ก่อนจะเขียนบทความชิ้นนี้ไม่นานนัก ผมให้สัมภาษณ์ “ไทยรัฐทีวี” เกี่ยวกับศึก “โซนี่-ดิสนีย์” ไปว่า ถ้ามาร์เวลมีอาณาจักร superhero ได้ ทำไมค่ายอย่างโซนี่ จะหันมาสร้างอาณาจักรของ สไปเดอร์แมน ในภาค spider-verse บ้างไม่ได้
แต่กระนั้นก็ตาม ถ้า Transformer ยังกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่มีภาคสุดท้ายจริงๆ อย่างที่คุยได้ ทำไม “โซนี่-ดิสนีย์” จะกลับมา “จุ๊บๆ” กันอีกไม่ได้ ?
แล้ววันสุดท้ายของเดือนกันยายน ก็มีข่าวออกมาจาก CNN ว่า สไปเดอร์แมน ได้ทำการรีเทิร์น กลับสู่อาณาจักรของมาร์เวลอีกครั้ง ประเด็นเรื่องของ superhero มือหนึ่ง ไม่น่าจะจบแค่นี้ เพราะว่า มีการคิดกันล่วงหน้าว่า ถ้าวันหนึ่งข้างหน้า มีเรื่องที่ต้องปริแตกกันอีก อาจจะมีการสร้าง ฮีโร่ตัวใหม่ที่มีทุกอย่างเหมือน สไปเดอร์แมนได้
แต่มันก็มีคำถามสนุกๆ ว่า หากมีการสร้างซุปเปอร์ฮีโร่ตัวใหม่ที่มีทุกอย่างเหมือน ไอ้แมงมุม จะมีการฟ้องร้องกันทางคดีได้หรือเปล่า เพราะในอดีตราวๆ สัก 15 ปีที่แล้ว เคยเกิดคดีเลือนลั่นทางแวดวงวรรณกรรมของฝรั่ง นั่นคือ เจ.เค.โรวลิง ได้สั่งฟ้องนักเขียนชาวรัสเซียคนหนึ่ง ที่แต่งเรื่องแม่มดขึ้น แต่ดันมีทุกอย่าง เหมือน Harry Potter!
ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ อุปนิสัยใจคอ หรือหน้าผากที่มีร่องรอย เว้นอย่างเดียวก็คือ “เพศ”
พูดง่ายๆ คือ พ่อมดอังกฤษ ฟ้องศาลโดยมี แม่มดสาวชาวรัสเซียเป็นจำเลย (ยิ่งไปกว่านั้น สำนักพิมพ์ของอังกฤษก็ฟ้องสำนักพิมพ์ในฮอลแลนด์ที่ตีพิมพ์หนังสือ Barry Grotter) เรื่องที่ว่านี้ทำให้ศัพท์คำหนึ่ง ถูกหยิบขึ้นมาตีความนั่นคือ Copyright to the copy
หรือแปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สิทธิในการที่จะเลียนแบบ ไม่ใช่ลอกนั้น ควรจะมีอยู่ที่ไหน และถ้ามีอยู่ มันควรจะมีอยู่ในระดับไหน เขตแดนใด ถึงจะเหมาะสม โดยไม่ถูกฟ้อง ? หมายความว่า ถ้าเราจะมีการสร้างพ่อมดบ้าง เราจะเลียนแบบอะไรบ้าง เช่น เพศ อำนาจ ไม้คฑา หรือการหายตัว แล้วไม่ถูกฟ้อง
การเลียนแบบแคแรคเตอร์ในอดีตนั้น เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งเวอร์ชั่นของตัวละครและตัวเรื่อง เช่น เล็กเซียวหงส์ จอมยุทธในวรรณกรรมจีนนั้น จริงๆ ก็มีที่มาจากนักสืบอย่าง “เชอร์ล็อคโฮลม์”
หรือวรรณกรรมนิยายจีนคลาสสิคอย่าง “กระบี่ ผีเสื้อ ดาวตก” ก็เอามาจากหนังสือสุดยอดอย่าง The Godfather ของ มาริโอ พูโซ
สิ่งที่อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมาจริงๆ จังๆ ก็คือ ถ้าการเลียนแบบนั้นเป็น “สิทธิ” หรือ “ความชอบธรรม” ได้ เขตแดน พรมแดน หรือเส้นหนาๆ มันอยู่ตรงไหน และอะไรคือ copy กับ inspiration อะไรคือ ลอกกับอะไรคือเลียนแบบ ?
คำว่า Copyright to be the “Copy” ยังไม่ทันจะหาความกระจ่างได้จริงๆ จังๆ ศัพท์อีกคำที่ CNN คุ้ยขึ้นมาเป็นประเด็นก็คือ Matching Rights แล้วที่มาของคำนี้ก็มาจากอีกแวดวงหนึ่ง แต่เหตุผลคือธุรกิจ นั่นคือ แบรนด์กีฬาอย่าง ไนกี้ กับ นิวบาลานซ์ และลิเวอร์พูล กำลังนัวเนียในการหาความกันว่า ใครควรจะเป็นฝ่ายได้ “สิทธิในการจับคู่”?
ตามข่าวนั้น นิวบาลานซ์ มีสิทธิ์จะได้ต่อสัญญากับสโมสรลิเวอร์พูล สำหรับสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งคอมมิทเดิมระหว่างการใช้เสื้อ NB จะหมดสัญญาลงในปีนี้ และแบรนด์อย่างไนกี้เสนอตัวเข้ามาเป็น “คู่หมั้น” รายใหม่ของหงส์แดง
แม้ทีมจากแอนฟิล์ดจะมีทีท่าและชายตาไปยังไนกี้ แต่นิวบาลานซ์กับแฟนลิเวอร์พูล กลับรู้สึกว่าสโมสรควรอยู่กับแบรนด์เดิมต่อไป เพราะได้มีการก่อร่างสร้างตัวกันมานาน ตั้งแต่ยังไม่ได้แชมป์อะไร จนมาถึงแชมป์ยุโรป ครั้งที่ 6
สมมติว่า ไนกี้อ้างว่า ตลาดของพวกเขาเป็น global market รองรับการเติบโตของสโมสรได้มากกว่า แต่นิวบาลานซ์ อาจเถียงว่า แต่ด้วยสัญญาและด้วยท่าทีที่มีกันมา NB มีความชอบธรรมมากกว่า หรือมีสิทธิที่จะจับคู่(matching rights) ได้มากกว่ามั้ย
แล้วถ้าสิทธิในการจับคู่มีอยู่จริง ใครควรจะได้สิทธินี้ ระหว่าง สโมสรลิเวอร์พูลเลือก NB กับ Nike หรือ NB เลือกสโมสรก่อน Nike คล้ายๆ ว่า สไปเดอร์แมน มีสิทธิ์จะเลือกมั้ยว่า เขาควรจะกลับอาณาจักรของมาร์เวล หรือออกไปสร้างเนื้อสร้างตัว ในนาม Spider-verse
หรือว่า เล็กเซียวหงส์ ต้องยิงปืน แทนใช้เพลงยุทธ
หรือว่า แม่มดตัวต่อๆ ไป ต้องใช้อาวุธลับ แทนไม้คฑา
หากว่า Copyright to be the copy หรือ Matching rights ยัง “ฝุ่นตลบ” แบบนี้ ?…