เล่นฟุตบอลแบบไม่ใช้หัว

เล่นฟุตบอลแบบไม่ใช้หัว

เล่นฟุตบอลแบบไม่ใช้หัว นึกย้อนหลังกลับไปเมื่อฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด ประตูหนึ่งที่ผมคิดว่าสวยที่สุดก็คือลูกที่ Robin van Persie ของทีมกังหันสีส้มพุ่งตัวโหม่งย้อยข้ามหัวผู้รักษาประตูในแม็ตช์รอบแรกกับทีมชาติสเปนครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ชมเกมแข่งขันนัดนั้นทุกคนยอมรับว่าเป็นการโหม่งทำประตูด้วยทักษะที่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ น่าจะต้องเป็นการฝึกซ้อมโหม่งของ Robin van Persie ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้รู้ถึงจังหวะและน้ำหนักที่เหมาะสม รวมถึงทิศทางที่ต้องควบคุมให้ได้อย่างแม่นยำสมกับเป็นกองหน้าอันตรายระดับโลก แต่ไม่แน่ครับ ในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจไม่มีโอกาสได้เห็นประตูสุดสวยที่มาจากลูกโหม่งอีกต่อไป เพราะอะไรครับ เพราะการใช้ศีรษะโหม่งในเกมฟุตบอลอาจไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ ที่รักการเล่นฟุตบอลจะถูกสนับสนุนให้ฝึกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นทักษะที่เก่ง

เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง สมาพันธ์ฟุตบอลของสหรัฐอเมริกาได้ออกกฏที่บอกว่า ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปีใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอลในการแข่งขัน และจำกัดการใช้ศีรษะโหม่งฟุตบอลในการฝึกซ้อมใดๆ ของเด็กอายุระหว่าง 11-13 ปี โดยบังคับใช้กับทีมชาติเยาวชนรวมทั้งสถานศึกษาและทีมเยาวชนของสโมสรอาชีพทุกทีมด้วย อันเนื่องมาจาสาเหตุที่มีกลุ่มผู้ปกครองของเยาวชนและผู้เล่นได้รวมตัวกันฟ้องร้อง FIFA สมาพันธ์ฟุตบอลของสหรัฐฯ และองค์กรบริหารฟุตบอลระดับเยาวชนของสหรัฐฯ ว่าละเลยการให้ความสำคัญและการรักษาผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ (head injury) อันเนื่องมาจากการเล่นฟุตบอล ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50,000 กรณีในเกมฟุตบอลระดับมัธยมศึกษาอย่างเดียวในปี 2010 ส่งผลให้มีการตัดสินใจบังคับใช้กฎดังกล่าว โดยกฎดังกล่าวก็ยังถูกยกระดับเป็น ข้อเสนอแนะ ที่สมาพันธ์ฟุตบอลที่อื่นๆ จะนำไปปรับใช้ตามด้วยก็ได้

นอกจากนี้แล้ว สืบเนื่องมาจากการตื่นตัวและการให้ความสำคัญกับอาการบาดเจ็บที่ศีรษะที่เพิ่มขึ้นในสังคม สมาพันธ์ฟุตบอลของสหรัฐฯ ยังมีแนวคิดริเริ่มที่จะเอาวิธีที่เราเห็นในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกปีนี้มาใช้ด้วย นั่นคือการอนุญาตให้มีการใช้ตัวสำรองชั่วคราวในเกมการแข่งขันได้มากกว่าโควต้าปกติ 3 คนหากมีผู้เล่นได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะและแพทย์สนามแนะนำให้ออกมาตรวจดูอาการข้างสนามและพักการเล่นจนกว่าจะอาการดีขึ้น กรณีการเสี่ยงอาการบาดเจ็บที่ศีรษะและฝืนเล่นโดยไม่ถูกวินิจฉัยอย่างถูกต้องอย่าง Javier Mascherano ของอาร์เจนติน่า หรือ Christoph Kramer ของทีมเยอรมันในฟุตบอลโลกที่ผ่านมาก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป หากกฎดังกล่าวถูกนำมาใช้

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตามมา แต่เท่าที่ศึกษาดู ดูเหมือนว่ากระแสเห็นด้วยจะมีน้ำหนักมากกว่า และก็มิใช่ว่าจะมีกระแสไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแค่ว่าความเห็นรวมของบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางสมอง แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ต่างๆ ยังบอกว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนชัดเจนมากนักจากการเก็บสถิติและทำการวิจัยอย่างเป็นทางการในเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้ผมเชื่อว่าจะต้องมีการทำวิจัยและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

เท่าที่อ่านดูและเห็นกรณีศึกษาของนักฟุตบอลอาชีพที่เสียชีวิตและถูกวินิจฉัยว่ามีสาเหตุมาจากอาการบอบช้ำทางสมองก็มีอยู่ 2-3 รายในอดีตที่ถูกนำมากล่าวอ้าง คนแรกคืออดีตกองหน้าของทีม West Bromwich Albion ที่ชื่อว่า Jeff Astle คนที่สองคืออดีตกับตันทีมชาติบราซิลชุดฟุตบอลโลกปี 1958 ที่ชื่อว่า Bellini และล่าสุดที่เชื่อว่าก่อให้เกิดกระแสในประเทศสหรัฐฯ ก็คือการเสียชีวิตของนักฟุตบอลกึ่งอาชีพที่ชื่อว่า Patrick Grange ที่มีอายุเพียงแค่ 29 เท่านั้น โดยทั้ง 3 กรณีได้ถูกวินิจฉัยว่ามีสาเหตุมาจากอาการกระทบกระเทือนและมีแผลทางสมองเหมือนกับอาการบาดเจ็บที่เห็นประจำกับนักมวย

ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะรับฟังหรือรับรู้สาเหตุการเสียชีวิตของคนเหล่านี้ คนที่คลางแคลงใจก็มักจะอ้างว่าเกมฟุตบอลปัจจุบันเต็มไปด้วยเทคนิคและไม่รุนแรงเหมือนสมัยก่อน ลูกฟุตบอลก็มีน้ำหนักเบาขึ้นเยอะ ไม่อมน้ำเวลาเปียก เจ้าหน้าที่แพทย์สนามต่างๆ ก็ได้รับการฝึกมาอย่างดี แต่นั่นแหละครับ ลูกฟุตบอลแม้จะน้ำหนักไม่มากแต่ในเกมการแข่งขันก็สามารถพุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ง่ายๆ สามารถก่อให้เกิดแรง G ถึงกว่า 20G หากกระทบศีรษะของเรา

ยิ่งถ้าหากเป็นเด็กๆ ที่เล่นกันสนุกๆ ไม่ได้ถูกฝึกเทคนิคในการโหม่งอย่างถูกต้อง เรื่องการเกร็งกล้ามเนื้อคอ เรื่องการหาจุดปะทะที่เหมาะสม เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นะครับ เพราะทางการแพทย์บอกแล้วว่ายิ่งกล้ามเนื้อคอของเด็กยังไม่พัฒนา ก็จะส่งผลให้เนื้อสมองในกระโหลกมีการเคลื่อนที่กระแทกไปมามากขึ้นสำหรับการโหม่งบอลในแต่ละครั้งเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ และสัดส่วนของศีรษะเด็กเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวแล้วก็จะมากกว่าของผู้ใหญ่ด้วย ยิ่งทำให้โอกาสในการเคลื่อนที่หลังแรงกระแทกมีมากขึ้นตามโมเมนตัม

แม้ในระดับอาชีพก็ตามที รู้ๆ กันอยู่ว่าเวลายืนเป็นกำแพงป้องกันลูกเตะฟรีคิก เรามักจะกลัวลูกฟุตบอลโดนศีรษะหรือหน้ากันทั้งนั้น ยิ่งถ้ารู้ว่ามีนักเตะอย่าง Slatan Ibrahimovich ซึ่งสามารถยิงประตูได้ด้วยความเร็วกว่า 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การใช้ศีรษะโหม่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป

ยิ่งทราบข้อมูลเหล่านี้ยิ่งทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่นะครับ ฟุตบอลเป็นเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุด คนหลายร้อยล้านคนเล่นฟุตบอลกันอย่างสม่ำเสมอ ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ผู้เล่นได้ประโยชน์จากการวิ่ง กระโดด สปีด หมุนตัว เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายอย่างมาก หากความหวาดกลัวการบาดเจ็บที่ศีรษะถูกนำมาขยายความอย่างไม่ถูกต้องและต่อเนื่อง สร้างกระแสความวิตกให้กับคนเล่น โดยเฉพาะผู้ปกครองของเยาวชน เราจะประพฤติตัวกันอย่างไร

หากเราเลือกที่จะละเลยไม่ให้ความสนใจกับเรื่องดังกล่าว เราจะเห็นกรณีการบาดเจ็บทางสมองหรือศีรษะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผมคิดว่าในต่างประเทศน่าจะมีการเริ่มวิจัยและเก็บข้อมูลมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ได้รับการเผยแพร่หรือได้ข้อสรุปที่ชัดเจนนัก อันนี้ถ้าเราได้เห็นผลวิจัยที่มีหลักการและได้รับการยอมรับก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป อาจมีทางเลือกในการฝึกที่ส่งผลกระทบน้อยลง หรือมีการจำกัดครั้งของการโหม่งในแต่ละเกม ฯลฯ แต่ถ้าหากเราเลือกที่จะหวาดกลัวอย่างไร้เหตุผลมันจะเป็นอย่างไร เนื่องจาก การโหม่ง เป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งของทักษะฟุตบอลและเป็นสเน่ห์อันหนึ่งของเกม

ไม่แน่นะครับ เราอาจได้เห็นอนาคตของอันดับทีมชาติต่างๆ เปลี่ยนไปก็ได้ถ้าหาก การโหม่ง กลายเป็นสิ่งที่ถูกแบนจากเกมฟุตบอล ทีมเอเชียที่ตัวเล็กๆ และเล่นลูกกลางอากาศสู้ฝั่งยุโรปไม่ได้อาจมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก กองหน้าระดับโลกบางคนอาจค่าตัวตกได้เพราะถนัดแต่ลูกกลางอากาศ และบอลพรีเมียร์ลีกอาจ เรตติ้งตกก็ได้นะครับ เพราะความมันส์และความเร็วของเกมจากการโยนบอลจะหายไป และสุดท้ายแล้ว เราก็จะได้เห็นทีมชาติอังกฤษที่เล่นต่อบอลบนพื้นเหมือนคนอื่นเค้าบ้าง

ที่มาของภาพ hxxp://wpmedia.o.canada.com/

Related Articles

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

European Super League Feature

ความเป็นไปได้อีกครั้งของ European Super League?

ในปีนี้ผมเขียนถึงประเด็นของลีกฟุตบอลในทวีปยุโรปที่นับวันจะมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ มาก็หลายครั้งแล้ว แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่อให้เห็นว่า โครงสร้างของการแข่งขันฟุตบอลลีกแบบเดิมๆ ในทวีปยุโรปนี้กำลังถูกรุกรานและคุกคามจากอำนาจของเงินตราและผลประโยชน์จำนวนหลายแสนล้านบาทที่มองไปตอนนี้ยังไงผมก็ยังเห็นกรรมวิธีการแบ่งเค้กในเรื่องของรายได้ระหว่างสโมสรในลีกยอดนิยม กับสโมสรในลีกที่ถดถอย หรือระหว่างสโมสรยักษ์ใหญ่ กับสโมสรเล็กๆ ยังไงๆ ก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก ถ้าผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ผมมาตลอดจะพอจำได้ว่าผมเคยเขียนถึงบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในลีกของยุโรปที่ถูกนายทุนและเจ้าของเงินทั้งจากสหรัฐอเมริกาเข้าไปซื้อกิจการจากเจ้าของเก่าหรือเข้าไปถือหุ้นเป็นพาร์ตเนอร์รายใหญ่สุดของสโมสรอันเนื่องมาจากโอกาสในการทำรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ค่าถ่ายทอดสดที่เราพูดกันที่ตัวเลขหลักแสนล้านบาทกันแล้วสำหรับ EPL ไม่ว่าจะเป็นสโมสร Arsenal, Aston Villa, Bournemouth, Liverpool,

“สถานีแรก” ของแฟชั่นเสื้อบอล

นิตยสาร Wired ผู้คุยว่ามักจะล้ำสมัยในเนื้อหา ได้บอกไว้ว่า โลกหลังยุคโควิด-19 หรือเรียกเท่ๆ ว่า New Normal จะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว  ทว่า บทบาทใหม่ในโลกออนไลน์ ยังคงเป็นของ Top 4 อันไม่ได้หมายถึง แมนซิ ลิเวอร์พูล แมนยู หรือ