The Great Reset
มองอนาคต ผ่านคนต่าง Gen
หรือจะถึงคราวต้องเป็นมนุษย์เป็ด แถมแบกภาระตัวโต!

ในช่วงที่ COVID-19 กระจายตัวไปทั่วโลก หลายคนอาจนึกถึงหรืออาจเคยได้ยินคำที่ว่า “The Great Reset” กันมาบ้าง ก็เพราะ COVID-19 นี้เองได้กลายเป็นเหมือนตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของสังคมเราให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับกดปุ่มรีเซ็ตใหม่!

เมื่อการรีเซ็ตครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ได้ย่างกรายเข้ามา จึงทำให้โลกเริ่มเปลี่ยนไปจากที่เราเคยรู้จัก และแน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่ แล้วแบบนี้โลกอนาคต…จะเป็นอย่างไร?

คุณเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ ตัวแทนคนจากยุค Baby Boomer ที่ผ่านวิกฤตและช่วงเวลาสำคัญมาหลายยุคหลายสมัย จึงได้ชวนคนรุ่นใหม่ต่างวัยที่ทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่าคือ “อนาคต” มาร่วมพูดคุยกันใน SIRI Podcast รายการ “คุยนอกทวีต” ทั้งตัวแทนของ Gen Z อย่างน้องแสนดี-แสนดี เทพเลิศบุญ นักเรียนเกรด 7 จาก VERSO International School ที่เคยกล่าวกับคุณเศรษฐามาแล้วว่าอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ และน้องหมูแฮม-นรมน ปุณยชัยพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 เอก Digital Transformation and Innovation ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ผ่านการฝึกงานกับแสนสิริมาแล้ว

เด็กในโลกปัจจุบัน มุ่งหน้าสู่ความฝันในอนาคต

การเข้ามาของ COVID-19 ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป แน่นอนว่าน้องหมูแฮมและน้องแสนดีเองก็ต้องทำความคุ้นเคยกับการเรียนออนไลน์ที่บ้านมากขึ้น และในช่วงเวลานี้ที่การรักษาสุขภาพต้องวิ่งนำหน้ามาเป็นที่ 1 ก่อนอะไร ก็เป็นช่วงที่การเข้าสังคมหรือการมีความปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆ รวมทั้งมนุษย์ทุกคนต้องลดน้อยลงไป

แต่ไม่ว่าอย่างไรความฝันต่อชีวิตในอนาคตก็ยังคงอยู่ สำหรับน้องแสนดีนั้นเป็นคนหนึ่งที่มุ่งมั่นในการเป็นศัลยแพทย์ผู้ไม่เพียงมีความรู้ในอาชีพของตน แต่ยังมีความรู้และทักษะหลากหลายด้าน เช่นอาจเป็นผู้ประกอบการธุรกิจควบคู่กันไป เพราะอนาคต ไม่ว่าจะอาชีพไหน ก็คงไม่ได้ต้องการแค่คนที่มีความรู้ แต่ต้องการคนที่มีทักษะหลากหลายและนำไปปรับใช้ต่อไปได้ สิ่งนี้เองคุณเศรษฐามองว่าน่าสนใจ เพราะหลายๆ องค์กรระหว่างประเทศในยุคนี้ก็ต่างค้นหาเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เพื่อช่วยค้ำจุนคนที่อายุมากต่อไปอยู่เช่นกัน

เมื่อเด็กต้องแบกปัญหาไว้บนบ่า อนาคตจะก้าวต่อไปอย่างไร?

คุยนอกทวีต

คุณเศรษฐาและเด็กๆ ยังมองว่าการที่เด็กยุคนี้ต้องมีทักษะในหลายๆ ด้านและการต้องเป็นคนประสบความสำเร็จให้ได้ อีกทั้งยังต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมและอะไรอีกมากมายหลายอย่าง ทำให้เด็กต้องมีความรับผิดชอบที่สูงขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นเสมือนภาระอันใหญ่หลวง

