Say no to Racism
เรื่องบางเรื่องถ้าเราไม่เจอเองเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่โดนจะมีผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะความเจ็บช้ำที่มีผลกระทบต่อทางจิตใจเพราะจะไม่มีหลักฐานหรือร่องรอยของอาการให้เห็นผ่านทางร่างกายที่กล่าวมาดังนี้ก็เพราะผมอยากจะหยิบยกประเด็นทางสังคมและเกี่ยวข้องกับวงการกีฬาที่ได้รับการพูดถึงเรื่องหนึ่งมากที่สุดในสังคมตะวันตกแต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนไทยเท่าไหร่ นั่นก็คือเรื่องของการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในวงการกีฬา
ประเด็นทางสังคมเรื่องนี้ในวงการกีฬาเองก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดมีมานานมากแล้วเพียงแค่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นกรณีตัวอย่างหลายๆ อันที่กระพือกระแสเรื่องนี้ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียให้คนทั่วไปอย่างเรารับรู้มากขึ้น
ยกตัวอย่างในวงการฟุตบอล ในปี 2013 ระหว่างการแข่งฟุตบอลอุ่นเครื่องของทีม AC Milan กับทีมดิวิชั่น 4 ในอิตาลีก่อนเปิดฤดูกาล Kevin-Prince Boateng ผู้เล่นของ AC Milan ถูกแฟนบอลของอีกทีมตะโกนดูถูกเรื่องสีผิวจนเค้าฟิวส์ขาดในนาทีที่ 26 หยิบลูกบอลเตะขึ้นอัฒจรรย์และเดินออกจากสนามทันที หรือเมื่อปีที่แล้วผมเชื่อว่าทุกคนคงจำได้ถึงกรณี Dani Alves โดนแฟนบอลในสเปนปากล้วยใส่ และล่าสุดก็คือกรณีแฟนบอลเชลซีไปโชว์เก๋าแสดงกิริยารังเกียจและใช้ถ้อยคำเหยียดผิวพร้อมผลักชายผิวดำออกจากรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงปารีสระหว่างการแข่งขัน UEFA แชมเปียนส์ลีก เชลซี กับ ปารีส แซงก์แยร์แมงต์
ไม่ใช่ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดในกลุ่มแฟนบอลเท่านั้น ในระดับผู้บริหารองค์กรสูงๆ ก็เช่นกันอย่างกรณีนาย Carlo Tavecchio ที่เคยกล่าวถึงนักฟุตบอลที่มีเชื้อสายอาฟริกันว่า “เป็นพวกกินกล้วย” ตอนหาเสียงสมัครตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลอิตาลี ซึ่งแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่น่ารังเกียจในระดับสมาคมแต่เค้าก็ได้รับเลือกอยู่ดี จนสุดท้ายอื้อฉาวเกินไปจน FIFA แบนจากการรับตำแหน่งใดๆ ใน FIFA นาน 6 เดือน
กรณีเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับวงการฟุตบอลระดับโลก ในการแข่งขันระดับประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมจนกระทั่งหน่วยงานและองค์กรที่รับผิดชอบต้องเก้าอี้ร้อนออกมาร่วมประนามและกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่กระทำผิด แม้จะเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งแต่หลายครั้งก็เดือดร้อนไปถึงสโมสรที่ตัวเองเป็นแฟนต้องถูกห้ามแข่งในบ้านหรืองดขายบัตรเข้าชมเพื่อเป็นการตัดรายได้ลงโทษด้วยเหมือนกัน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในใจว่าผู้บริหารของหน่วยงาน สโมสร หรือองค์กรเหล่านี้มีความจริงใจแค่ไหนในการจัดการปัญหาเหยียดสีผิว หรือเป็นเพียงแค่การตามน้ำเพื่อสร้างภาพเป็นคนดีในสายตาสังคม
ผมจำได้ว่าเคยเห็นรายงานข่าวบอกว่าในการแข่งขันกีฬาระดับประเทศทุกรายการของปี 2014 มีเหตุการณ์เหยียดสีผิวเกิดขึ้น 89 ครั้งที่ได้รับการรายงานและร้องเรียนอย่างเป็นทางการ (ซึ่งคงมีอีกมากที่ไม่ได้ถูกรายงาน) โดย 80 ครั้งเกิดขึ้นกับกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมากสำหรับวงการฟุตบอล ถ้าเอาตัวเลขสถิติอีกอันที่เค้ารายงานว่าในช่วงปี 2012-2014 มีเหตุการณ์เหยียดผิวและเชื้อชาติเกิดขึ้นภายในวงการฟุตบอลของรัสเซียถึงกว่า 200 ครั้งยิ่งน่าเป็นห่วง FIFA ขึ้นไปอีกเพราะนี่คือประเทศที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในอีก 3 ปีข้างหน้านี้แล้วก็ได้แต่หวังว่าเราคงจะไม่เห็นภาพอันน่าเกลียดในฟุตบอลโลกครั้งหน้า
นอกเหนือไปจากแนวคิดหัวรุนแรงที่คิดว่าเผ่าพันธ์และเชื้อชาติตัวเองเหนือกว่าคนอื่น เค้าว่ากันว่าอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในวงการฟุตบอลของยุโรปมีความรุนแรงมากมาจากการเจริญเติบโตของประชากรผู้ลี้ภัยอย่างถูกกฏหมายที่เข้ามาอยู่ในประเทศเหล่านี้ ทั้งแย่งอาชีพ แย่งสวัสดิการ ก่อให้เกิดความตึงเครียดและไม่พอใจของคนท้องถิ่น และก็เริ่มเห็นเชื้อชาติอื่นเข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอลยุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ที่ย่ำแย่ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมยังลำบากในการดำรงชีวิต
มองย้อนกลับมายังประเทศแถบเอเชียโดยเฉพาะในประเทศไทย นับว่ามีบรรยากาศที่ดีมากสำหรับบรรดานักกีฬาต่างชาติที่เข้ามาเป็นนักเตะอาชีพในลีกของเรา เท่าที่ผ่านมาผมยังไม่เคยได้ยินกรณีมีการเหยียดผิวหรือเชื้อชาติในวงการฟุตบอลไทยของเรานะครับ ทั้งจากหน้าหนังสือพิมพ์หรือวงในหลายๆ ท่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากเพราะผมเชื่อว่าการยอมรับในความแตกต่างจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้อะไรอีกหลายๆ อย่าง และจะทำให้วงการฟุตบอลของเราพัฒนาไปข้างหน้าโดยปริยาย ท่านผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าถ้าลีกเราเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดึงดูดนักเตะต่างชาติหลากหลายที่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร นักเตะไทยก็จะได้มีโอกาสเจอกับผู้เล่นที่ไซส์ต่างกับเรา มีสไตล์การเล่นที่ต่างไป และมี mentality ที่ต่างไปจากประสบการณ์ที่เค้าเคยเล่นอยู่ในลีกอื่นๆ และแน่นอนย่อมมีส่วนเสริมสร้างทักษะและความรอบด้านให้กับนักเตะเรามากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าลีกเราพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงผลงานและพาณิชย์มากขึ้นย่อมเป็นเป้าหมายหนึ่งที่พวกเค้าเหล่านี้อาจสมัครใจมาร่วมพัฒนาด้วยอย่างแน่นอน