เมื่อสงครามยูเครนกระทบ
ถึงข้าวไก่กะเพราของชาวบ้าน

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นอีกฟากโลกหนึ่งส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาอาหารทั่วโลก ทุกคนได้ผลกระทบไปกันหมด

จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตร แห่งสหประชาชาติ หรือ FAO บอกว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารโลกพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมีนาคม แตะระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา (FAO ก่อตั้งและเริ่มเก็บตัวเลขในปี 1990)

เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีกำส่วนแบ่ง 28% ของตลาดโลก ซึ่งหมายถึงวัตถุดิบที่นำมาทำขนมปัง แป้งโรตี แป้งนาน ฯลฯ ที่เป็นอาหารพื้นฐานของคนทั่วโลกขาดตลาด สำหรับน้ำมันดอกทานตะวันซึ่งเป็นน้ำมันพืชชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกนิยมใช้ปรุงอาหาร

เฉพาะยูเครนเองนั้นก็มีส่วนแบ่งการส่งออกสู่ตลาดโลกถึง 37% แล้ว ถ้านับรวมรัสเซียที่มีส่วนแบ่ง 26% เข้าไปเกือบ 3 ใน 4 ของผลผลิตโลกแล้ว การที่เกิดสงครามหมายถึงการผลิตและการส่งออกที่ชะงัก การขาดตลาดของน้ำมันดอกทานตะวันในตลาดโลกก็เลยผลักให้น้ำมันพืชชนิดอื่นต้องถูกนำมาใช้ทดแทนและราคาถีบตัวขึ้นสูง

ตัวเลขของ FAO บอกว่าราคาน้ำมันพืชพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และปรับขึ้นอีก 23% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกก็บอกว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองขยับขึ้นมาแตะเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อตันแล้วจากที่เคยอยู่ที่ระดับ 765 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อปี 2019 เห็นชัดเจนหรือยังครับว่าสงครามครั้งนี้กำลังส่งผลกระทบชัดเจนให้ราคาผลิตภัณฑ์พื้นฐานบนโต๊ะอาหารของทุกคนถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

อย่าลืมนะครับว่าในมุมมองของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เมื่อน้ำมันพืชที่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการปรุงอาหารขึ้นราคาอาหารพื้นฐานอย่างแค่ข้าวไข่เจียวหรือข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวก็โดนผลกระทบไปด้วย ไม่ใช่แค่นั้นครับ แต่เรากำลังพูดถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปด้วยนะครับ เพราะน้ำมันพืชและแป้งสาลีล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบของอาหารสำเร็จรูปหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป บิสกิต คุกกี้ ฯลฯ มากมาย

มองดูดัชนีการขึ้นราคาของวัตถุดิบและอาหารอาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่ลองเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนสำหรับแต่ละประเทศเราจะเห็นความน่าวิตกที่ชัดเจนขึ้นครับ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ยกตัวอย่างแคนาดา อาหารคิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนแค่ 10% เท่านั้น

ในขณะที่ประเทศอย่างไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน นั่นหมายความว่าในสถานการณ์ที่ต้นทุนอาหารสูงขึ้นครอบครัวในแคนาดาสามารถเจียดเงินที่ใช้ในเรื่องอื่นอีกกว่า 90% มาชดเชยได้ในขณะที่ครัวเรือนไทยเรามีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นแค่ 60% ที่เจียดมาชดเชยได้

ยิ่งมองลึกลงไปในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจแล้วผมว่าน่าวิตกครับ จากผลกระทบโควิดที่ผ่านมา 2 ปีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบสูงและเผลอ ๆ อาจจะคุมค่าใช้จ่ายในส่วน 60% ดังกล่าวไม่อยู่เสียด้วยซ้ำ

ไหนจะค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยเฉพาะด้านเวชภัณฑ์เพื่อป้องกันตนเองในช่วงการแพร่ระบาด ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อุปกรณ์การเรียนที่ต้องซื้อเพื่อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็กระทบเพราะน้ำมันขึ้นราคาแถมลักษณะการประกอบอาชีพของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ นี่ยังไม่นับดอกเบี้ยโดยเฉพาะจากการกู้ยืมเงินนอกระบบทบเข้ามาอีก

สำหรับคนที่มีอันจะกิน ไม่มีดอกเบี้ยต้องจ่าย และไม่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจ การตัดค่าใช้จ่ายรายเดือนก็ไม่ยากเท่าไหร่ สิ่งที่เคยเป็นของฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็นเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้กับชีวิตก็ตัดออกไป แต่สำหรับชาวบ้านและกลุ่มคนที่เปราะบางทางเศรษฐกิจแล้วในทางปฏิบัติถือว่ายากมากเพราะค่าใช้จ่ายเกือบทุกรายการล้วนแต่มีความจำเป็นทั้งเพื่อการดำรงชีวิตสำหรับพวกเขาทั้งสิ้น

ถ้าอาหารพื้นฐานอย่างข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวยังราคาขึ้น นี่สิครับปัญหาใหญ่

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน