To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้

หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว

ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังครับ

จะเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทยช่วงที่ผ่านมาเน้นเรื่องของการอัดเม็ดเงินเข้าสู่กระเป๋าประชาชนเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายระยะสั้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดเสียทีเดียว แต่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมด้วย เรื่องของมาตรการที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ในระยะยาว จำเป็นต้องวางแผนและดำเนินการอย่างรวดเร็ว

นอกเหนือไปจากการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมของประเทศแล้ว อย่าลืมนะครับว่า โลกปัจจุบันมีบริบทของเศรษฐกิจกระแสใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ อย่าง fintech หรือ healthtech ฯลฯ รวมถึงธุรกิจที่คำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะละเลยไม่ได้ มิเช่นนั้นเราจะไปแข่งขันกับใครได้

ระบบเศรษฐกิจดั้งเดิมก็ต้องผลักดัน เศรษฐกิจกระแสใหม่ก็เป็นโอกาสอีก กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องการกลไกและงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เสริมศักยภาพแรงงาน ฯลฯ งบประมาณที่จะใช้ในการนี้ นอกจากการกู้แล้วก็ต้องมาจากการเก็บภาษี ซึ่งเป็นรายได้หลัก จริงไหมครับ ไม่งั้นเราคงแข่งขันกับคนอื่นไม่ไหว ผมถึงบอกว่าเรื่องของภาษี มีนัยสำคัญที่รัฐบาลต้องกลับมาพิจารณากันใหม่

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนก็พูดเสมอ ๆ ว่า ประเทศไทยมีรายได้จากภาษีต่ำมาก โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากอัตราภาษีที่ต่ำเกินไป การลดหย่อนภาษี และการยกเว้นต่าง ๆ ทำให้เราไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มศักยภาพ

บางคนอาจมองว่าการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ดีสิ เพราะจะได้ส่งเสริมการลงทุน ดึงดูดธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ในฐานะคนทำธุรกิจเองอย่างผมกลับมองต่าง ผมเชื่อว่าธุรกิจจะอยากเข้ามาลงทุนในไทยไม่ใช่เพราะการปรับลดภาษี แต่เพราะเขาเห็นโอกาสของการเติบโตในอนาคต ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง โทรคมนาคมพื้นฐานของรัฐบาล หรือนโยบายในการเพิ่มศักยภาพของแรงงานต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้รายได้จากภาษีมาขับเคลื่อนต่างหาก

นอกจากนี้แล้ว ประเทศไทยยังมีข้อยกเว้นต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มคนรวยสุด ทั้ง ๆ ที่กลุ่มนี้ควรจะจ่ายภาษีมากกว่าคนปกติ เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้เจ้าสัวที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการโอนมรดกมูลค่าสูง ๆ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก เป็นต้น

ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีลาภลอย หรือภาษีคาร์บอน ล้วนแล้วแต่เป็น “low-hanging fruits” ที่รัฐบาลชุดนี้ควรจะผลักดันให้เกิด แต่จะด้วยความเชื่องช้าในการพิจารณาร่าง หรือความเกรงใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ใกล้ตัวคนออกนโยบายเอง ทำให้ภาษีพวกนี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาบังคับใช้เสียที ดูตัวอย่างที่อังกฤษก็ได้ พอออกจากสหภาพยุโรป รัฐบาลเขาก็ประกาศยกเลิก VAT refund สำหรับนักท่องเที่ยว มีรายได้เพิ่มจากตรงนี้ แม้จะไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจสำหรับนักธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะกลัวนักท่องเที่ยวหนีไปช็อปปิ้งที่อื่นหมด แต่ก็ต้องทำ

ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้มีวาระเหลืออีกประมาณ 8 เดือน ถือเป็นโอกาสดีที่จะรีบเร่งปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเปิดทางและสร้างมาตรฐานในเรื่องการนำมาซึ่งรายได้ของรัฐที่มากขึ้นให้กับใครก็ตามที่มารับไม้ต่อสามารถเดินหน้าในเรื่องนี้ได้โดยไม่ต้องกังวล

เพราะสุดท้ายแล้ว “ภาษี” คือรายได้สำคัญที่ประเทศจำเป็นต้องใช้ในการผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

gun violence

When Business Kills

ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่หลาย ๆ คนให้คุณค่าและมองว่าเป็นสังคมในอุดมคติ การเปิดเสรีนี้เองที่ทำให้ภาคธุรกิจของสหรัฐมีความหลากหลายและแข่งขันกันสูง แต่การที่มีเสรีภาพมากจนเกินไปอาจทำให้ความมั่งคั่งของธุรกิจบางประเภทกลายเป็นต้นตอของโรคร้ายที่ยังหาทางแก้ไม่ได้ ประเด็นนี้มีตัวอย่างชัดเจน คือ ธุรกิจค้าขายอาวุธปืนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิแก่ชาวอเมริกันในการครอบครองปืนได้อย่างเสรี CNN รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ในสหรัฐมีกรณีการกราดยิง (mass shooting) กว่า 246 กรณี ส่งผลให้มีคนถูกยิง 1,357 ราย เสียชีวิตถึง