับว่าเป็นโชคของนักกีฬาไทยและคณะกรรมการโอลิมปิคนะครับที่ได้ภาคเอกชนมาช่วยเรื่องปากท้องที่มักจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ว่าในการแข่งขัน หรือเก็บตัว ทัวร์นาเมนต์ไหนๆ นักกีฬาไทยมักจะบ่นเรื่องอาหารไม่ถูกปากกันเสมอๆ เป็นเรื่องปวดหัวของทั้งทีมงาน สปอนเซอร์ คณะกรรมการผู้เกี่ยวข้องต่างๆ

เรื่องแบบนี้ผมก็เคยเจอเองครับสมัยก่อนที่ผมเป็นผู้ช่วยคุณกิตติรัตน์ในยุคฟุตบอลทีมชาติไทยเมื่อ 10 กว่าปีก่อนเวลาเราไปเก็บตัวที่ไหนหรือไปแข่งขันที่ไหนเราต้องหาร้านอาหารไทยในต่างแดนเพื่อพาทีมไปรับประทาน หรือให้เค้าทำข้าวกล่องมาส่งที่โรงแรม 5 ดาวที่เราพักกันอยู่เป็นร้อยๆ กล่องก็เคยมาแล้ว นึกภาพเอาสิครับกะเหรี่ยงไทยหิ้วถุงพลาสติกที่บรรจุกล่องโฟมข้าวผัดกระเพรากลิ่นคละคลุ้งขึ้นลิฟท์พร้อมกับฝรั่งหัวทองใส่สูทมันเป็นอย่างไร ทั้งหมดทั้งมวลก็เพราะเราบอกกันว่าอาหารต่างชาติกินแล้วไม่เจริญอาหาร ไม่อิ่มกัน อย่างน้อยที่นักกีฬาไทยต้องร้องขอเลยคือน้ำปลาพริก แค่นี้อย่างเดียวกลิ่นก็คลุ้งห้องอาหารไปหมดแล้ว

shutterstock_239860471

แต่เราเคยคิดกันไหมครับว่าบรรดานักกีฬามืออาชีพจริงๆ เขาจัดการเรื่องของโภชนาการกันอย่างไร แล้วกลับมาดูสิ่งที่เรารับประทานกันอยู่ หรือสิ่งที่สปอนเซอร์เขาสนับสนุนให้เนี่ยมันถูกหลักโภชนาการที่เหมาะสมแล้วหรือไม่สำหรับนักกีฬาที่ต้องเค้นทุกศักยภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจเพื่อให้ได้ Performance ที่ดีเลิศที่สุด?

ผมเชื่อครับว่าในยุคปัจจุบันที่กีฬาอาชีพแพร่หลายมากขึ้น นักกีฬาไทยทุกคนทุ่มเทร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่เมื่อเปลี่ยนชุดและลงสนามซ้อม แต่การทุ่มเทในสนามอย่างเดียวไม่พอหรอกครับ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนอกสนามก็สำคัญมากด้วยเช่นกัน นอกสนามไม่มีโค้ชคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเรื่องของการกินอยู่เป็นสิ่งที่นักกีฬาต้อง Commit ตัวเองให้ได้ ถ้าโชคดีมีนักโภชนาการมืออาชีพวางระบบให้แล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือแค่ทำตามและยึดมั่นไม่ว่อกแว่ก จำไว้เลยครับว่าถ้าหากเราทำตามแผนโภชนาการที่วางไว้ให้อย่างต่อเนื่อง แม้จะทำได้แค่ 85-90% แต่ทำสม่ำเสมอก็ยังดีกว่าทำตาม Regimen 100% ตอนเข้าค่ายและนอกค่ายเหลือแค่ 30-40%

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่รู้ว่านักโภชนาการที่รับผิดชอบนักกีฬาไทยเชี่ยวชาญมากแค่ไหนก็คือนักกีฬาแต่ละประเภทต้องการอาหารที่แตกต่างกันเนื่องด้วยธรรมชาติของการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อที่ใช้ ความอดทน ฯลฯ ซึ่งควรส่งผลให้สารอาหารหรือแร่ธาตุที่รับเข้าไปต่างกันด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยครับว่าระหว่างฤดูกาลแข่งขันร่างการต้องการการฟื้นตัวที่รวดเร็ว ดังนั้นสารอาหารแร่ธาตุต่างๆ ที่รับเข้าไปต้องทำหน้าที่เสริมในส่วนนี้ ในขณะที่ช่วงฝึกซ้อมปิดฤดูกาลนั้นสิ่งสำคัญคือการสร้างความฟิตและความแข็งแกร่งดังนั้นอาหารที่ควรรับเข้าไปก็ต้องมีส่วนประกอบของโปรตีนเยอะๆ เห็นไหมครับ แค่เบสิคแค่นี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว

shutterstock_671187619

นอกจากนี้สารอาหารที่ร่างกายรับเข้าไปทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกมการแข่งขันก็ควรแตกต่างกันด้วย ก่อนเกม 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยต้องมีน้ำตาลเข้าไปในร่างกายในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อจะได้แน่ใจว่าระบบประสาทที่ Coordinate กล้ามเนื้อและควบคุมการเคลื่อนไหวทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถโฟกัสกับเกมได้ต่อเนื่อง ท่านผู้อ่านลองนึกตัวอย่างของผู้เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตูสิครับ สมัยนี้การเปลี่ยนทิศทางของลูกฟุตบอลนอกเหนือการคาดเดาจริงๆ ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้เล่นที่รวดเร็วต่างกันแค่ 0.5 วินาทีอาจหมายถึงปลายนิ้วที่ปัดบอลออกนอกกรอบได้นะครับ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

หรือในขณะที่ระหว่างการฝึกซ้อมหรือการแข่งขันเครื่องดื่มที่ประกอบด้วย Electrolyte เกลือแร่ และแป้งที่สลายตัวเร็ว ก็จะช่วยเติมพลังให้กล้ามเนื้อและประคองระดับร่างกายไม่ให้เพลียลงกว่าที่ควรในระหว่างเกม ลองนึกภาพทีมฟุตบอลสองทีมที่ได้รับการ Refuel ไม่เหมือนกันระหว่างเกมสิครับ ถ้าทีมหนึ่งสามารถประคองตัวเองให้วิ่งเฉลี่ยคนละ 11 กิโลเมตรต่อเกมได้ในความเร็วที่เหนือกว่าคู่แข่งโดยตลอด นั่นหมายความว่า 2-3 ก้าวที่จะถึงบอลก่อน จะแย่งบอลได้ก่อน จะง้างเท้ายิงได้ก่อน ถ้าคิดแบบนี้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ก็สำคัญมากเลยครับ

shutterstock_602457035

นอกจากนี้อาหารที่นักกีฬารับเข้าไปในร่างกายหลังการซ้อมและการแข่งขันก็สำคัญไม่แพ้กัน นักกีฬาหลายๆ คนที่ผมรู้จักมักคิดว่าหลังจากร่างกาย Burn แคลอรี่ไปแล้วตั้งเยอะจะหยิบอะไรเข้าปากก็ได้ แต่นั่นผิดถนัดครับ อาหารบางอย่างยิ่งทำให้การฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อที่เสียหายและอ่อนเปลี้ยจากการใช้แรงกลับคืนสภาพได้ช้าลง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อต้องใช้กล้ามเนื้ออีกในการซ้อมครั้งต่อไป จะยิ่งทำให้สมรรถนะลดลงเรื่อยๆ เพราะกล้ามเนื้อไม่สามารถฟื้นฟูได้ทันใช้งาน เช่นกันลองนึกถึงนักเทนนิสที่แข่งทัวร์นาเมนต์ต่อเนื่องทั้งปี อีกทั้งต้องเดินทางหลายพันไมล์ กล้าเนื้อต้องการเวลาในการฟื้นฟูให้มากที่สุด ถ้าอาหารหลังเกมมีโปรตีนหรือแป้งชั้นดีน้อยเกินไปนั่นหมายถึงเวลาที่ต้องใช้มากขึ้นในการคืนสมรรถนะสูงสุดของตัวนักกีฬาเอง

shutterstock_304751957

ผมเองก็ไม่ได้จะบอกว่าเป็นนักโภชนาการหรือผู้เชี่ยวชาญอะไรหรอกนะครับ ที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นความรู้พื้นฐานที่ผมลองหาอ่านจากเว็ปไซต์ทั่วๆ ไปที่พูดถึงเรื่องแบบนี้ รวมถึงเวลาเราอ่านสัมภาษณ์นักกีฬาระดับโลกหลายๆ คนก็ทำให้รู้ว่าเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แค่ไหน 

ทีนี้ลองย้อนกลับมาดูสิ่งที่นักกีฬาของไทยได้สิครับ อาหารหลักๆ ที่เค้าว่าฮิตกันมากสำหรับ ครัวไทย ในกีฬาโอลิมปิคครั้งที่แล้วคือ ข้าวกระเพราะไก่ เกี๊ยวกุ้งต้มยำ ของเผ็ดๆ และอาหารแช่แข็งที่ได้นำมาอุ่นให้นักกีฬารับประทานกันอย่างถูกปาก ฟังแล้วถ้าผมเป็นนักโภชนาการที่ถูกสมาคมกีฬาต่างๆ จ้างมาให้ดูแล หรือเป็นโค้ชระดับโลกที่อยากปั้นนักกีฬาไทยที่มีแววคงตีอกชกลมครับ อุตส่าห์ฝึกแทบตาย สุดท้ายมาตายเพราะปากนี่เอง

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  4 สิงหาคม 2560

Related Articles

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต

ทรงอย่างแบด

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” : ความซับซ้อนของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด” เป็นเรื่องที่ผมทึ่งกับวิถีสังคมของเด็กรุ่น Gen Millennials และ Alpha ที่ส่งอิทธิพลต่อมาถึงคนรุ่น Boomer และ X Y ได้อย่างน่าสนใจ ถ้าเราไม่ได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสื่อโซเชียลที่เด็กยุคใหม่คุยกัน ก็คงจะงงกันว่าประโยคนี้คืออะไร แล้วคำขวัญของผู้ว่าฯ มาจากไหน ถือเป็นตัวอย่างของช่องว่างทางความคิด สังคม