‘ทุกคนเท่ากัน’ คำพูดที่พูดได้ง่าย แต่กลับทำให้เกิดขึ้นจริงได้ไม่ง่ายนัก และเบื้องหลังยังแฝงการเรียกร้องพร้อมยืนหยัดจากใครหลายคนที่มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่สังคมคุ้นเคย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายนั้นมาตั้งแต่ในอดีต รวมไปถึง…การยืดหยัดเพื่อความเท่าเทียมทางเพศด้วยเช่นกัน
คุยนอกทวีตกับคุณเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ คราวนี้ กับคำถามที่ว่า “เท่าไหน ที่เท่ากัน” EP.02 มาพร้อมกับ Speaker สุดพิเศษถึง 2 ท่าน ทั้งคุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ที่ปัจจุบันเป็นนักจิตบำบัดด้วยแนวคิดด้านปรัชญาจากความเข้าใจถึงการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ และยังเป็นผู้ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศใด พร้อมด้วยคุณเอม เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย หรือที่รู้จักในนามคุณคิลิน นักเขียนนิยายแนวยูริหรือหญิงรักหญิงชื่อดัง และเจ้าของร้าน The Kloset สเปซที่เป็นเสมือน community เล็กๆ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงไม่ว่าจะมีตัวตนทางเพศแบบไหน
ใน EP นี้แสนสิริได้ชวนทุกคนมาร่วมเดินทางต้อนรับ Pride Month พร้อมร่วมรับฟังการพูดคุยถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะในสังคมที่เราเผชิญอยู่กัน ส่วนจะมีประเด็นอะไรซ่อนอย่างบ้างนั้น ตามมาสำรวจกันเลย
Pride Month มาถึง แต่ความเท่าเทียมทางเพศ สังคมไทยยังมาไม่ถึง
Pride Month เดินทางมาถึงอีกครั้งแล้ว หลายปีมานี้เราได้เห็น Pride Parade พาเหรดมากมายที่มาพร้อมสีสัน รวมทั้งความสนุกสนานและไลฟ์สไตล์การกินดื่มเที่ยวเพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาดังกล่าว
หากแต่จะลืมไปไม่ได้เลยว่านี่ยังเป็นการเตือนใจถึงเหตุการณ์ในอดีตที่การเลือกปฏิบัติและการกดขี่ทางเพศกลายเป็นแรงผลักดัน ณ คลับ Stonewall Inn ในนิวยอร์ก จนเกิดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อปี 1969 นับตั้งแต่นั้นเองประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่แม้ Pride Month จะมาถึง ความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงกลับยังมาไม่ถึงสังคมไทยเท่าที่ควร เราต่างคุ้นชินกับความไม่เท่าเทียมที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมาหลายยุคสมัย แม้ปัจจุบันจะนับว่าดีขึ้นจากในอดีต แต่การเผลอสร้างบาดแผลอย่างไม่ตั้งใจยังเกิดขึ้นเสมอผ่านการแสดงออก การใช้ภาษา ความคิดความเชื่อที่แฝงอยู่ในการกระทำต่างๆ
เช่นเดียวกับที่คุณเศรษฐาได้บอกเล่าถึงการใช้คำพูดในอดีตว่า “ที่ดินนี้มันกะเทย” ซึ่งเป็นคำเปรียบที่สื่อถึงที่ดินที่ทำคอนโดก็ไม่ดี ปลูกบ้านเดี่ยวก็ไม่ดี โดยเกิดจากซึมซับทางวัฒนธรรมจากสังคมมา แต่นั่นก็ล้วนแต่เป็นการเผลอสื่อสารโดยคิดน้อยเกินไปจนลืมไปว่าคำพูดนั้นแฝงการเหยียดเพศอยู่กลายๆ
สิ่งสำคัญจึงเป็นการเน้นสร้างการตระหนักรู้ไปพร้อมกับสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์เราท่ามกลางสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการยอมรับและพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีใครถูกทำร้าย กดขี่ หรือไม่ถูกตระหนักถึงใน Community แห่งนี้
ต่างคน ต่างรุ่น ต่างความเข้าใจ ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน
ในแต่ละสังคมนั้น การเปิดรับความหลากหลายอาจแตกต่างกันไป ที่ประเทศอังกฤษซึ่งดูเหมือนค่อนข้างเปิดกว้าง หากแต่สำหรับ Transgender หรือผู้หญิงข้ามเพศแล้ว กลับยังคงต้องการยอมรับที่มากขึ้นอยู่ ส่วนสังคมไทยที่ดูเปิดกว้างกับ LGBTQ+ ก็ยังคงหลงลืมบางเพศไปเช่นกัน
ส่วนหนึ่งอาจเพราะสังคมไทยเป็นสังคมของคนต่างวัย ต่าง generation ซึ่งอาจมีความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ผู้คนบางวัยอาจไม่เข้าใจถึงแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและการเลือกใช้คำพูดจากคลังศัพท์อันจำกัดที่พวกเขามี จึงอาจใช้คำไม่เหมาะสมต่อบางเพศได้ เช่น การเรียกเหมารวมคนบางกลุ่มว่าทอมหรือกะเทย ทั้งๆ ที่ความหลากหลายทางเพศมีมากกว่านั้น
ที่ต่างจังหวัด คนเฒ่าคนแก่ไม่มีคลังศัพท์ให้เรียกอย่างอื่นแล้ว จึงเรียกรวมหมด ทอม กะเทย ไม่มีคนไปให้ความรู้เขา เขาจึงไม่มีคลังศัพท์ไหนให้ใช้ ดังนั้นก็ไม่ควรไปโกรธกัน
– คุณเอม เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย –
สิ่งสำคัญจึงไม่มุ่งโกรธกัน แต่เป็นการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการพูดคุย ด้วยการค่อยๆ อธิบายและสร้างความเข้าใจว่าทำไมคำพูดนั้นๆ จึงไม่ควรใช้ แทนที่จะแสดงความไม่พอใจ โดยอาจเริ่มสื่อสารกับหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ก่อนจะค่อยๆ ขยายการสื่อสารให้กว้างขึ้น
กรอบทางสังคม…ตีกรอบเราไว้ไม่ให้เท่าเทียม
กรอบทางสังคมเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังเดินทางไปไม่ถึงความเท่าเทียมอย่างที่หวัง บางครั้งเรามีการกำหนดและคาดหวังว่าสิ่งต่างๆ ต้องเป็นไปตาม stereotype หรือทัศนคติแบบเหมารวมของคนในสังคม โดยเฉพาะในการแสดงออกผ่านการแต่งกาย เช่น เป็นผู้ชายต้องแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้กว่าไหม เป็น Intersex หรือผู้ที่มีอวัยวะสืบพันธุ์สองเพศควรจะแต่งตัวเป็นเพศไหน สีใด เข้าห้องน้ำเพศไหน ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เสื้อผ้า สิ่งของ สถานที่ และสีสันต่างๆ ล้วนแต่ไม่มีเพศ
สังคมไทยยังอยู่ในจุดที่หลายๆ อย่างโดนแบ่งกลุ่มเป็นขาวกับดำเยอะมาก ทั้งๆ ที่แม้แต่เสื้อผ้าหรือสี ก็ไม่มีเพศ…วันนี้ได้มาที่แสนสิริ เจอป้ายห้องน้ำเป็นสัญลักษณ์ LGBTQ+ รู้สึกมีความสุขและรู้สึกปลอดภัยมาก
– คุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ –
กรอบทางสังคมที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ในอดีตยังส่งผลต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่การมีทรัพย์สินร่วมกัน จากแต่ก่อนที่การกู้ร่วมสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เป็นไปได้อย่างยากลำบาก แต่ปัจจุบันการมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ช่วยให้คู่รักที่ไม่ใช่คู่ชาย-หญิงมีสิทธิ์หลายๆ อย่างร่วมกันได้มากขึ้น สำหรับที่แสนสิริเองก็มีการพูดคุยกับธนาคารมากมาย หนึ่งในสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ช่วยให้การกู้ร่วมของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ก็มีบางแห่งที่ gender stereotype ยังคงฝังรากลึกค่อนข้างมากในความคิดและความเชื่อ
เราไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าความเท่ากันจริงๆ บางคนบอกว่าเรียกร้องสิทธิอีกแล้ว จะเอาอะไรอีก แต่นั่นคือคุณเกิดมามีพร้อมแล้ว คุณไม่ได้ต้องบำบัดทั้งชีวิต โดนรังแกมาทั้งชีวิต คุณมีสิทธิอยู่แล้วกับตัว แต่คนเหล่านี้ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา
– คุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ –
การยอมรับออกสตาร์ทได้จากครอบครัว
คุณเขื่อนถือเป็นหนึ่งในคนโชคดีที่ได้เกิดมาในครอบครัวที่เปิดกว้างและพร้อมยอมรับในตัวตนที่เป็น ในขณะที่มีหลายคนต้องทรมานจากการที่ครอบครัวไม่ยอมรับในเพศที่เป็น จึงต้องสร้างครอบครัวของตัวเองขึ้นมาใหม่กับคู่ชีวิตที่เข้ากันและยอมรับซึ่งกันและกันได้ โดยอาจรับบุตรบุญธรรมเข้ามา เพื่อเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในครอบครัวแบบนี้เองจึงเกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีใครต้องเจ็บปวดจากการไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่รัก
ครอบครัวของคุณเศรษฐาก็เรียกได้ว่าอีกครอบครัวที่มีการเปิดกว้างเช่นกัน นั่นคือไม่ว่าลูกๆ จะเลือกคนเพศไหนเป็นคู่ชีวิต หรือต่อไปจะมีการแสดงออกทางเพศแบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอเพียงเป็นคนดี ไม่เบียดเบียนใครก็เพียงพอแล้ว เพราะสุดท้ายคุณเศรษฐามองลูกเป็นลูกคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ แต่อย่างใด
หากการยอมรับและความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศเริ่มต้นขึ้นในทุกๆ ครอบครัวได้เช่นนี้ ความเท่าเทียมทางเพศก็ย่อมขยายวงกว้างไปสู่ระดับสังคมได้ไม่ยากอย่างแน่นอน
จะเป็นอย่างไร ในวันที่ทุกเพศเท่าเทียม?
เมื่อวันหนึ่งสังคมไทยก้าวไปสู่จุดหมายของความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง การรวมกลุ่มชี้เป้าว่าใครบางคนในสังคมเป็นคนแปลกแยกจะหายไป
ในการทำงาน การเลือกใช้บุคลาการจะมีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถของเขามากขึ้นในภาคส่วนต่างๆ เพราะไม่มีการมาแบ่งว่าใครเป็นชาย เป็นหญิง หรือเป็น LGBTQ+ แต่มองและยอมรับว่าคนนี้เป็นบุคลากรคนหนึ่งที่มีความสามารถ เหมาะกับงานแต่ละประเภท พร้อมกับที่จะไม่มีใครต้องหวาดกลัวที่จะแสดงออกและในการแต่งตัว แม้แต่การสร้างสรรค์ผลงานก็จะมีมากขึ้น เพราะไม่มีคนกลุ่มไหนถูกจำกัดความคิดเพียงเพราะไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง เช่นเดียวกันกับที่แสนสิริที่ทุกวันนี้วัดผลกันด้วยความสามารถเป็นหลัก รวมทั้งจากการตอบสนองต่อเสาหลักหรือผู้คนที่เราดูแลอยู่ ไม่ว่าจะลูกค้า ผู้ถือหุ้น สังคม หรือเพื่อนพนักงาน
ในขณะที่การท่องเที่ยวเองก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นจริงตามมาได้ เพียงแค่เราให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่ว่าเพศใดๆ อันรวมถึงผู้มีความหลายหลายทางเพศด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการจัดงานแต่งงานใต้น้ำสำหรับคู่รัก LGBTQ+
สิ่งเหล่านี้เองจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไปได้ไกล เช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดทางด้านเศรษฐกิจของไต้หวันหลังมีการผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน
เศรษฐกิจจะดีกว่าประเทศหรือสังคมที่กีดกัน เพราะคนเก่งนั้นไม่จำกัดอยู่ที่เพศไหน คนเก่ง ทุกคนเป็นได้หมด ไม่จำเป็นว่าต้องมีรสนิยมทางเพศแบบไหน
– คุณเศรษฐา ทวีสิน –
แล้วท้ายที่สุด เท่าไหน ที่เท่ากัน?
แม้ว่าคุณเศรษฐา คุณเขื่อน คุณเอม หรือไม่ว่าใคร อาจบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเท่าไหน…ที่เท่ากัน หรือเท่าไหน…ที่เรียกว่าเป็นความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือเรื่องใดๆ เพราะนั่นอาจแตกต่างกันไปในความคิดใครแต่ละคน บางคนอาจมองว่าจุดที่เท่าเทียมขึ้นอยู่กับความสุขที่ได้รับ หรือสำหรับบางคนอาจเป็นการเขาได้รับโอกาสในหน้าที่การงานไม่แตกต่างจากคนอื่น
แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือการได้ริเริ่ม “สังคมแห่งการพูดคุย” อันเป็นสังคมที่เราพูดคุยถึงประเด็นอันเปราะบางนี้ได้อย่างเปิดเผย และถือได้ว่าเป็นก้าวแรกในการผลักดันสังคมไทยให้พัฒนาไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เคยเช่นกัน ด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าวันหนึ่ง ไม่ว่าใคร เพศไหน มีความแตกต่างกับคนอื่นอย่างไร ก็สามารถใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกจากใจและความจริงที่ว่า ‘เราเท่ากัน’ พร้อมได้รับการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง
แต่ไม่ว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงจะมาถึงเมื่อไหร่ หรือต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน แสนสิริก็จะยังคงมุ่งหน้าสนับสนุนความเท่าเทียมอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม สัมคม และชีวิตที่ดีให้กับโลกใบนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน
สามารถฟังพอดแคสต์ SIRI Podcast
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ด้านล่าง