“รวยกระจุก จนกระจาย”
ปัญหาใหญ่ของใคร

ช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือนธันวาคมทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ผมตั้งหน้าตั้งตารอคอยเลยก็เพราะเป็นช่วงการจัดแม็ทช์ฟุตบอลการกุศลเพื่อรำลึกถึงคุณเอกชัย นพจินดา หรือ ย.โย่ง ซึ่งแม็ทช์การกุศลนี้มีมาประจำเกือบ 25 ปีแล้วเป็นการแข่งกันระหว่างทีมจากธนาคารกสิกรไทย นำโดยคุณบัณฑูร ล่ำซำ และทีมจากสยามสปอร์ตซินดิเคท นำโดยคุณระวิ โหลทอง ซึ่งทุกครั้งจะมีการนำเงินที่ได้รับบริจาคไปเข้ามูลนิธิ ย.โย่งเพื่อนำไปทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนต่อไป

 

ผลพลอยได้อย่างหนึ่งนอกจากการร่วมกิจกรรมฟุตบอลดังกล่าวทุกปีก็คือโอกาสที่จะได้ฟังคุณบัณฑูร ล่ำซำ แชร์มุมมองความคิดในด้านต่างๆ ให้พวกเราฟังในช่วงสังสรรค์หลังเกมจบลง ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าคุณบัณฑูรเองนั้นนานๆ ครั้งถึงจะออกสื่อพูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจ สังคม การเมืองสักที เรียกได้ว่าเป็นไฮไลต์หนึ่งของงานวันนั้นเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องหนึ่งที่ท่านได้พูดถึงระหว่างบทสนทนานั้นก็คือหัวข้อเกี่ยวกับสภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ของประเทศไทยเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านได้นำมาพูดกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อครั้งเดินทางไปเปิดสาขาธนาคารกสิกรไทยที่ประเทศจีนเมื่อไม่นานมานี้ และเรียกได้ว่าเป็นวลีที่ฝังอยู่ในใจของหลายๆ ท่าน เป็นวลีและแนวคิดที่ถูกทิ้งไว้ให้หลายๆ คน หลายๆ ฝ่ายเก็บไปคิดว่ามีนัยยะสำคัญอย่างไร และที่สำคัญจะจัดการประเด็นดังกล่าวอย่างไร

ผมเองก็เช่นกัน กลับมานั่งคิดดูก็รู้สึกว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่เพราะเหมือนจะมีคนพูดถึงมาหลายครั้งแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่อย่างที่คอลัมนิสต์ท่านหนึ่งของไทยรัฐเขียนไว้ เราเคยได้ยินแต่เสียงบ่นในเรื่อง “รวยกระจุก จนกระจาย” จากประชาชนคนเดินดินทั่วไปหรือนักวิชาการเพราะนั่นคือสิ่งที่เค้าเห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับเค้าและสังคมส่วนรวม แต่เราไม่เคยได้ยินวลีดังกล่าวจากปากของบุคคลที่อยู่ในกลุ่มระดับหัวกะทิทางด้านธุรกิจของประเทศมาก่อนเลย เพราะเรื่องความรวย ความจนนี้ไม่น่าจะใช่ปัญหาอะไรที่คนกลุ่มนี้ต้องวิตกกังวล แต่มาวาระนี้บุคคลในวงการธุรกิจระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการของธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยออกมาพูดด้วยตัวเองมันจึงมีสร้างแรงสั่นสะเทือนเป็นพิเศษสำหรับผมครับ

“รวยกระจุก จนกระจาย” เป็นวลีที่คุณบัณฑูรใช้เพื่อบ่งบอกถึงสภาพความไม่เสมอภาคทางความมั่งคั่งของประชากรไทย แต่เรื่อง “รวยกระจุก จนกระจาย” นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงรายเดียว ไม่ต้องน้อยใจ มันเกิดขึ้นทั่วโลกครับ แม้กระทั่งในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรก็ประสบปัญหาเดียวกัน ภาษาอังกฤษเค้าใช้คำสั้นๆ ว่า “Inequality” โดยก็มีการจำกัดความด้วยอาจเลือกว่าจะยึดเอา “รายได้” ของบุคคล หรือ “ความมั่งคั่ง” ซึ่งหมายรวมถึงสินทรัพย์และสมบัติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย แต่ถ้ามองภาพรวมยังไงๆ เวลาพวกตัวเลขสถิติออกมาก็ไม่ได้ต่างกันมากหรอกครับ ยกตัวอย่างที่ผมไปอ่านเจอล่าสุดและชี้แจงออกมาเป็นตัวเลขแบบน่าตกใจก็คือ รายงาน World Inequality Report ที่ตีผลสำรวจของกว่า 100 ประเทศในโลกว่าตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมาจนถึงปลายปี 2559 เค้าบอกว่า กลุ่มเศรษฐีในโลกที่อยู่บนยอดปิรามิดแค่ 1% ของประชากรทั้งหมดครอบครองสัดส่วนความมั่งคั่งอยู่ถึง 27% ของทั้งโลก

และที่น่าตกใจกว่านั้นคือรายงานของ OXFAM ที่นาง Christine Lagarde ผู้อำนวยการของ IMF เคยยกมากล่าวในที่ประชุม IMF เมื่อครั้งเธอพูดถึงความกังวลเรื่องความไม่เสมอภาคทางความมั่งคั่งของประชากรโลก โดยรายงานบอกว่ามหาเศรษฐี 8 อันดับแรกของโลกครอบครองความมั่งคั่งเท่ากับอีกกว่า 3,600 ล้านคนของประชากรโลกที่อยู่ 50% ล่างของฐานรายได้เลยทีเดียว เมื่อเห็นสถิติแบบนี้เลยยิ่งทำให้ผมเห็นชัดครับว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เสียแล้ว

ถ้าย้อนกลับไปหารายงานต่างๆ มาอ่าน จะเห็นมีนักวิเคราะห์สันนิษฐานว่าเรื่องของความไม่เสมอภาค หรือ Inequality นี้มีที่มาจากหลายประการด้วยกัน ประการแรกหลายคนบอกว่าเกิดจากการเจริญเติบโตของ GDP โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วในช่วงทศวรรษที่ 80’s เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างกระจุกในกลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เจาะอยู่เฉพาะบางกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้สูงเช่นอุตสาหกรรม การเงิน ฯลฯ ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จะกระจุกตัวอยู่กับแรงงานที่มีค่าตอบแทนสูงตามการเติบโตของตลาด เจ้าของและผู้ถือหุ้นต่างๆ ของบริษัท

อีกประการเค้าบอกว่าเกิดจากกระบวนการ Globalization ที่มีการเชื่อมต่อและโยกย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ส่งผลให้แรงงานผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้วถูกแช่แข็งทั้งด้านการก้าวหน้าและค่าตอบแทนเนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศทางเลือกที่ค่าแรงถูกกว่า ในขณะที่ส่วนงานประเภท High Skill มีการเติบโตต่อเนื่อง

เรื่องที่สามเค้าบอกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบโครงสร้างภาษีที่พัฒนาไม่ทันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ Emerging Economies ในยุคที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งเรื่องนี้ก็คล้ายๆ กับสิ่งที่หลายๆ รัฐบาลของไทยเราในช่วงที่ผ่านมาพยายามที่จะแก้ไขไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีที่อยู่อาศัย ฯลฯ

นาย Stephen Hawking นักฟิสิกส์ชื่อดังชาวอังกฤษยังกล่าวไว้ว่าในยุคที่แทบทุกคนมีสมาร์ทโฟน ส่งให้การรับรู้ของคนที่อยู่ในฐานล่างของปิรามิดรายได้หรือความมั่งคั่งเกี่ยวกับการ “รวยกระจุก” ของคนบางกลุ่ม ถูกรับรู้ชัดเจนขึ้น ยิ่งผลักดันให้คนกลุ่มนี้แสวงหาทางออกในวิธีต่างๆ ที่จะพยายามหาทางไต่ปิรามิดให้ได้ ผลที่เราเห็นในทางสังคมการเมืองก็เช่นการโหวต BREXIT ที่ผ่านมาและการขึ้นเป็นประธานาธิบดีของนาย Donald Trump ที่ฉีกโผเกจิหลายคนแบบน่าตกใจ นี่เป็นสัญญาณจากคนกลุ่มนี้ว่าพวกเค้าไม่ต้องการอยู่ในสถานะ Status quo อีกต่อไป ถ้าสิ่งเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหา Inequality ให้พวกเค้าได้ พวกเค้ายอมที่จะฉีกแนวทางเดิมและเลือกเดินทางใหม่ที่มีความเสี่ยงมากกว่า

อีกประการหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนก่อให้เกิดสภาพวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” ทั่วโลกได้แก่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ที่ส่งผลให้กลุ่มแรงงานที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวเป็นที่ต้องการและแย่งตัวกันสูง ในขณะที่กลุ่มแรงงานที่ไม่มีความรู้และความสามารถกลายเป็นส่วนเกินของเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ เศรษฐกิจที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เป็นตัวผลักดัน

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ตามมาและถูกมองว่าเป็นลูกติดพันที่ทำให้สภาวะ Inequality ร้ายแรงขึ้นก็คือในเศรษฐกิจยุคใหม่เราจะเห็นกลุ่มธุรกิจบางประเภทกลายเป็น Superstar Economy” ยกตัวอย่างเช่นพวกที่อยู่ใน Silicon Valley อย่าง Google หรือ Facebook ซึ่งเมื่อทุกอย่างประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะก่อให้เกิดสภาพตลาดแบบ “Winner takes all” ขึ้น หมายความว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมยุคใหม่บางชนิดจะถูกยึดครองโดยกลุ่มธุรกิจที่ยึดหัวหาดไว้หมดแล้ว และสามารถ Scale ข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่ถูกพัฒนาโดยกลุ่มคนเล็กๆ ไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม ทำให้สภาพการแข่งขันเกิดขึ้นได้ยากอย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่ ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือถ้าหาก “Winner takes all” กลายเป็น Mindset ของกลุ่มธุรกิจพวกนี้ไปแล้ว ปัญหานี้จะยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ครับ

จะเห็นได้ว่าปัญหา “รวยกระจุก จนกระจาย” ไม่ใช่เฉพาะปัญหาของประเทศไทยแค่คนเดียวและไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลฝ่ายเดียวด้วย ผมเชื่อว่าปัญหาระดับประเทศระดับโลกแบบนี้รัฐบาลที่ไหนคนเดียวก็แก้ไม่ได้ ต้องพึ่งพาภาคเอกชนในการช่วยกันหาทางยื่นมือเข้ามาช่วยด้วย เราต้องมาช่วยกันนั่งคิดล่ะครับว่าจะทำอะไรกันได้บ้าง อย่างแรกที่ผมคิดออกก็คือ องค์กรธุรกิจต้องสำนึกกันให้ได้ก่อนนะครับว่าภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” เป็นปัญหา อย่าไปคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเราหรือไม่เกี่ยวกับเรา

โชคดีที่ผมได้ฟังวลีนี้จากปากคุณบัณฑูรผู้ซึ่งผมให้ความเคารพและนับถืออย่างสูงมาโดยตลอด ทำให้ผมระลึกได้ว่านี่คือปัญหาที่เราต้องช่วยกันแก้ สิ่งหนึ่งเลยที่ผมคิดว่าช่วยได้ก็คือหวังว่าบทความนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านที่อยู่ในวงการธุรกิจได้ลองกลับไปศึกษาถึงปัญหานี้ดูกันดีๆ และช่วยกันคิดว่าเราจะช่วยกันแก้ได้อย่างไร สำหรับผมเองตอนนี้ก็ยังไม่มียาวิเศษที่ผลิตสำเร็จแล้วหรอกครับ แต่อย่างน้อยผมก็ทำการบ้านผ่าน Stage การระลึกได้แล้ว ต่อไปคงต้องไปหาข้อมูลที่องค์กรระดับโลกอื่นๆ เค้าพยายามช่วยแก้เรื่องนี้แล้วอาจจะมาเล่าให้ฟังกันในครั้งต่อๆ ไปครับ

 

บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Post Today ฉบับวันที่ 9 มกราคม 2561

ติดตามมุมมองสบายๆ ของเศรษฐา ทวีสิน ได้ที่ คลิก

 

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน