3 เทรนด์ตามกระแส
ที่เราทำร้ายสิ่งแวดล้อมแบบไม่รู้ตัว

แค่จะตามเทรนด์ เพราะของมันต้องมี แต่เรากลับทำร้ายโลกไม่รู้ตัว?

รู้ไหมว่าเทรนด์ตามกระแสที่เกิดขึ้นบางอย่างเป็นเรื่องน่าสนใจ และหลายคนก็มักจะทำตาม และอยากลองกัน แต่ในทางกลับกันบางเทรนด์ก็สามารถส่งผลกระทบต่อตัวเรา ต่อสังคม หรือกับสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน จนเรากลายเป็นผู้ร้ายต่อโลกแบบไม่รู้ตัว

ในวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีนั้นเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ WorldEnvironmentDay แสนสิริเลยขอยก 3 เทรนด์ตามกระแสมาแรงไม่มีตก ที่คนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาฮิตกัน เพื่อที่เราทุกคนจะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ในการช่วยกันเปลี่ยน ช่วยกันลด เพื่อโลกที่ดีขึ้น

เทรนด์กินอะโวคาโด

world environment day

ด้วยวิกฤตโรคระบาดทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น ซึ่งอะโวคาโดก็เป็นเหมือนพระเอกที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพได้ดีรอบด้าน เพราะเป็นผลไม้ที่ช่วยในการลดน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือด ไปจนถึงลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและหัวใจ จึงไม่แปลกเลยที่การกินอะโวคาโดจะกลายเป็นเทรนด์ฮิตที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นวายร้ายต่อโลกเหมือนกัน เนื่องจากการปลูกอะโวคาโด ต้องใช้น้ำปริมาณมากถึง 9,500 ล้านลิตรต่อวัน (เทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำโอลิมปิกถึง 3,800 แห่ง) และเมื่อปริมาณแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง ทางออกของเกษตรกรคือการนำน้ำจากชั้นหินมาใช้ในปริมาณมาก จนทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติตามมามากมาย

ขณะเดียวกันที่ประเทศเม็กซิโก ต้องถางป่าเพิ่มเพื่อทำสวนอะโวคาโดราว 1 ล้านไร่ กระทบบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันอย่างไรก็ตามเราทุกคนยังสามารถเลือกกินอะโวคาโดได้อยู่เพื่อสุขภาพของตัวเอง แต่อาจช่วยกันลดปริมาณการกินอย่างน้อย 1 – 2 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสุขภาพที่ดีของโลกด้วย

เทรนด์ของมันต้องมี

world environment day

“ลดกระหน่ำวันเลขคู่” หรือ “SALE 50%” หลายคนน่าจะโดนประโยคคุ้นตาเหล่านี้ จนทำให้ใจและเงินในบัญชีสั่นๆ กันบ้าง บางครั้งก็กลายเป็นคำพูดกวนใจตลอดเวลา “ของมันต้องมี” หรือ “อยากได้ก็จัด…ประหยัดทำไม”

เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นเทรนด์ที่เกิดกระแสกันแวบเดียวแล้วผ่านไป แต่เกิดขึ้นตลอดทุกๆ ปี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็น Fast Fashion ผลิตสินค้าแฟชันต่างๆ ออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่แต่งตัวตามกระแส เน้นแต่งตัวไม่กี่ครั้ง และสุดท้ายก็ต้องทิ้งไป

ผลกระทบของ Fast Fashion เป็นปัญหาระดับโลก เพราะการผลิตเสื้อผ้าใหม่นั้นเป็นต้นตอของน้ำเสียทั่วโลกถึง 20% และเป็นตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นส่วนให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 8% นอกจากสร้างมลพิษทางอากาศสินค้าแฟชันเหล่านี้ยังกลายเป็นขยะปริมาณกว่า 59,000 ตัน กลายเป็นภูเขาขยะสูงพะเนินทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ผลกระทบรุนแรงขนาดนี้ มาช่วยกันห้ามใจตัวเองไม่ให้ตามกระแส ก่อน #ของมันต้องมี จะกลายเป็น #โลกมันจะร้อน แทนนะ

เทรนด์ย้อมสีผม

world environment day

อาจไม่ใช่เทรนด์ซะทีเดียว แต่การย้อมสีผมก็เป็นสิ่งที่ฮิตกันอยู่สม่ำเสมอไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุค

ยาย้อมสีผมจะแบบปกติ หรือแบบออร์แกนิคก็ล้วนแต่มีสารเคมีในตัว เมื่อเจือปนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำได้ โดยปัญหาน้ำเสียในไทย เพียงในคลองแสนแสบพบว่า ร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมในชุมชนริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ ยกตัวอย่างปี 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขา กว่า 8 แสนกว่าลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีค่าเฉลี่ยความสกปรก อยู่ระหว่าง 6.9 – 12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าเป็นมลพิษอย่างรุนแรง

ถึงแม้ว่าการย้อมสีผมจะเป็นแค่ส่วนเล็กน้อยที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ แต่ทางที่ดีหากทุกคนหันมาช่วยลดการย้อมผม หรือเปลี่ยนยาย้อมผมที่มีส่วนประกอบของสารเคมีน้อยลง เท่านี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว

ไม่น่าเชื่อเลยว่า เทรนด์ฮิตที่กล่าวมาจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนี้ การตามเทรนด์คงเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่เราอยากให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ว่าเทรนด์ฮิตเหล่านี้ก็ทำร้ายสิ่งแวดล้อมไม่น้อยเหมือนกัน

CONTRIBUTOR

Related Articles

Camp Site Story EP. 2 ซูเปอร์ฮีโร่ของแทร่ที่ภารกิจใหญ่กว่าแค่สร้างบ้าน

ซูเปอร์ฮีโร่ของแทร่ ที่ภารกิจใหญ่กว่าแค่สร้างบ้าน นอกจากงานประจำคือการก่อสร้างบ้านให้ออกมาได้คุณภาพ สวยงาม และปลอดภัยแล้ว คนงานในแคมป์ไซต์ของแสนสิรินี่ล่ะ คือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการคัดแยกขยะ และช่วยให้ไซต์งานก่อสร้าง สะอาดสะอ้าน เป็นระเบียบ และไม่มีขยะ เรียกได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์โลกกลุ่มหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่ใช่ว่า การพิทักษ์โลกด้วยการจัดการคัดแยกขยะของคนงาน จะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย หรือฝืนใจแบบที่ใครหลายคนคิด เพราะที่แคมป์ไซต์ของแสนสิริ เขา Happy และ

จากเศษวัสดุก่อสร้าง สู่กระถางต้นไม้รักษ์โลก

การจัดการของเสียในพื้นที่ก่อสร้างของแสนสิริ เราทำมากกว่าการคัดแยก เพราะเรานำไปจัดการอย่างถูกวิธี เราให้ความสำคัญกับการนำของเสียที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือทำประโยชน์ต่อได้ อย่างเศษคอนกรีตมวลเบา (Q-CON) แสนสิริร่วมมือกับ SCG นำเศษคอนกรีตมวลเบาเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง ส่งต่อไปยังชุมชนบางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการอบรมเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ ใส่ความคิดสร้างสรรค์ ผลิตเป็นสินค้าดีไซน์สวยงามอย่างกระถางต้นไม้ นอกจากจะช่วยลดขยะในพื้นที่ก่อสร้างของแสนสิริเองแล้ว ยังสามารถนำกระถางต้นไม้แปรรูปนี้ กลับมาใช้เป็นวัสดุตกแต่งภายในโครงการได้อีกด้วย รวมถึงช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนไปอีกทาง

จากแสงตะวัน สู่แผงโซลาร์ แสงอาทิตย์เพื่อโลก

อะไรคือคำตอบเพื่อก้าวเข้าไปสู่อนาคตของการรักษ์โลก? แสงจากดวงตะวันคำตอบของพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อโลก เป้าหมายของแสนสิริไม่ใช่เพียงลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและค่าไฟเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งส่งเสริมไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน ดังนั้นนอกจากการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว แสนสิริยังมีนวัตกรรมบ้านเย็น หรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และลงทุนกับนวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็นพลังงานทางเลือกให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น แม้ว่าสิ่งนี้อาจดูเป็นเพียงพลังเล็กๆ แต่เราก็หวังให้คอมมูนิตี้ของแสนสิริ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนและส่งต่อไลฟ์สไตล์ของผู้คนในการช่วยรักษา และดูแลโลกใบนี้ อีกทั้งพร้อมส่งต่อเจตนาเหล่านี้สู่รุ่นต่อไป เพื่อให้โลกอยู่กับมนุษย์เราได้อย่างยืนยาว นำแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้ในพื้นที่ ด้วยคุณค่าอันมหาศาลของแสงตะวันนี้เอง ทำให้แสนสิริที่หมายมั่นและมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้สร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงการนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาดและปราศจากการก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม