มุสโสลินี เผด็จการฟาสซิสต์ชาวอิตาเลียนเคยกล่าวไว้ว่า “War is to men as maternity is to women” “สงครามเป็นเรื่องของผู้ชายฉันใด ความเป็นแม่ก็คือเรื่องของผู้หญิงฉันนั้น”
แม้จะเป็นคำกล่าวที่นานมาแล้วแต่เชื่อสิครับว่าแนวคิดดังกล่าวยังแฝงตัวอยู่ในโลกปัจจุบันไม่ได้หายไปไหน ถึงโลกเราจะมีพลวัตรเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ความคิด น้อมรับเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายมากขึ้น สงคราม ก็ยังเป็นหัวข้อที่เชื่อมโยงกับบุรุษเพศมากกว่าสตรีเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้อ่านลองพิจารณากรณีล่าสุดของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนดูครับ ผู้มีบทบาทในความขัดแย้งของทั้งสองฟากล้วนเป็นสุภาพบุรุษทั้งนั้น ประธานาธิบดีทั้ง 2 คน ผู้ห้อมล้อมให้คำปรึกษา นายพล รวมไปถึงทีมงานที่ทำการเจรจาสันติภาพ ภาพทั้งหมดเราไม่เห็นสุภาพสตรีแม้แต่คนเดียวปรากฎ ไม่เชื่อลองไปหาดูได้ครับ นั่นหมายความว่าบทบาทของสตรีเพศในกรณีพิพาทของทั้งสองประเทศนี้ถูกลิดรอนออกไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ภาพของการประท้วงต่อต้านการทำสงครามรุกรานยูเครนภายในรัสเซียเองกลับเห็นสตรีเพศออกมาเดินขบวนเรียกร้อง โดนฝ่ายปกครองควบคุมตัวไปก็หลายคน
ในขณะเดียวกันผู้นำกลุ่มนาโต้ 30 ประเทศที่ร่วมประชุมหารือเรื่องสงครามยูเครนมีเพียงแค่ 4 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้นำเป็นสตรี สถิติระหว่างปี 2015-2019 บอกว่าจำนวนสตรีเพศที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาและลงนามเพื่อสันติภาพระดับโลกไม่ถึง 15% ในขณะที่สถิติก็บอกว่าการเจรจาสันติภาพใดที่มีสตรีเพศเข้าร่วมในฐานะคู่เจรจาจะมีโอกาสที่สันติภาพจะยาวนานได้ 15 ปีขึ้นไป สูงกว่าการเจรจาที่มีแต่สุภาพบุรุษเพศเดียวถึง 35% หรือเราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์กัน?
นี่เป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าในโลกของความขัดแย้ง สงคราม สตรีเพศยังไม่มีบทบาทมากนัก แล้วคำถามคือว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้สตรีเพศมีบทบาทมากขึ้น จะมีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งบรรเทาลงได้ไหม จากสถิติที่เค้าเคยศึกษากันมาชัดเจนว่าคำตอบคือ ใช่ครับ
หนังสือชื่อว่า Sex and World Peace ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2014 เค้าวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในอดีตแล้วบอกว่า ความมั่นคงในสถานภาพของสตรีเพศและความเสมอภาคทางเพศคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ และโอกาสของความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศ และเป็นดัชนีชี้วัดสันติภาพระหว่างประเทศได้ดีกว่าดัชนีทางด้านความยากจนมั่งคั่ง การพัฒนาของระบบประชาธิปไตย และความเชื่อทางศาสนาเสียอีกครับ เพราะสุดท้ายแล้วการที่สังคมให้ความสำคัญกับสตรีเพศและสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศก็คือการปูพื้นฐานให้สังคมนั้นๆ มีความมั่งคั่งสูงกว่า มั่นคง และมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า โอกาสที่จะมีความขัดแย้งกับคนอื่นก็ลดลงโดยปริยาย
หนังสือเล่มดังกล่าวบอกว่า รัฐบาลใดที่สตรีเพศมีบทบาทสูงหรือเป็นผู้นำ จะเป็นรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการทางสังคม การให้การปกป้องทางกฎหมาย และความโปร่งใสในการทำธุรกรรมของรัฐสูงกว่าปกติ ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประชาชนในประเทศมีความสุข และไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะต้องก่อความขัดแย้งหรือสร้างศัตรูทั้งในและนอกประเทศด้วย
หรือแม้กระทั่งเกิดสงครามขึ้นแล้ว (ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดตั้งแต่แรก) บทบาทของสตรีเพศในกองทัพก็มีนัยยะต่อบริบทของสงครามด้วยเช่นกัน เชื่อกันว่าหากกองทัพให้ความเคารพในสิทธิสตรี ใส่ใจสวัสดิภาพของสตรี และไม่ได้สวมวิญญาณชายชาติทหารอย่างไม่ลืมหูลืมตาจะช่วยลดความโหดร้ายของสงครามลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศในกองทัพเอง การล่วงละเมิด ข่มขืน การใช้กำลังเกินความจำเป็น การทรมาน จะลดน้อยลง ซึ่งก็จะช่วยให้ความเกลียดชังและเพลิงแค้นไม่ถูกกระพือลุกลามมากเกินความจำเป็น
ในกรณีของรัสเซียและยูเครนนี้ก็ดูเหมือนจะมีความแตกต่างในเรื่องนี้ด้วย โดยโครงสร้างสังคมของยูเครนแล้วเป็นประเทศที่มีการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมากกว่ารัสเซียเยอะครับ ทำให้กองกำลังยูเครนประกอบไปด้วยสตรีเพศเป็นสัดส่วนถึง 16% หรือกว่า 31,000 ราย ซึ่งร้อยกว่าคนจากจำนวนนี้เป็นผู้บังคับบัญชากองร้อยหรือสูงกว่า ในขณะที่ฟากรัสเซียยังยึดมั่นและมีการปฏิบัติต่อทหารของตนด้วยทัศคติชายชาติทหารที่ก้าวร้าว หุนหัน และเน้นความรุนแรง ซึ่งจากเกือบเดือนที่ผ่านมาดูเหมือนยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซียดูจะสู้ยูเครนที่มีกำลังน้อยกว่าไม่ได้ โดนตอบโต้ ล่าถอย เสียหาย ไม่น้อย แม้จะมีกำลังมากกว่าหลายเท่าก็ตาม
ท้ายสุดนี้ ไม่มีใครอยากให้สงครามเกิดขึ้น และหวังว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะจบลงได้โดยเร็วผ่านโต๊ะเจรจาที่มีสตรีเพศเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย นั่นคือภาพที่ผมอยากเห็น ไม่ใช่ภาพของเด็กและสตรีที่ประสบภัยจากสงคราม บาดเจ็บ เสียชีวิต ต้องลี้ภัย ถูกพรากจากครอบครัวและคนรักครับ #NoWar