เพศสภาพ สงคราม และสันติภาพ

มุสโสลินี เผด็จการฟาสซิสต์ชาวอิตาเลียนเคยกล่าวไว้ว่า “War is to men as maternity is to women” “สงครามเป็นเรื่องของผู้ชายฉันใด ความเป็นแม่ก็คือเรื่องของผู้หญิงฉันนั้น”

แม้จะเป็นคำกล่าวที่นานมาแล้วแต่เชื่อสิครับว่าแนวคิดดังกล่าวยังแฝงตัวอยู่ในโลกปัจจุบันไม่ได้หายไปไหน ถึงโลกเราจะมีพลวัตรเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ความคิด น้อมรับเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลายมากขึ้น สงคราม ก็ยังเป็นหัวข้อที่เชื่อมโยงกับบุรุษเพศมากกว่าสตรีเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้อ่านลองพิจารณากรณีล่าสุดของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนดูครับ ผู้มีบทบาทในความขัดแย้งของทั้งสองฟากล้วนเป็นสุภาพบุรุษทั้งนั้น ประธานาธิบดีทั้ง 2 คน ผู้ห้อมล้อมให้คำปรึกษา นายพล รวมไปถึงทีมงานที่ทำการเจรจาสันติภาพ ภาพทั้งหมดเราไม่เห็นสุภาพสตรีแม้แต่คนเดียวปรากฎ ไม่เชื่อลองไปหาดูได้ครับ นั่นหมายความว่าบทบาทของสตรีเพศในกรณีพิพาทของทั้งสองประเทศนี้ถูกลิดรอนออกไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ภาพของการประท้วงต่อต้านการทำสงครามรุกรานยูเครนภายในรัสเซียเองกลับเห็นสตรีเพศออกมาเดินขบวนเรียกร้อง โดนฝ่ายปกครองควบคุมตัวไปก็หลายคน

ในขณะเดียวกันผู้นำกลุ่มนาโต้ 30 ประเทศที่ร่วมประชุมหารือเรื่องสงครามยูเครนมีเพียงแค่ 4 ประเทศเท่านั้นที่มีผู้นำเป็นสตรี สถิติระหว่างปี 2015-2019 บอกว่าจำนวนสตรีเพศที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาและลงนามเพื่อสันติภาพระดับโลกไม่ถึง 15% ในขณะที่สถิติก็บอกว่าการเจรจาสันติภาพใดที่มีสตรีเพศเข้าร่วมในฐานะคู่เจรจาจะมีโอกาสที่สันติภาพจะยาวนานได้ 15 ปีขึ้นไป สูงกว่าการเจรจาที่มีแต่สุภาพบุรุษเพศเดียวถึง 35% หรือเราไม่เคยเรียนรู้จากประวัติศาสตร์กัน?

นี่เป็นเพียงตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าในโลกของความขัดแย้ง สงคราม สตรีเพศยังไม่มีบทบาทมากนัก แล้วคำถามคือว่า ถ้าเราเปิดโอกาสให้สตรีเพศมีบทบาทมากขึ้น จะมีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งบรรเทาลงได้ไหม จากสถิติที่เค้าเคยศึกษากันมาชัดเจนว่าคำตอบคือ ใช่ครับ

หนังสือชื่อว่า Sex and World Peace ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2014 เค้าวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ในอดีตแล้วบอกว่า ความมั่นคงในสถานภาพของสตรีเพศและความเสมอภาคทางเพศคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ และโอกาสของความขัดแย้งและสงครามระหว่างประเทศ และเป็นดัชนีชี้วัดสันติภาพระหว่างประเทศได้ดีกว่าดัชนีทางด้านความยากจนมั่งคั่ง การพัฒนาของระบบประชาธิปไตย และความเชื่อทางศาสนาเสียอีกครับ เพราะสุดท้ายแล้วการที่สังคมให้ความสำคัญกับสตรีเพศและสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศก็คือการปูพื้นฐานให้สังคมนั้นๆ มีความมั่งคั่งสูงกว่า มั่นคง และมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า โอกาสที่จะมีความขัดแย้งกับคนอื่นก็ลดลงโดยปริยาย

หนังสือเล่มดังกล่าวบอกว่า รัฐบาลใดที่สตรีเพศมีบทบาทสูงหรือเป็นผู้นำ จะเป็นรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการทางสังคม การให้การปกป้องทางกฎหมาย และความโปร่งใสในการทำธุรกรรมของรัฐสูงกว่าปกติ ซึ่งก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประชาชนในประเทศมีความสุข และไม่มีเหตุผลใดที่รัฐจะต้องก่อความขัดแย้งหรือสร้างศัตรูทั้งในและนอกประเทศด้วย

หรือแม้กระทั่งเกิดสงครามขึ้นแล้ว (ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดตั้งแต่แรก) บทบาทของสตรีเพศในกองทัพก็มีนัยยะต่อบริบทของสงครามด้วยเช่นกัน เชื่อกันว่าหากกองทัพให้ความเคารพในสิทธิสตรี ใส่ใจสวัสดิภาพของสตรี และไม่ได้สวมวิญญาณชายชาติทหารอย่างไม่ลืมหูลืมตาจะช่วยลดความโหดร้ายของสงครามลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเพศในกองทัพเอง การล่วงละเมิด ข่มขืน การใช้กำลังเกินความจำเป็น การทรมาน จะลดน้อยลง ซึ่งก็จะช่วยให้ความเกลียดชังและเพลิงแค้นไม่ถูกกระพือลุกลามมากเกินความจำเป็น

ในกรณีของรัสเซียและยูเครนนี้ก็ดูเหมือนจะมีความแตกต่างในเรื่องนี้ด้วย โดยโครงสร้างสังคมของยูเครนแล้วเป็นประเทศที่มีการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมากกว่ารัสเซียเยอะครับ ทำให้กองกำลังยูเครนประกอบไปด้วยสตรีเพศเป็นสัดส่วนถึง 16% หรือกว่า 31,000 ราย ซึ่งร้อยกว่าคนจากจำนวนนี้เป็นผู้บังคับบัญชากองร้อยหรือสูงกว่า ในขณะที่ฟากรัสเซียยังยึดมั่นและมีการปฏิบัติต่อทหารของตนด้วยทัศคติชายชาติทหารที่ก้าวร้าว หุนหัน และเน้นความรุนแรง ซึ่งจากเกือบเดือนที่ผ่านมาดูเหมือนยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซียดูจะสู้ยูเครนที่มีกำลังน้อยกว่าไม่ได้ โดนตอบโต้ ล่าถอย เสียหาย ไม่น้อย แม้จะมีกำลังมากกว่าหลายเท่าก็ตาม

ท้ายสุดนี้ ไม่มีใครอยากให้สงครามเกิดขึ้น และหวังว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะจบลงได้โดยเร็วผ่านโต๊ะเจรจาที่มีสตรีเพศเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย นั่นคือภาพที่ผมอยากเห็น ไม่ใช่ภาพของเด็กและสตรีที่ประสบภัยจากสงคราม บาดเจ็บ เสียชีวิต ต้องลี้ภัย ถูกพรากจากครอบครัวและคนรักครับ #NoWar

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน