การก้าวหน้าของวิทยาการในศาสตร์ต่างๆ รวมถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาในช่วงที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลนี้ แม้ว่าจะส่งให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของมนุษย์มากมาย แต่การอยู่ร่วมกันนี้ก็ทำให้เกิดมลพิษทางธรรมชาติ จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติอย่างรวดเร็ว
แต่ในปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิตมากเกินไป ก็ทำให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบการใช้งานพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก (Renewable energy) ที่กำลังถูกพัฒนาเพื่อนำมาทดแทนการใช้พลังงานจากธรรมชาติที่อาจหมดไปในอนาคต รวมถึงเป็นพลังงานที่สะอาด ซึ่งหมายความว่าเป็นพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในระยะยาว
โซล่าร์เซลล์ เป็นหนึ่งในการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จากการวิจัยของ Green Tech Media (GTM) ซึ่งเป็นผู้ทำการติดตามโครงการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์พบว่า ในปี 2017 มีการเติบโตของตลาดโซล่าเซลล์ถึง 26% และสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 99 กิกกะวัตต์ โดยได้คาดการณ์ว่าในปี 2018 นี้ จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 106 กิกกะวัตต์จากการเติบโตของโซล่าเซลล์ในตลาดโลก
ทำความรู้จักกับ “โซล่าร์เซลล์” มากขึ้น
โซล่าร์เซลล์ เป็นเทคโนโลยีการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการใช้พลังงานจากธรรมชาติอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ จุดเด่นของโซล่าร์เซลล์คือเป็นกระบวนการที่สะอาดและไม่ปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากโซล่าร์เซลล์ยังสามารถนำไปใช้ได้ทันที ผู้บริโภคสามารถใช้โซล่าร์เซลล์ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนเหมือนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแผงโซล่าร์เซลล์เรียกได้ว่าเป็นพลังงานสีเขียว เนื่องจากมีความปลอดภัยสูงที่ไม่ปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ ควัน หรือมลพิษอื่นๆ ออกมาในระหว่างกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน โดยแผงวงจรหนึ่งชุดในสามารถใช้งานได้ถึง 25-30 ปี เป็นอย่างน้อย
ในขณะที่ถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป แต่พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงมายังผิวโลกในไม่กี่ชั่วโมงนั้นสามารถทำให้แผงโซล่าร์เซลล์ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก
5 นวัตกรรมจาก “โซล่าร์เซลล์” ที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2018
1. โซล่าร์เซลล์ที่รวมเข้ากับสิ่งปลูกสร้าง
แผงโซล่าร์เซลล์ตามบ้านที่เราเคยเห็นกันนั้น มักมีขนาดใหญ่และใช้พื้นที่บริเวณบ้านไปจำนวนมากเพื่อการติดตั้ง ทำให้แผงโซล่าร์เซลล์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ติดตั้งอยู่กับส่วนที่รับแสงของในบ้าน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างได้เลย โดยสามารถช่วยลดพื้นที่แต่ยังคงประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้
เช่น กระจกโซล่าร์เซลล์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออาคารสูงที่รับแสงแดดได้ดี โดยตัวของโซล่าร์เซลล์เองก็จะถูกติดตั้งรวมเข้ากับแผ่นกระจกเพื่อทำการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในตึกได้ และยังสามารถมองเห็นภายนอกอาคารได้เหมือนกระจกทั่วไป
2. โซล่าร์เซลล์กับยานพาหนะ
ในช่วงแรกแผงโซล่าร์เซลล์ถูกตั้งไว้กับดาวเทียมที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกอวกาศ ซึ่งต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสร้างพลังงานไฟฟ้าเพื่อการทำงานของดาวเทียม หลังจากนั้นโซล่าร์เซลล์ค่อยๆ ถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาขึ้นเพื่อใช้กับเครื่องบิน เรือ รถบัส รวมถึงการใช้ติดตั้งบนถนนไฮเวย์ Route 66 ในอเมริกา ที่ใช้พลังงานจากโซล่าร์เซลล์เพื่อเปิดไฟถนนในเวลากลางคืน รวมถึงการทำความร้อนเพื่อละลายหิมะที่ปลกคลุมถนนในช่วงที่หิมะตกด้วย
3. โซล่าร์เซลล์ที่สวมใส่ได้
ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ที่เราเห็นว่าโซล่าร์เซลล์เริ่มมีขนาดเล็กลง โดยถูกนำไปติดใช้งานกับอุปกรณ์ที่พกพาติดตัวได้ อย่าง นาฬิกาข้อมือ เครื่องคิดเลข หรือแม้กระทั้ง Power Bank อุปกรณ์บนขนาดเล็กที่ใช้สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ
แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการออกแบบโซล่าร์เซลล์ให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเข้าไปรวมกับเส้นใยเสื้อผ้า และถักทอออกมาเป็นเครื่องนุ่งห่มที่สามารถเป็นโซล่าร์เซลล์ได้ เมื่อคุณสวมชุดหรือเสื้อผ้าเหล่านี้ออกไปเดินบนถนนที่มีแสงแดด เสื้อของคุณจะทำการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากแสงอาทิตย์ จนสามารถนำไปชาร์จกับแกตเจ็ท (Gadget) ขนาดเล็กอย่างเครื่องเล่น MP3, iPod, Smart watch ไปจนถึง Smartphone ได้
4. แบตเตอรี่พลังงานโซล่าร์
แบตเตอรี่พลังงานโซล่า มีความคล้ายคลึงกับการทำงานของ Power bank คือการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าแบบพกพา แต่สำหรับแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าแล้วถูกใช้กับที่บ้านหรือที่พักอาศัยที่ต้องการประหยัดพลังงาน ด้วยการนำไปวางหรือติดตั้งที่นอกบ้านเพื่อรับแสงอาทิตย์และสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้า และจะทำการเก็บพลังงานไฟฟ้าเหล่านั้นไว้เพื่อนำไปใช้งานกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ในบ้านได้
5. เครื่องกลั่นน้ำทะเลพลังงานโซล่าร์
กระบวนการกลั่นน้ำทะเลเป็นการแยกเอาเกลือและแร่ธาตุต่างๆ ออกจากน้ำเกลือเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำสะอาด โดยสามารถผลิตน้ำสะอาดให้กับประชากรกว่า 300 ล้านคนที่อยู่ในแหล่งที่มีภาวะขาดแคลนน้ำสะอาด ด้วยเครื่องกลั่นน้ำทะเลนี้สามารถช่วยเหลือประชากรจำนวนมากจากภาวะขาดแคลนน้ำดื่มในพื้นที่ที่ห่างไกล โดยภายหลังได้มีการพัฒนาให้เครื่องกลั่นน้ำทะเลนี้ สามารถผลิตน้ำสะอาดได้ในพื้นที่ที่ประสบภัยแห้งแล้ง หรือพื้นที่ภัยพิบัติต่างได้อีกด้วย
สรุป
ในยุคดิจิทัลผู้คนยังคงติดตามเทรนการเกิดใหม่ของนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นเองก็เป็นเรื่องของการใช้พลังงานสีเขียวเพื่อการใช้ชีวิตระหว่างโลกเทคโนโลยีกับสิ่งแวดล้อมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างดี โดยที่นวัตกรรมโซล่าร์เซลล์เองก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีของการสร้างพลังงานไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด และไม่สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอีกด้วย