โค้ชแบบไหนที่นำความสนุกมาสู่เกมฟุตบอล

เกมฟุตบอล EPL ในช่วงท้ายปีและเปิดปีใหม่มาคงไม่มีนัดไหนที่เรียกความสนใจได้เท่าเกมระหว่าง Liverpool กับ Manchester City ที่เพิ่งจบไป สำหรับแฟนบอลทั่วไป นัดนี้คือเกมระหว่างทีมอันดับต้นๆ ตารางในฤดูกาลนี้มาเจอกัน แน่นอนมีความน่าสนใจในตัวมันเอง แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมให้ความสนใจ (นอกเหนือจากการเป็นแฟนลิเวอร์พูล) ก็คือเป็นการพบกันระหว่าง 2 โค้ชรุ่นปัจจุบันที่มีความน่าสนใจมากๆ ทั้งแนวคิด การวางแผนทีม การวางตัว ฯลฯ อย่าง Guardiola และ Klopp นั่นเอง

 

สิ่งหนึ่งที่นักวิจารณ์หลายคนเทใจให้กับทั้ง Klopp และ Guardiola ก็คือทั้งสองคนเป็นโค้ชที่สร้างเสน่ห์ให้กับฟุตบอลด้วยสไตล์การทำทีมที่เน้นเกมบุกและสร้างความตื่นเต้นสีสันให้กับแฟนบอลได้อย่างดี ยกตัวอย่าง Guardiola ให้เห็นชัดๆ เลยครับ จากสถิติบอกไว้ว่าก่อนหน้าเกมแม็ทช์ Liverpool VS Man City นี้ ทีมที่ Guardiola เคยคุม (Barcelona, Bayern, Man City) มาจนถึงปัจจุบันนี้นั้นทำประตูรวมกันถึง 1,280 ประตูแล้ว เมื่อรวม 3 ลูกในนัดนี้ ตัว Guardiola มีประวัติเป็นโค้ชมาประมาณ 10 ปี ดังนั้นสรุปง่ายๆ ว่าตั้งแต่เค้าทำทีมมา แต่ละปีทำประตูเฉลี่ย 128 ลูกในแต่ละฤดูกาล ซึ่งน่าจะกินขาดโค้ชคนอื่นแน่นอนครับ

Pep Guardiola

และในฤดูกาลนี้ ทั้ง Liverpool และ Man City ก็นำโด่งเป็น 2 อันดับแรกของทีมใน EPL ที่ทำประตูได้มากสุด มีอัตราการปั้นและจบสกอร์สูงสุด โดยสองทีมนี้ได้มีโอกาสส่องประตูรวมกันถึงกว่า 800 ครั้งไปแล้วเมื่อผ่านไป 23 นัด สรุปแต่ละทีมค่าเฉลี่ยมีโอกาสส่องไปทีมละประมาณ 20 ครั้งต่อเกม เยอะมากนะครับ และในลีกยุโรปนั้นทั้งสองทีมก็มีสถิติการทำประตูเป็นรองก็แค่ PSG เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าลองพิจารณาดีๆ ผมว่าอย่าไปนับ PSG เลยเพราะลีกฝรั่งเศสเองนั้น PSG เหนือกว่าทีมอื่นหลายขุม ใครเจอ PSG ทีมเงินหนาซุปเปอร์สตาร์ขนาดนั้น ยังไงๆ ก็โดน

Jürgen Klopp

ถ้าลองมองในเชิง Tactic แล้ว จะเห็นว่าการทำทีมของทั้ง Klopp และ Guardiola นั้นเป็นแบบ Pressing Football หรือสไตล์การเล่นบอลที่สร้างแรงกดดันด้วยการเซ็ท Formation และไล่ล่าเพื่อบีบให้ทีมตรงข้ามเร่งออกบอลและสร้างเปอร์เซ็นต์ในโอกาสที่จะเล่นพลาดสูงขึ้น ซึ่งสไตล์การทำทีมแบบนี้ที่โดดเด่นในยุคปัจจุบันนอกจาก 2 คนนี้แล้วก็เช่น Ronald Koemann หรือ Pochettino ของ Tottenham แต่ถ้าย้อนไปดูรากเหง้าของสไตล์การเล่นนี้ก็มีตั้งแต่ Rinus Michel อดีตยอดโค้ชชาวดัทช์มาถึง Johan Cruyff แล้วและถ้าในยุคถัดมาเราก็เห็น Arrigo Sacchi อดีตโค้ชของ AC Milan ยุคปลาย 80’s มาถึงปลาย 90’s ที่ทำให้ Milan เป็นยอดทีมในยุคนั้น

มีอีกคำหนึ่งที่มักถูกใช้ในการวิเคราะห์การทำทีมของ Guardiola และ Klopp ก็คือ Counter-Press นั่นคือรูปแบบการเล่นที่เมื่อใดทีมเสียการครองบอลระหว่างการขึ้นเกมบุก สิ่งที่ทีมต้องทำคือพยายามไล่บอลตั้งแต่อยู่ในแดนฝ่ายตรงข้ามและสร้างแรงกดดันให้ทีมตรงข้ามไม่สามารถเปลี่ยนมาทำเกมรุกได้ ต่างกับแทคติกที่โค้ชส่วนมากบอกว่าเมื่อเสียบอลให้ทุกคนลงมาประจำตำแหน่งเพื่อตั้งเกมรับ ลองย้อนกลับไปดูสมัย Guradiola ทำทีม Barcelona ทุกครั้งที่ทีมมีการเสียบอลให้กับทีมตรงข้าม ว่ากันว่า Guardiola จะบอกให้ทุกคนในทีมช่วยกันสร้างแรงกดดันภายใน 7-8 วินาทีแรก ช่วยกันไล่บอลและประกบตัวเพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามขึ้นบอลได้ ซึ่งจะเป็นการบีบให้ทีมตรงข้ามต้องโยนยาวและมีโอกาสเสียการครองบอลง่ายขึ้น

ในรูปแบบการเล่น Counter-Press ของ Guardiola นั้นวัตถุประสงค์จะเป็นเพื่อการป้องกันและประวิงเวลามิให้ทีมตรงข้ามขึ้นเกมได้เร็ว และเพื่อให้ผู้เล่นในตำแหน่งรับมีเวลากลับมาเข้าที่ได้ แต่ถ้าเราดูสไตล์การใช้ Counter-Press ของ Klopp แล้วล่ะก็จะเห็นว่าเค้าเขยิบขึ้นไปอีกขึ้นหนึ่ง Klopp มองว่า ณ โมเมนต์ที่ทีมเค้าสร้างเกมบุกและเสียบอลให้กับคู่ต่อสู้ ไม่ต้องไปกังวลว่าจะต้องรีบปรับรูปเกมให้เตรียมรับ เพราะเค้าบอกว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือฝ่ายตรงข้ามจะปรับ Formation เป็นแบบเตรียมรุก นั่นหมายถึงที่ว่างในเกมรับของคู่ต่อสู้ที่อาจจะเปิดออก และนั่นคือจังหวะที่เหมาะที่สุดที่จะกดดันเพื่อแย่งชิงบอลมาเพื่อเข้าทำประตูเพราะทีมเค้าเองก็ยังอยู่ในรูปแบบการทำเกมบุกอยู่

นั่นคือสไตล์การเล่นที่เราเห็นเค้าใช้กับ Dortmund และ Liverpool ในปัจจุบัน ลองนึกภาพดูครับ ด้วยผู้เล่นอย่าง Mane กับ Salah หรือ Lewandowski กับ Marco Reus ที่มีความเร็วและทักษะสูง ถ้าหากเกมรุกเกิดเสียบอล เกิดการเล่นแบบ Counter-Press ขึ้นทั้งสองยังอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะเปิดเกมบุกต่อ แย่งบอลมาได้เร็วเท่าไหร่โอกาสได้ประตูก็จะมีมากขึ้น

Marco Reus and Lewandowski

สำหรับ Liverpool เมื่อ Coutinho จากไป หลายๆ คนมองว่าจะเป็นจุดที่ทีมต้องจัดการหาวิธีอุดรูรั่วดังกล่าว แต่ Klopp ก็พิสูจน์ให้เห็นในเกมนี้แล้วว่าการขาดดาราไปคนเดียวไม่ได้ส่งผลต่อรูปเกมของทีมเลยแม้แต่น้อยอันเนื่องด้วยกลวิธีและ Tactic ในการจัดทีมและการวางแผนการเล่นของเค้า ซึ่งจะว่าไปเป็นความจำเป็นที่ Klopp เองต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า Liverpool เป็นทีมที่อยู่ได้เองไม่ต้องพึ่งพา Superstar เพียงคนเดียวในการสร้างเกมตามที่เค้าได้ออกปากไว้ สไตล์การเล่น Counter-Press ที่เน้นการบดขยี้เพื่อช่วงชิงและเร่งเกมยังคงอยู่ให้แฟนๆ ได้มันส์กับเกม

ธชตวัน ศรีปาน

ในวงการฟุตบอลไทยเรามักไม่ค่อยได้เห็นการวิเคราะห์มุมมองการทีมของโค้ชทีมในลีกของเราสักเท่าไหร่ ด้วยที่วงการฟุตบอลไทยเรา Glorify นักเตะมากกว่าคนเบื้องหลังก็อาจทำให้เราเทความสำคัญไปให้กับตัวนักเตะมากกว่าแทคติกที่โค้ชได้วางไว้ แต่ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น คุณธชตวัน ศรีปาน ผมเคยได้มีโอกาสพูดคุยด้วยก็ได้ทราบว่าตัวแกเองนั้นก็ชื่นชอบสไตล์ของ Guardiola อยู่ไม่น้อยและได้ทำการศึกษาและทำความเข้าใจรูปแบบการทำทีมและแทคติกเพื่อนำมาประยุกต์กับทีมของตน ก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่โค้ชรุ่นใหม่ๆ ได้ลองคิดดูครับ บางทีของดีมันมีอยู่ให้เราเห็นอยู่แล้ว แค่เราเปิดใจรับมัน ยอมรับว่ามีคนที่เก่งกว่าเรา ศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้ วิเคราะห์ว่าเหมาะไม่เหมาะตรงไหน เลือกหยิบเอาของดีมาใช้ให้ถูกจุด นั่นคือกระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิมได้อย่างหนึ่งแน่นอนครับ

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ฉบับวันที่  12 มกราคม 2561

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน เกี่ยวกับกีฬาและสังคมได้ที่ คลิก

 

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน