The Great Reset

ย้อนหลังไปเมื่อ 31 ธันวาคม 2562 วันแรกที่หน่วยงานสาธารณสุขเมืองอู่ฮั่นในจีนรายงานพบกลุ่มประชากรป่วยมีอาการคล้ายปอดบวมเป็นครั้งแรก เป็นจุดเริ่มต้นที่โลกทำความรู้จักกับเจ้าเชื้อโรคตัวเล็กจิ๋วขนาดไม่กี่สิบ “นาโนเมตร” ที่ในทางตรงกันข้ามกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลต่อโลกนี้ในช่วงเวลา 14 เดือนที่ผ่านมา

ตัวผมเองในฐานะคนในยุค Baby Boomer ในชีวิตก็ผ่านหลายเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของไทยและโลก เช่นสงครามเย็น การหายไปของระบบคอมมิวนิสต์ วิกฤติการณ์น้ำมันในยุค 80’s วิกฤติการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะต้มยำกุ้งหรือแฮมเบอร์เกอร์ การขยายตัวของเครือข่ายผู้ก่อการร้ายในทวีปต่างๆ หรือแม้กระทั่งเรื่องของสาธารณสุขที่ใกล้เคียงกับโควิดอย่างอีโบล่าหรือซาร์ ไข้หวัดนก แต่เรื่องเหล่านี้ยังเทียบไม่ติดกับการมาของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ความเชื่อมโยง (interconnectedness) ถูกพัฒนาจนเกือบทุกสรรพสิ่งมีความเชื่อมโยงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรากำลังก้าวเข้าไปในโลกที่คาดเดาได้ยาก โลกที่ “เหตุ” บางอย่างไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน สามารถส่งผลกระทบเป็นโดมิโนขยายตัวเป็นเรื่องใหญ่แบบที่คาดไม่ถึงได้ง่ายๆ อย่างที่ฝรั่งเค้ามีคำเรียกกันว่า “butterfly effect”

ผมเองก็มีความสนใจในความเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาได้ยากในหลายๆ เรื่อง เริ่มตั้งแต่เรื่องการเมืองระดับโลก ตัวผมนั้นมีคำถามในใจว่าขั้วมหาอำนาจของโลกจะเปลี่ยนมือไปอยู่ที่ไหนในยุค New Normal นี้? การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือเรื่องสาธารณสุขและการจัดการโควิดจะกลายมาเป็นตัวตัดสินว่า ใครคือพี่ใหญ่ที่นานาประเทศต้องซูฮกว่าคือมหาอำนาจในโลกยุคใหม่ การแข่งขันเพื่อชิงความได้เปรียบเชิง geopolitics ระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีการเปลี่ยนมุมมองใหม่หรือไม่อย่างไรถ้าหากการเคลื่อนที่ของประชากรโลกถูกจำกัด การบริหารทรัพยาการประเทศถูกจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่ และแนวคิดที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการเอาตัวเองให้รอดจากวิกฤติโควิดนี้ก่อนที่จะยื่นมือไปช่วยประชาคมโลกหรือคนที่อ่อนแอกว่า ถือว่าเป็นการวัดใจมหาอำนาจครั้งใหญ่เลยทีเดียว

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ผมว่าความเหลื่อมล้ำจะปรากฎตัวอย่างชัดเจนและโจมตีอย่างรุนแรง แต่ละอุตสาหกรรมและแรงงานแต่ละประเภทเจอการถดถอยในรูปแบบที่แตกต่าง เราได้เห็นศัพท์ใหม่ถูกบัญญัติขึ้นมา “Shecession” มาจากคำว่า “She” กับ “Recession” ที่อธิบายผลกระทบที่เกิดกับเพศสตรีอันเป็นแรงงานหลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริการ สายการบิน ร้านอาหาร รีเทล ที่มีการปรับลดหรือปลดแรงงานจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา จากที่ทุกฝ่ายได้ช่วยกันผลักดันเรื่องความเท่าเทียมให้สตรีเพศได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น เมื่อระเบิดลูกใหญ่ลงเต็มๆ เราจะจัดการกันต่อยังไง นี่คือความจริงที่เราทุกคนต้องช่วยผลักดันเพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่ผลักดันเพื่อภาพลักษณ์หรือสร้างความรู้สึก “ฟีลกู๊ด” อีกต่อไป อีกทั้งกระแสเรื่องความเท่าเทียมของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสภาพก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สังคมโลกเมื่อ 30-40 ปีก่อนตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ยังไม่ให้ความสำคัญ เราจะตั้งรับหรือน้อมรับเรื่องนี้อย่างไรให้สมดุลย์

นอกจากนี้แล้วเรื่องของ 4 เสาหลัก (ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น และสังคม) ที่ภาคธุรกิจต้องบริหารความคาดหวังให้สมดุลย์ก็เป็นสิ่งที่กำลังโดนผลกระทบของโควิดจัดการเรียบเรียงความสำคัญเสียใหม่ ในยุคที่ตลาดหุ้นถึงจุดพีค ผู้ถือหุ้นดูเหมือนมีสุ้มเสียงมากหน่อย ถัดมาในยุคที่เราฮิตกันเรื่อง customer centric ลูกค้าก็กลับเข้ามาเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจ สำหรับเด็กยุคใหม่ เรื่องของสังคม สิ่งแวดล้อม โลกที่ดีกว่าเดิม กลายเป็นประเด็นสำคัญที่พวกเค้าให้ความสนใจ ถ้าหากพวกเค้าคือกลุ่มคนที่จะกลายเป็นฐานใหญ่ของอุปสงค์รวมทั้งขึ้นมาเป็นผู้บริหารรุ่นต่อๆ ไปของภาคธุรกิจ การเทความสำคัญให้กับเสาที่ 4 อย่างสังคมจะกลายเป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืนในแนวคิดของธุรกิจต่อไปนานแค่ไหน?

เรื่องสภาพแวดล้อมก็น่าสนใจ เมื่อมีการจำกัดการเคลื่อนไหวและเดินทางของประชากรเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค เครื่องบินเจ็ตจอดแน่นิ่งบนรันเวย์ คนเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านไม่ต้องขับรถไปกลับทุกวัน ฝุ่นควันและคาร์บอนมอนน็อกไซด์ที่เคยถูกปล่อยออกมามีปริมาณลดลง ในขณะเดียวกันเมื่อร้านงดเสิร์ฟอาหารและคนสั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น บรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับถูกนำมาใช้เกลื่อนกลาดอีกครั้ง เป็นการซ้ำเติมเรื่องที่เราเริ่มตื่นตัวและบริหารจัดการได้ดีให้กลับไปแย่กว่าเดิม โควิดเป็นเหมือนแว่นขยายที่ให้เราเห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากวิถีชีวิตเราชัดเจนขึ้น ซึ่งเมื่อเราเห็นชัดแล้วจะมีผลต่อวิถีชีวิตหรืออุปสงค์ของผู้บริโภคเช่นไร คนจะหันมาใช้รถไฟฟ้า EV กันแพร่หลายมากขึ้นอย่างสำนวนที่มีคนพูดว่า “from pump to plug” อาคารสำนักงานใหม่ๆ ถูกลดทอนความสำคัญไป มีการสร้างน้อยลงทำให้มีการใช้พื้นที่ใจกลางเมืองกับเรื่องอื่นแทน?

การ “รีเซ็ต” ครั้งนี้มีความน่าสนใจตรงที่มันเกิดขึ้นในยุคที่โลกเราประกอบไปด้วยประชากรหลากหลายเจนเนอเรชั่น ไล่ตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ไปจนถึงอัลฟ่า ตอนนี้เวลาใครมาสัมภาษณ์ผมแล้วบอกว่าอยากเรียนรู้จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่อยู่ในธุรกิจมา 30 กว่าปี ผมชักตอบได้ไม่เต็มปากแล้วล่ะครับว่าสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากยุคก่อนๆ ยุคที่หลายๆ อย่างไม่ได้เป็นเหมือนปัจจุบันหรืออนาคต จะสามารถถูกนำมาเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้ทั้งหมด

ผมเองยังรู้สึกเลยว่าอนาคตที่คนรุ่นถัดๆ จากผมเค้ามองหรือเค้าอยากให้เป็น คือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงและมองให้ขาดว่ามันจะเป็นอย่างไรและปรับตัวให้เข้าเสียมากกว่าน่ะครับ

 

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน