การแข่งขันกีฬาระดับโลกสุดยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิกกลับมาแล้วกับสี่ปีที่เรานักกีฬาและคนที่ชื่นชอบกีฬา ลอยคอ…รอคอย หลังจากประเทศฝรั่งเศสได้รับการส่งไม้ต่อจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อสี่ปีก่อน กับการกลับมาจัดการแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้งในรอบ 100 ปี ของประเทศฝรั่งเศส จะมีความพิเศษและยิ่งใหญ่ขนาดไหน
วันนี้ Sansiri blog จะมาเล่าถึงต้นกำเนิดของโอลิมปิก การออกแบบที่สะท้อนความเป็นฝรั่งเศส ความเท่าเทียม และการจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนฟังกันค่ะ
กรีกต้นกำเนิดโอลิมปิก
โอลิมปิกจัดการแข่งขันขึ้นครั้งแรกในยุคกรีกโบราณ โดยจะเน้นการแข่งขันกีฬาประเภทกรีฑา รวมถึงจะมีการแข่งขันรถม้าและต่อสู้อีกด้วย ในยุคนั้นผู้เข้าแข่งขันกีฬาต้องเปลือยกายและเป็นผู้ชายเท่านั้น ต่อมามีการปรับให้มีกีฬา 5 ประเภท ได้แก่ มวยปล้ำ วิ่ง กระโดด ขว้างจักรและพุ่งแหลน การจัดแข่งขันโอลิมปิกมีต่อเนื่องมาประมาณ 1200 ปี จนกระทั่ง ค.ศ. 393 กีฬาโอลิมปิกถูกยกเลิกไปกว่า 15 ทศวรรษ เพราะเหตุผลทางศาสนา การเล่นพนัน และมีการว่าจ้างนักกีฬาลงแข่งขันโอลิมปิกเพื่อเอาเงินรางวัล ฯลฯ
ต่อมาการแข่งขันโอลิมปิกกลับมาจัดอีกครั้งในปี ค.ศ. 1896 ที่ประเทศกรีซ กรุงเอเธนส์ นั่นเอง โดยครั้งแรกที่กลับมาจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเพียง 15 ประเทศ หลังจากนั้นประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้หมุนเวียนเปลี่ยนไปเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในทุกๆ 4 ปีจวบจนปัจจุบัน
“ฝรั่งเศส” กลับมาจัดโอลิมปิกในรอบ 100 ปี
Olympics 2024 ได้วนมาจากอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ Paris 2024 การที่ประเทศฝรั่งเศสกลับมาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3
โดยครั้งแรกฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก ในปี ค.ศ. 1900 ในปีนั้นได้มีการให้ผู้หญิงลงแข่งกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งแรกและครั้งที่สองในปี ค.ศ.1924 โดยในปีนั้นได้สร้างหมู่บ้านโอลิมปิกในฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก จะเห็นได้ว่าประเทศฝรั่งเศสกลับมาจัดการแข่งขันโอลิมปิกในรอบ 100 ปี การจัดแข่งกีฬาโอลิมปิกจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม 2024 – 11 สิงหาคม 2024 โดยปีนี้มีการแข่งขันกีฬาทั้งหมด 32 ชนิด และมีเหรียญทั้งหมด 329 เหรียญ ที่นักกีฬาผู้ที่ได้รับชัยชนะจะได้ครอบครองนั่นเอง
Paris 2024 นอกจากจะมีการแข่งกีฬาแล้วยังมีการผสมผสานวัฒนธรรมความเป็นปารีสเซียนเข้ากันอีกด้วย โดยคอนเซ็ปต์ของงานในปีนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความงดงาม การให้ชุมชนโดยรอบเข้ามามีส่วนร่วมและหลอมรวมอดีตเข้ากับปัจจุบัน เพื่อส่งต่อถึงอนาคตสู่ความยั่งยืนของประเทศฝรั่งเศส ให้ทั่วโลกได้รับรู้อีกด้วย
การออกแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงความเท่าเทียม
โลโก้โอลิมปิกปารีส 2024
โลโก้โอลิมปิกปารีส 2024 ถูกออกแบบโดย มาธิเยอ เลออันเนอร์ (Mathieu Lehanneur) ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซึ่งในโลโก้จะประกอบไปด้วย 3 สัญลักษณ์ดังนี้
เหรียญทอง หมายถึง ชัยชนะการประสบความสำเร็จ
เปลวไฟ หมายถึง ความมุ่งมั่น ความหวัง ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
มาเรียน (Marianne) หมายถึง สัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส คือ เสรีภาพ ความเท่าเทียมและภราดรภาพ
โปสเตอร์โอลิมปิกปารีส 2024
โปสเตอร์โอลิมปิกปารีส 2024 ถูกออกแบบภายใต้คอนเซ็ปต์ “Games wide open” โดยมีการสื่อถึงเอกลักษณ์ที่เป็นมนต์เสน่ห์ของประเทศฝรั่งเศสไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น หอไอเฟล แม่น้ำแซน ประตูชัย ฯลฯ รวมถึงการมีคนในภาพถึง 40,000 คน โดยมีเพศชายเพศหญิงเท่ากันเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียมอีกด้วย
โดยผู้ออกแบบรังสรรค์โปสเตอร์นี้ มีชื่อว่า Ugo Gatton เป็นนักวาดภาพประกอบชาวฝรั่งเศส ที่มีสไตล์การวาดเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเมืองปารีสผสมผสานกับการแข่งกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ โดยโปสเตอร์ดังกล่าวจะมีทั้งแบบกลางวันและกลางคืน
“ฟรีจีส” มาสคอตโอลิมปิกปารีส 2024
มาสคอตโอลิมปิก ปารีส 2024 มีชื่อว่า “ฟรีจีส” (Phryge) มาสคอตได้รับแรงบันดาลใจมาจากหมวกของชาวฟรีเจียที่สวมใส่ระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพและประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส
รวมถึงยังมีมาสคอต“ฟรีจีส”ที่ใส่รันนิ่งเบลดหรือขาเทียมช่วยวิ่ง ถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิการทางด้านการเคลื่อนไหว สำหรับการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมอีกด้วย
มาสคอตยังมีคติประจำใจ คือ “ไปคนเดียวไปได้เร็วกว่า แต่ถ้าร่วมมือกันเราจะไปได้ไกลกว่า” ที่สื่อให้เห็นถึงความสามัคคีอีกด้วย
คบเพลิงโอลิมปิกปารีส 2024
คบเพลิงโอลิมปิก 2024 ออกแบบโดยมาธิเยอ เลออันเนอร์ (Mathieu Lehanneur) นักออกแบบชาวฝรั่งเศส โดยมีแนวคิด คือ ความเสมอภาคและความเท่าเทียม น้ำ สันติภาพ ซึ่งสื่อความหมายได้ดังนี้
ความเสมอภาคและความเท่าเทียม คบเพลิงมีรูปทรงสมมาตรกันทั้งแนวตั้งแนวนอนสื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันของทุกคน การแข่งขันกีฬาครั้งนี้มีนักกีฬาทั้งชายและหญิงเท่ากันอีกด้วย
น้ำและสันติภาพ ออกแบบคบเพลิงส่วนล่างโดยใช้แท่งเหล็กให้มีลักษณะคล้ายริ้วคลื่น ของแม่น้ำแซน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญของฝรั่งเศส
สันติภาพ ตัวคบเพลิงจะมีลักษณะโค้งมน สื่อให้เห็นถึงสันติภาพ ความสงบสุขและความอ่อนโยน ซึ่งหมายรวมถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคี
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้ปลายคบเพลิง เหมือนกับเปลวไฟที่ลุกโชน สื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ความหวัง และพลังนั่นเอง อีกทั้งการทำคบเพลิงยังคำนึงถึงความยั่งยืนเพราะใช้วัสดุจากธรรมชาติมาทำ เช่น เหล็ก หินอ่อน และไม้โอ๊ค ซึ่งเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยคบเพลิงนี้จะผลิตประมาณ 2,000 อัน เพื่อใช้ในการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกปีนี้เท่านั้น โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ออกแบบให้ทั้งโลโก้ โปสเตอร์ มาสคอต คบเพลิง ใช้ร่วมกันทั้งโอลิมปิกเกมและพาราลิมปิกเกมนั่นเอง
ล่องเรือแทนการเดินพาเหรดในพิธีโอลิมปิก
ในอดีตพิธีเปิดกิฬาโอลิมปิกทุกครั้ง จะเป็นการเดินพาเหรดของเหล่านักกีฬาในสนาม แต่โอลิมปิกที่ปารีสครั้งนี้มีความพิเศษที่แตกต่างออกไปจากทุกปี โดยปีนี้เหล่านักกีฬาจะล่องเรือในแม่น้ำแซน ใจกลางกรุงปารีสด้วยระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร จากนั้นค่อยมารวมตัวการในสนามกีฬา “ทรอกาเดโร” เพื่อจุดไฟคบเพลิงโอลิมปิก สำหรับเหตุผลที่เปลี่ยนจากการเดินพาเหรดมาล่องเรือ เพราะอยากให้ทุกคนได้ชมพิธีเปิดอย่างทั่วถึงโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนั่นเอง
โอลิมปิกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาทางเจ้าภาพต้องการ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้มากกว่าครึ่งของการจัดโอลิมปิกครั้งที่แล้ว โดยการลดการก่อสร้าง ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้วหรือการสร้างขึ้นมาชั่วคราว โดยใช้สิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่แล้วถึง 95% เลยทีเดียว เช่น สนามกีฬา Stade de France ซึ่งเดิมสร้างขึ้นเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1998 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสนามหลักที่ใช้ในการจัดโอลิมปิกครั้งนี้
โดยการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ประเทศฝรั่งเศสได้สร้างสนามกีฬาขึ้นใหม่เพียงแห่งเดียว มีชื่อว่า ศูนย์กีฬาทางน้ำแซ็งต์เดอนี โดยมีส่วนที่ใช้วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติและ ตกแต่งด้วยวัสดุรีไซเคิล อีกทั้งสนามกีฬาแห่งนี้ยังใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์อีกด้วย
โอลิมปิกครั้งนี้ยังมีการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นการสร้างผสมผสานความยั่งยืนกับชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ จะเน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในหมู่บ้านโอลิมปิกมีการออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นพื้นที่เปิดโล่งรับแสงเชื่อมต่อกับพื้นที่ริมแม่น้ำ รวมถึงยังมีพื้นที่สีเขียวภายในหมู่บ้านและมีการใช้ยานพาหนะที่เป็นพลังงานสะอาด รวมถึงหากจบการแข่งขันโอลิมปิก หมู่บ้านนักกีฬาแห่งนี้จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่อยู่อาศัยและสำนักงานเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
ความพิเศษของการจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ในปีนี้จะให้ได้ว่าทางเจ้าภาพให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม การเข้าถึงทุกคนชุมชนโดยรอบ และความยั่งยืนเป็นอย่างมาก และนี่คงเป็นเสน่ห์ของการจัดแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 ในครั้งนี้นั่นเองค่ะ
Source
https://olympics.com/ioc/news/new-paris-2024-slogan-games-wide-open-welcomed-by-ioc-president
https://www.facebook.com/story.php?id=100050368484911&story_fbid=1105913064430966
https://www.bbc.com/sport/articles/cz99g6g8m92o
https://olympics.com/en/news/the-history-of-the-olympic-games
https://www.thaipbs.or.th/news/content/341946
https://www.dezeen.com/2023/07/25/paris-2024-torch-olympic-paralympic-games-mathieu-lehanneur/
https://www.bbc.com/thai/articles/cv2jldzm4mmo
https://www.pptvhd36.com/sport/news/228603
https://www.designboom.com/design/mathieu-lehanneur-paris-2024-torch-steel-seine-river-07-25-2023/
https://www.tnnthailand.com/news/tech/169181/
https://www.marketingoops.com/campaigns/design/design-logo-paris-2024/
https://www.reuters.com/sports/paris-2024-unveils-surrealistic-official-posters-2024-03-04/
https://olympics.com/en/paris-2024/the-games/the-brand/iconic-posters