มีเด็กนักเรียนนักศึกษากลุ่มหนึ่ง นั่งคุยกันว่า พวกเขาอยากนัดกันไปดูหนัง Tenet ของ “เสด็จพ่อโนแลน” ด้วยกิตติศักดิ์ร่ำลือ ถึงความลึก ล้ำ และเท่ ของผู้กำกับคนนี้
หลายพูดกันว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน คือคนทำหนังที่ “แนว” สุดแล้วในตอนนี้ แต่จะว่าไปไม่น่าใช่ เพราะหนังแนวๆ นี้ที่แจ้งเกิดให้กับเขา ทำให้ชื่อของ “โนแลน” เป็นที่รู้จักคือเรื่อง Memento หนังที่เล่าเรื่องแบบย้อนเวลาเมื่อปี 2000 … นี่ก็ 20 ปีมาแล้ว
หนังเรื่องที่ยกตัวอย่างถึงนี้ เล่าเรื่องจากหน้ามาหลัง ย้อนไปมา บทแน่น วิธีคิดใหม่ จนปีนั้น “ท่านมุ้ย” หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งทำรายการหนังทางเว็บไซต์กับผมยังเอ่ยปากว่าเป็น “หนังในดวงใจ” ของท่าน
จะว่าไป โนแลน มีเทคนิคและสไตล์การเล่าเรื่องเหมือนกับ หว่อง คาร์-ไว ที่ถือเป็นคนแรกที่เล่นกับเงื่อนไขของเวลา การตัดต่อฉับไว ส่งเสริมดราม่า แต่ หว่อง คาร์-ไว จะใช้เทคนิคแบบ “เชื่อมเน้น” ความเปลี่ยวเหงา อ้างว้าง ของหนุ่มสาวร่วมสมัยเสียมากกว่า
และไม่ขอเอาใจ “ติ่ง” โนแลนใดๆ ทั้งสิ้น!
ผมขอฟันธงว่า อีกสัก 20-30 ปีข้างหน้า งานของ หว่อง จะถูกจดจำ บันทึก และใช้เป็นหมุดหมายอ้างอิงทางหนังของ “สำนักภาพยนตร์” มากกว่า โนแลน หรืออีกทางหนึ่ง คนดูในอนาคตจะจดจำ “สาวผมทอง” ใน Chungking Express ได้มากกว่า นีล ใน Tenet เหมือนๆ กับที่แฟนหนังในวันข้างหน้า จะนึกถึง “ชู้รัก” ใน In The Mood For Love มากกว่า… นักมายากลใน The Prestige
เพราะ “ตัวละคร” ของโนแลน ค่อนข้างห่างเหินกับคนดู ไม่เหมือนตัวละครของ หว่อง ที่คัดลอกมาจากชีวิตผู้ชมมากมาย…
หลังจากถูกชวนไปดูรอบแรก บ่ายสาม เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมภาวนาให้ มู่หลาน กับ Tenet ทำเงินมากๆ ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือ เพื่อดึงบรรยากาศการดูหนังกลับมาหลังจากโควิด ถ้าหนังได้เงินเยอะ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ทำท่าจะ “ล้มทั้งยืน” ในปีนี้ ก็จะมีกำลังใจ มันก็จะส่งผลไปยังวงการอื่นๆ คือถ้าสองเรื่องนี้ไม่มีตัวเลข บอกได้เลยว่า ทุกเรื่องของปีนี้ “ช้อยเก็บฉาก” แน่นอน แม้แต่ 007 !
เจมส์ บอนด์ 007 จึงกำลังจับตามองไปที่ มู่หลาน กับ Tenet ในช่วงปลายสิงหา-ต้นกันยานี้ก่อนว่า คำตอบจะเป็นอย่างไร
ตอนที่เดินออกมาจากโรงหนัง หลังจากดู Tenet จบ คุณ เฮนรี ทราน ผู้บริหารดึงผมไปออกรายการหนังของเขา แล้วเขาก็ถามผมว่า ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้จะได้เงินเท่าไหร่ (ตอนยังไม่ record) เป็นคำถามที่ชวนคิด เพราะผมเองก็ไม่มั่นใจว่า Tenet จะได้ตัวเลขแบบหนังหลายเรื่องของ โนแลน รึเปล่า ขอให้ได้เงินนะครับ แต่ถ้าไม่ได้… นี่คือ 5 เหตุผลที่หนังเรื่องนี้จะ “แป๊ก” !
1. งง
ขณะที่ หว่อง คาร์-ไว เป็นสาย Spontaneous หรือมีลักษณะ “ด้นสด” อิมไพรไวส์ แต่งานของ โนแลน เป็นสาย Epistemology หรือ ญาณวิทยา กระเดียดไปทางปรัชญา ความคิด และการตั้งคำถาม (แต่มันถูกครอบด้วยแอ๊คชั่นตื่นเต้นอีกที) ซึ่งสังคมไทยนั้น ชอบหนังที่ลึก เท่ ดูแล้วคราง “โห เจ๋งว่ะ” แต่ไม่ได้ชอบหนังที่ดูแล้ว ออกมาเกาหัว แคว๊กๆ แล้วบ่นว่า “อะไรของมันวะ 555” … Tenet จึงเผชิญหน้ากับสองด้านพร้อมๆ กัน นั่นคือ ถ้าเด็กๆ รุ่นใหม่ ดูแล้วบอกว่าเข้าใจ สนุก เจ๋ง เหมือน Inception หนังจะทำงานกับบ็อกซ-ออฟฟิศ แต่ถ้าออกมาเกาหัว ทวิตเตอร์ ออนไลน์ จะกลายเป็นคมที่สองของดาบที่กลับมาทำลายหนังเองว่า ดูยาก ! จบข่าว คำว่า “ดูยาก” เป็น word ที่ทำร้ายหนังมาหลายเรื่องแล้วครับ แล้ว Tenet กำลังออกไปทาง “ดูยาก” มากกว่า “ดูเจ๋ง” เสียด้วย
2. สาละวนกับการย้อนเวลา
จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อหนังแบบโนแลนนั้น แจ้งเกิด และเป็นที่จดจำ ก็มาจากการสร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลา ทุกเรื่องมันจึงเป็นเหมือนซิกเนเจอร์ หรือเครื่องหมายการค้าของเขาไปแล้ว ขนาดไตรภาคของ Batman ไม่เคยมีเรื่องของเวลามาก่อน เขายังสร้างการแก้ไขสถานการณ์ด้วยเวลาอยู่ดี
พอมาถึง Tenet การเล่นกับเวลา จะย้อนหน้าหรือย้อนหลัง จึงต้องมีแน่นอน (หรือในทางหนึ่ง – เวลา คือ ตัวละครตัวหนึ่ง ด้วยซ้ำ) เมื่อหนังยัดเรื่องของ “การย้อนเวลาไปมา” มากมาย และเยอะมาก สิ่งที่โนแลนต้องเลือกคือ เทคนิคหรือสไตล์ มากกว่า ที่มาของตัวละคร, ความสัมพันธ์ของแคแรคเตอร์, เรื่องราวผูกพันที่เป็น “เนื้อเรื่อง” สิ่งนี้นำไปสู่ “ข้อที่สาม” ครับ
3. ใครจะตายในหนัง คนดูไม่เสียใจ
การทำหนังให้คนดูชอบ ชมว่าสนุกนั้น มีอยู่ 4 ข้อครับ และ 1 ใน 4 นั้นก็คือ คุณต้องทำให้คนดูผูกพัน รู้จัก กับตัวละครในหนัง เมื่อรู้จักที่มาที่ไป ก็จะผูกพัน เมื่อตัวละครเจออะไร จะเศร้า ดีใจ ลุ้น เหมือนเป็นเพื่อนของเขา บางคนเรียกสิ่งนี้ว่า ดราม่า คือมีความผูกพันกับแคแรคเตอร์ แต่งงานก็ดีใจ ตายก็สะเทือนใจ
Tenet ไม่มีส่วนนี้เลยครับ ไม่มีตัวละครสักคนเดียว ที่ทำให้คนดูรัก หรือผูกพัน… แม้แต่จะรู้จัก สิ่งที่เห็นคือ มีสายลับนักกอบกู้สองคน ตามแนวทาง buddy film ที่เก่งเกินมนุษย์ คอยสาละวนกับการย้อนเวลาๆๆๆ และย้อนเวลา พอต้องย้อนเวลา หนังจึงหมดไปกับการให้เวลา วิ่งแก้ไขปัญหา จนคนดูไม่เสียใจถ้าใครตาย และไม่ดีใจถ้าใครรอดหรือแต่งงานกัน ภาษาหนังเรียกว่า “ดราม่าของหนัง ไม่ทำงาน” เพราะคนดูไม่เคยได้รู้จักว่า คู่หูของพระเอกเป็นใคร
4. ไอแมกซ์ ?
อย่างที่ทราบครับ สื่อและบล็อคเกอร์มากมายหลายคนรายงานว่า หนังเรื่อง Tenet ต้องดูที่ไอแมกซ์ เพราะหนังสร้างมาเพื่อฟอร์แมทนี้ …แต่ผมเห็นแย้งครับ ! ผมให้สัมภาษณ์กับทีวีหน้าโรงไปว่า ถ้ามีเวลารอได้ ดูไอแมกซ์ก็โอเค แต่ถ้าไม่มีเวลามาเอ้อระเหย จะดูโรงแบบไหนก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ ดู SF ดูเมเจอร์ ดู House สามย่าน ก็ได้ มันยิ่งเป็นประโยชน์ในวงกว้าง
ในภาพรวมตอนนี้ ตลาดหนังเหมือนตลาดอาหารครับ เราจะไปมุ่งกินแต่ร้านขายข้าวร้านเดียว โดยให้อีก 30 ร้าน ไม่มีลูกค้าไม่น่าจะดีในแง่ของอุตสาหกรรม เพราะถ้าสื่อป้อนแต่ไอแมกซ์โรงเดียว คำถามคือ ในหนึ่งวัน ฉายได้กี่รอบ? และอีกหลายพันโรง ที่ไม่ใช่ไอแมกซ์ จะทำอย่างไรดี
ผมจึงปรารถนาดี พูดออกทีวีไปว่า “ดูที่ไหนก็ได้ครับ ไม่จำเป็นต้องไอแมกซ์ หนัง Tenet มันเป็นหนัง spectacle อยู่แล้ว โครมครามๆ ด้วยเสียงและภาพ ยังไงก็ตื่นเต้น” (ก่อนที่จะออกมางงกับหนังต่อ)
5. “ตลาดบน” more than “ตลาดล่าง”
ผมขอเปรียบเทียบแบบนี้ครับ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน… ถ้าหนัง Fast & Furious คือเพลง เสก โลโซ , หนัง Tenet คือเพลงแบบ ตูน บอดี้สแลม
ไม่มีใครด้อยคุณค่านะครับ เพลงและเนื้อเพลงทั้งสองท่านล้วนมีคุณค่าทางการฟัง และทำงานกับคนฟังจนประสบความสำเร็จระดับประเทศ
เมื่อเนื้อหนัง แนวภาพยนตร์ของ Tenet อยู่ในตลาดบน ตลาดห้าง ไม่ใช่ตลาดนัด การจะเห็นแมสหรือมวลชนแห่คลั่งไปดู Tenet จึงต้องรอสักหน่อย และมันอาจจะมา หรือไม่มาก็ได้
แต่ให้ระวังสิ่งนี้ นะครับ ระวังคำว่า “ดูเจ๋ง” กับ “ดูยาก”
เพราะถ้าในออนไลน์ มีคำว่า “ดูยาก” และ “งง” มากๆ
เด็กตลาดบน อาจยกเลิก Tenet แล้วนัดกันไปกิน “หมูกระทะ” แทน…