เด็กสมัยนี้ต้องแบกภาระเยอะมาก อย่างเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงานหมุนเวียน สมัยก่อนไม่มีใครได้ยินเลยคำว่า Equality ความเท่าเทียมในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องชนชั้น สีผิว เรื่องเพศ ซึ่งผมว่าเป็นอะไรที่เด็กสมัยใหม่ต้องแบกไว้เยอะ แล้วก็ต้องเข้าใจด้วย ถ้าไม่เก่งจริง ไม่เข้าใจสิ่งพวกนี้ ละเลย สังคมในอนาคตจะก้าวไปได้ลำบาก

คุณเศรษฐา ทวีสิน

แม้แต่ในช่วงเวลาแห่งวิกฤติ COVID-19 นี้ ก็ยังสะท้อนให้เราเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศได้ชัดเจน เพราะผู้หญิงกลายเป็นผู้ที่ถูกกระทบกว่าใคร เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน คุณแม่ก็ต้องทำงานจากที่บ้าน ต้องหาข้าวปลาให้ลูกทาน และต้องทำงานบ้านอยู่เช่นเดิม ทั้งๆ ที่งานบ้านไม่ได้เป็นเพียง “งานของผู้หญิง” อย่างที่สมัยก่อนเชื่อกัน นี่ยังน่าแปลกใจว่าเราได้เห็นเชฟระดับโลกมากมายที่เป็นผู้ชาย แต่หลายคนกลับยังมองเป็นเรื่องแปลกในการที่ผู้ชายจะเป็นฝ่ายทำอาหารให้ครอบครัวบ้าง ดังนั้นถ้าเราไม่ยอมหยิบยกเรื่องราวเหล่านี้มาพูดคุยกันหรือเริ่มต้นปลูกฝังจากในโรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาและผู้หญิงก็จะถูกเอาเปรียบต่อไป

โรงเรียนควรให้ความรู้เราในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยไม่ใช่จากมุมมองที่อคติ

น้องแสนดี – แสนดี เทพเลิศบุญ

คุณเศรษฐายังเสริมว่าปัจจุบันโลกของเรา มีผู้หญิงที่เป็น CEO มากขึ้น อย่างเช่น จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) ประธานาธิบดีหญิงนิวซีแลนด์ หรือผู้ทรงอิทธิพลอย่างอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ประธานาธิบดีเยอรมันที่ถือว่าเป็นเหล่าผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองโลกเลยทีเดียว

โลกอนาคตถูกรีเซ็ต! แล้วเรื่องเรียน เรื่องงาน เด็กรุ่นใหม่จะหันไปทางไหนดี?

คุยนอกทวีต

แอบหวั่นๆ เรื่องการหางานอยู่ แม้ว่างานที่จะทำจะเป็นงานที่มีความเฉพาะทางในบางด้าน แต่เราก็ไม่รู้ว่าองค์กรที่เราอยากจะเข้าไปอยู่จะเปิดรับไหม จะมีเงื่อนไขอะไรหรือเปล่า ณ ตอนนั้น

น้องหมูแฮม-นรมน ปุณยชัย

เมื่อนึกถึงโลกหลัง COVID-19 น้องหมูแฮมที่อีกไม่นานจะก้าวสู่วัยทำงานอย่างเต็มตัวก็อดหวั่นใจไม่ได้ว่าที่ที่หมายตาไว้จะเปิดรับเข้าทำงานหรือเปล่า หรือเข้าไปทำงานแล้ว รูปแบบการทำงานอาจเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น อาจต้องทำงานจากที่บ้านเป็นหลัก คุณเศรษฐาจึงได้แนะนำว่าเด็กๆ รุ่นใหม่อาจต้องลองคิด “แผนสอง” เผื่อไว้ด้วยเช่นกัน

สำหรับน้องแสนดีนั้นยังมองว่าท่ามกลางวิกฤตินี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตเสมอ

COVID-19 ทำให้เราต้องเรียนรู้ ปรับตัว และเริ่มต้นใหม่ เพราะมันเปลี่ยนหลายอย่างที่เกี่ยวกับอนาคตไป รุ่นเรายังเด็ก มีความยืดหยุ่นสูง จึงยังปรับตัวได้

น้องแสนดี-แสนดี เทพเลิศบุญ

การทำงานต่างประเทศก็อาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันโลกของเราเป็นโลกไร้พรมแดน จึงต้องเรียนรู้และเตรียมตัวให้ดี โดยน้องหมูแฮมยังชวนให้เราฉุกคิดได้อย่างน่าสนใจ เพราะมองว่าเรื่องภาษาที่ 3 ก็สำคัญ และการเป็น “มนุษย์เป็ด” ที่มีความรู้หลากหลายด้าน เก่งในหลายๆ ทักษะ ต่อไปจะเป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ต้องการ

การเป็นมนุษย์เป็ด ไม่ได้แย่เสมอไป…มนุษย์เป็ดคือคนที่เก่งหลายๆ ด้าน เก่งหลายๆ ทักษะ สมัยก่อนจะมีแต่คนบอกเก่งอย่างนี้ไปเลยสิ เชี่ยวชาญทางนั้นไปเลย แต่จริงๆ แล้ว ในยุคนี้ มนุษย์เป็ดเป็นคนที่หลายๆ องค์กรต้องการ เพราะสามารถทำได้หมดเลย เช่น คนนี้เป็นนักการตลาด แต่ก็สามารถทำกราฟิกได้ด้วย ดูเรื่องการสื่อสารได้ด้วย

น้องหมูแฮม-นรมน ปุณยชัย

คุณเศรษฐายังเน้นว่าสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของการมีทักษะคือทัศนคติของคน เช่น ถ้าเจอคนที่บอกว่าผมทำได้แต่ผมไม่อยากทำ ในช่วงแบบนี้อาจเลือกไม่ได้ที่จะไม่ทำ นอกจากนี้น้องหมูแฮมอาจได้งานไม่ตรงใจมากนัก แต่ถ้าเป็นองค์กรที่ดีก็จะช่วยขัดเกลาเราให้เป็นคนที่มีวินัย มีทักษะในการนำเสนอ และบริหารเวลาได้ดี โดยถือเป็นเรื่องขั้นพื้นฐานที่คนเราต้องพัฒนาให้ได้

เศรษฐา ทวีสิน

ช่วงหลัง COVID-19 อาจเป็นช่วงที่งานที่ตัวเองอยากได้แล้วไม่ได้ แต่ถ้าเขาเห็นว่าเรามีทักษะที่ดี ทัศคติเป็นบวก ก็อาจจะจ้างได้ เพียงแต่อาจต้องไปทำอย่างอื่น…ไปเรียนรู้ก่อน แล้วค่อยก้าวกระโดดไปจากตรงนั้น

คุณเศรษฐา ทวีสิน

คุณเศรษฐายังแนะนำน้องแสนดีว่าเป็นเรื่องที่ดีที่รู้ว่าเราต้องการอะไร แต่อย่าปิดกั้นตัวเอง หากชอบอย่างอื่นและอยากจะเปลี่ยนความฝัน ก็ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองมีทางเลือกด้วยเช่นกัน ส่วนหากน้องหมูแฮมไปไม่ถึงบริษัทที่ต้องการ ก็อาจต้องเรียนต่อไปก่อน โดยเตรียบสอบเก็บคะแนนต่างๆ ไว้ เหมือนกับเป็นแผนสำรอง

น้องแสนดียังได้หยิบคุกกี้สำหรับคนรักสุขภาพที่อบกับมือมาให้คุณเศรษฐาและน้องหมูแฮมได้ลิ้มลอง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการริเริ่มธุรกิจของตัวเองพร้อมๆ กับแฝงการใส่ใจสุขภาพไปด้วยพร้อมๆ กัน คุณเศรษฐาเองมองว่าเป็นเรื่องน่าสนใจมาก โดยในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาอย่างดี เพราะคนที่กินอาหารไม่ดีต่อสุขภาพก็อาจกลายเป็นภาระของสังคมได้

ปัญหาสิ่งแวดล้อม…ผลักภาระให้คน Gen ใหม่มากไปหรือเปล่า?

เศรษฐา ทวีสิน

นอกจากเรื่องสุขภาพของคน เรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องใส่ใจ เช่นเดียวกับที่น้องแสนดีหยิบยกเรื่องการสั่งอาหารแบบ Delivery ในยุคนี้ขึ้นมา เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีขยะพลาสติกจากการห่ออาหารเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวในแง่ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับขยะพลาสติกเหล่านี้ไปอีกนานหากไม่ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต

แม้แต่ปัญหามลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่อาจละเลยได้ คุณเศรษฐาให้ความเห็นว่าจริงอยู่ที่ช่วงนี้คนออกจากบ้านน้อยลง ฝุ่นควันจากท่อไอเสียก็น้อยลง แต่ก็พร้อมกลับมาทุกเมื่อ ที่แสนสิริและตัวคุณเศรษฐานั้นจึงมีการนำรถรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ รัฐบาลเองก็ควรมีส่วนร่วมเช่นกันในการจัดหาเทคโนโลยีชาร์จเร็ว (Fast Charge) ให้ตอบโจทย์การเดินทางของคนและจัดสรรจุดชาร์จไฟฟ้าอย่างเพียงพอตามปั๊มน้ำมัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เรามีประชากรที่มีความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ โดยการเป็นประชากรที่ดีของโลกนั้นนับเป็นเรื่องของคนทุกคน

คุณอยากเป็นใคร เป็นอะไร ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เป็นเป้าหมายของคนแต่คน แต่คนเราอยู่ในสังคมก็ควรต้องมีจุดยืนร่วม ซึ่งควรเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเถียงกันได้ เช่น เรื่องความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เถียงไม่ได้ว่าทุกคนอยากให้สังคมเป็นสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด การบอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของฉันมันไม่ใช่ มันเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องนำมาซึ่งเป้าหมายร่วมนี้ให้ได้

คุณเศรษฐา ทวีสิน

แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรกดดันตัวเองหรือตั้งเป้าหมายสูงเกินไป เพียงรู้จักหน้าที่ตัวเอง สิ่งไหนช่วยได้ก็ช่วยแก้ไข อาจริเริ่มให้มากขึ้นในสิ่งเล็กๆ ที่ทำได้ เช่น การไม่ใช้ถุงพลาสติก และสร้างความตระหนักให้กับคนใกล้ตัวในเรื่องนี้ หรืออาจใช้โซเชียลมีเดียของจนเป็นกระบอกเสียง ส่วนเมื่อเติบโตขึ้นอีก ภาระหน้าที่ก็ย่อมมีมากขึ้น บทบาทในสังคมที่ต้องขยายกว้างขึ้น

น้องหมูแฮมเองยังเสนอแนวคิดที่ให้ทุกคนมองเรื่องต่างๆ เป็นเรื่องปกติในชีวิตที่หากเราสามารถมีส่วนร่วมได้ก็เข้าไปช่วยกันทำให้ดีขึ้น

เราอาจไม่ต้องมองเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม เรื่องความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาต่างๆ ว่ามันเป็นหน้าที่ แต่ให้มองว่าเป็นเรื่องปกติ หรือเรื่องชีวิตประจำวันที่เรามีส่วนตรงไหนได้ ช่วยตรงไหนได้ ก็ช่วย อย่างเช่นวัยน้องแสนดีอาจช่วยเรื่องถุงพลาสติก คนหนึ่งคนขยายไปเรื่อยๆ ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

น้องหมูแฮม-นรมน ปุณยชัย

แต่อย่างไรก็ตามเด็กๆ ผู้เป็นอนาคตของโลกใบนี้ก็ยังควรมีความสุขกับชีวิตในขอบเขตที่ควรเป็น พวกเขาควรจะหวงแหนวัยเด็ก ไม่จำเป็นต้องจริงจังกับชีวิตมากเกินไป หรือแบกภาระเยอะเกินไป พร้อมควรสุขใจกับการเติบโตไปในสังคมที่ดีมากกว่า

คุยนอกทวีต แสนสิริ เศรษฐา ทวีสิน

แม้ว่าเราจะไม่รู้แน่ชัดว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปราวกับถูกกดปุ่มรีเซ็ตมากมายแค่ไหน แต่หลายคน โดยเฉพาะเยาวชน Gen ใหม่คงต้องเริ่มเตรียมแผนสำรองให้กับชีวิต หรือเตรียมผันตัวเป็นมนุษย์เป็ดผู้รอบรู้ในหลากหลายด้าน โดยไม่ลืมที่จะมีความสุขกับโลกรอบๆ ตัว พลางเตรียมพร้อมโอบกอดความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้ไม่มากก็น้อย

สามารถฟังพอดแคสต์ SIRI Podcast
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ด้านล่าง

CONTRIBUTOR

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน