เท่าไหน ที่เท่ากัน?
เพราะเราไม่ได้ขอสิทธิ์ที่มากกว่า
แค่ขอให้ได้ "เท่ากัน"

‘ทุกคนเท่ากัน’ คำพูดที่พูดได้ง่าย แต่กลับทำให้เกิดขึ้นจริงได้ไม่ง่ายนัก และเบื้องหลังยังแฝงการเรียกร้องพร้อมยืนหยัดจากใครหลายคนที่มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่สังคมคุ้นเคย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายนั้นมาตั้งแต่ในอดีต รวมไปถึง…การยืดหยัดเพื่อความเท่าเทียมทางเพศด้วยเช่นกัน

คุยนอกทวีตกับคุณเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแสนสิริ คราวนี้ กับคำถามที่ว่า “เท่าไหน ที่เท่ากัน” EP.02 มาพร้อมกับ Speaker สุดพิเศษถึง 2 ท่าน ทั้งคุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ ที่ปัจจุบันเป็นนักจิตบำบัดด้วยแนวคิดด้านปรัชญาจากความเข้าใจถึงการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ และยังเป็นผู้ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศใด พร้อมด้วยคุณเอม เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย หรือที่รู้จักในนามคุณคิลิน นักเขียนนิยายแนวยูริหรือหญิงรักหญิงชื่อดัง และเจ้าของร้าน The Kloset สเปซที่เป็นเสมือน community เล็กๆ และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงไม่ว่าจะมีตัวตนทางเพศแบบไหน

ใน EP นี้แสนสิริได้ชวนทุกคนมาร่วมเดินทางต้อนรับ Pride Month พร้อมร่วมรับฟังการพูดคุยถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะในสังคมที่เราเผชิญอยู่กัน ส่วนจะมีประเด็นอะไรซ่อนอย่างบ้างนั้น ตามมาสำรวจกันเลย

Pride Month มาถึง แต่ความเท่าเทียมทางเพศ สังคมไทยยังมาไม่ถึง

Pride Month เดินทางมาถึงอีกครั้งแล้ว หลายปีมานี้เราได้เห็น Pride Parade พาเหรดมากมายที่มาพร้อมสีสัน รวมทั้งความสนุกสนานและไลฟ์สไตล์การกินดื่มเที่ยวเพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาดังกล่าว

หากแต่จะลืมไปไม่ได้เลยว่านี่ยังเป็นการเตือนใจถึงเหตุการณ์ในอดีตที่การเลือกปฏิบัติและการกดขี่ทางเพศกลายเป็นแรงผลักดัน ณ คลับ Stonewall Inn ในนิวยอร์ก จนเกิดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ+ หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเมื่อปี 1969 นับตั้งแต่นั้นเองประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่แม้ Pride Month จะมาถึง ความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงกลับยังมาไม่ถึงสังคมไทยเท่าที่ควร เราต่างคุ้นชินกับความไม่เท่าเทียมที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมไทยมาหลายยุคสมัย แม้ปัจจุบันจะนับว่าดีขึ้นจากในอดีต แต่การเผลอสร้างบาดแผลอย่างไม่ตั้งใจยังเกิดขึ้นเสมอผ่านการแสดงออก การใช้ภาษา ความคิดความเชื่อที่แฝงอยู่ในการกระทำต่างๆ

เช่นเดียวกับที่คุณเศรษฐาได้บอกเล่าถึงการใช้คำพูดในอดีตว่า “ที่ดินนี้มันกะเทย” ซึ่งเป็นคำเปรียบที่สื่อถึงที่ดินที่ทำคอนโดก็ไม่ดี ปลูกบ้านเดี่ยวก็ไม่ดี โดยเกิดจากซึมซับทางวัฒนธรรมจากสังคมมา แต่นั่นก็ล้วนแต่เป็นการเผลอสื่อสารโดยคิดน้อยเกินไปจนลืมไปว่าคำพูดนั้นแฝงการเหยียดเพศอยู่กลายๆ

สิ่งสำคัญจึงเป็นการเน้นสร้างการตระหนักรู้ไปพร้อมกับสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์เราท่ามกลางสังคมไทยในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการยอมรับและพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีใครถูกทำร้าย กดขี่ หรือไม่ถูกตระหนักถึงใน Community แห่งนี้

Srettha Thavisin เศรษฐา ทวีสิน

ต่างคน ต่างรุ่น ต่างความเข้าใจ ต้องพัฒนาไปพร้อมกัน

ในแต่ละสังคมนั้น การเปิดรับความหลากหลายอาจแตกต่างกันไป ที่ประเทศอังกฤษซึ่งดูเหมือนค่อนข้างเปิดกว้าง หากแต่สำหรับ Transgender หรือผู้หญิงข้ามเพศแล้ว กลับยังคงต้องการยอมรับที่มากขึ้นอยู่ ส่วนสังคมไทยที่ดูเปิดกว้างกับ LGBTQ+ ก็ยังคงหลงลืมบางเพศไปเช่นกัน

ส่วนหนึ่งอาจเพราะสังคมไทยเป็นสังคมของคนต่างวัย ต่าง generation ซึ่งอาจมีความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ผู้คนบางวัยอาจไม่เข้าใจถึงแนวคิดเรื่องความเสมอภาคและการเลือกใช้คำพูดจากคลังศัพท์อันจำกัดที่พวกเขามี จึงอาจใช้คำไม่เหมาะสมต่อบางเพศได้ เช่น การเรียกเหมารวมคนบางกลุ่มว่าทอมหรือกะเทย ทั้งๆ ที่ความหลากหลายทางเพศมีมากกว่านั้น

ที่ต่างจังหวัด คนเฒ่าคนแก่ไม่มีคลังศัพท์ให้เรียกอย่างอื่นแล้ว จึงเรียกรวมหมด ทอม กะเทย ไม่มีคนไปให้ความรู้เขา เขาจึงไม่มีคลังศัพท์ไหนให้ใช้ ดังนั้นก็ไม่ควรไปโกรธกัน

– คุณเอม เอมอนันต์ อนันตลาโภชัย –

สิ่งสำคัญจึงไม่มุ่งโกรธกัน แต่เป็นการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการพูดคุย ด้วยการค่อยๆ อธิบายและสร้างความเข้าใจว่าทำไมคำพูดนั้นๆ จึงไม่ควรใช้ แทนที่จะแสดงความไม่พอใจ โดยอาจเริ่มสื่อสารกับหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างครอบครัว ก่อนจะค่อยๆ ขยายการสื่อสารให้กว้างขึ้น

Aimanan Kilin

กรอบทางสังคม…ตีกรอบเราไว้ไม่ให้เท่าเทียม

กรอบทางสังคมเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยยังเดินทางไปไม่ถึงความเท่าเทียมอย่างที่หวัง บางครั้งเรามีการกำหนดและคาดหวังว่าสิ่งต่างๆ ต้องเป็นไปตาม stereotype หรือทัศนคติแบบเหมารวมของคนในสังคม โดยเฉพาะในการแสดงออกผ่านการแต่งกาย เช่น เป็นผู้ชายต้องแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้กว่าไหม เป็น Intersex หรือผู้ที่มีอวัยวะสืบพันธุ์สองเพศควรจะแต่งตัวเป็นเพศไหน สีใด เข้าห้องน้ำเพศไหน ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว เสื้อผ้า สิ่งของ สถานที่ และสีสันต่างๆ ล้วนแต่ไม่มีเพศ

สังคมไทยยังอยู่ในจุดที่หลายๆ อย่างโดนแบ่งกลุ่มเป็นขาวกับดำเยอะมาก ทั้งๆ ที่แม้แต่เสื้อผ้าหรือสี ก็ไม่มีเพศ…วันนี้ได้มาที่แสนสิริ เจอป้ายห้องน้ำเป็นสัญลักษณ์ LGBTQ+ รู้สึกมีความสุขและรู้สึกปลอดภัยมาก

– คุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ –

กรอบทางสังคมที่หยั่งรากลึกมาตั้งแต่ในอดีตยังส่งผลต่อกลุ่ม LGBTQ+ ในหลายๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่การมีทรัพย์สินร่วมกัน จากแต่ก่อนที่การกู้ร่วมสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เป็นไปได้อย่างยากลำบาก แต่ปัจจุบันการมีพ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็ช่วยให้คู่รักที่ไม่ใช่คู่ชาย-หญิงมีสิทธิ์หลายๆ อย่างร่วมกันได้มากขึ้น สำหรับที่แสนสิริเองก็มีการพูดคุยกับธนาคารมากมาย หนึ่งในสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ช่วยให้การกู้ร่วมของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ก็มีบางแห่งที่ gender stereotype ยังคงฝังรากลึกค่อนข้างมากในความคิดและความเชื่อ

เราไม่ได้ต้องการอะไรมากกว่าความเท่ากันจริงๆ บางคนบอกว่าเรียกร้องสิทธิอีกแล้ว จะเอาอะไรอีก แต่นั่นคือคุณเกิดมามีพร้อมแล้ว คุณไม่ได้ต้องบำบัดทั้งชีวิต โดนรังแกมาทั้งชีวิต คุณมีสิทธิอยู่แล้วกับตัว แต่คนเหล่านี้ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา

– คุณเขื่อน ภัทรดนัย เสตสุวรรณ –

Koen Pataradanai

การยอมรับออกสตาร์ทได้จากครอบครัว

คุณเขื่อนถือเป็นหนึ่งในคนโชคดีที่ได้เกิดมาในครอบครัวที่เปิดกว้างและพร้อมยอมรับในตัวตนที่เป็น ในขณะที่มีหลายคนต้องทรมานจากการที่ครอบครัวไม่ยอมรับในเพศที่เป็น จึงต้องสร้างครอบครัวของตัวเองขึ้นมาใหม่กับคู่ชีวิตที่เข้ากันและยอมรับซึ่งกันและกันได้ โดยอาจรับบุตรบุญธรรมเข้ามา เพื่อเติมเต็มครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในครอบครัวแบบนี้เองจึงเกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่มีใครต้องเจ็บปวดจากการไม่ได้รับการยอมรับจากคนที่รัก

ครอบครัวของคุณเศรษฐาก็เรียกได้ว่าอีกครอบครัวที่มีการเปิดกว้างเช่นกัน นั่นคือไม่ว่าลูกๆ จะเลือกคนเพศไหนเป็นคู่ชีวิต หรือต่อไปจะมีการแสดงออกทางเพศแบบไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอเพียงเป็นคนดี ไม่เบียดเบียนใครก็เพียงพอแล้ว เพราะสุดท้ายคุณเศรษฐามองลูกเป็นลูกคนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ แต่อย่างใด

หากการยอมรับและความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศเริ่มต้นขึ้นในทุกๆ ครอบครัวได้เช่นนี้ ความเท่าเทียมทางเพศก็ย่อมขยายวงกว้างไปสู่ระดับสังคมได้ไม่ยากอย่างแน่นอน

Koen Pataradanai

จะเป็นอย่างไร ในวันที่ทุกเพศเท่าเทียม?

เมื่อวันหนึ่งสังคมไทยก้าวไปสู่จุดหมายของความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง การรวมกลุ่มชี้เป้าว่าใครบางคนในสังคมเป็นคนแปลกแยกจะหายไป

ในการทำงาน การเลือกใช้บุคลาการจะมีประสิทธิภาพและเต็มความสามารถของเขามากขึ้นในภาคส่วนต่างๆ เพราะไม่มีการมาแบ่งว่าใครเป็นชาย เป็นหญิง หรือเป็น LGBTQ+ แต่มองและยอมรับว่าคนนี้เป็นบุคลากรคนหนึ่งที่มีความสามารถ เหมาะกับงานแต่ละประเภท พร้อมกับที่จะไม่มีใครต้องหวาดกลัวที่จะแสดงออกและในการแต่งตัว แม้แต่การสร้างสรรค์ผลงานก็จะมีมากขึ้น เพราะไม่มีคนกลุ่มไหนถูกจำกัดความคิดเพียงเพราะไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง เช่นเดียวกันกับที่แสนสิริที่ทุกวันนี้วัดผลกันด้วยความสามารถเป็นหลัก รวมทั้งจากการตอบสนองต่อเสาหลักหรือผู้คนที่เราดูแลอยู่  ไม่ว่าจะลูกค้า ผู้ถือหุ้น สังคม หรือเพื่อนพนักงาน

ในขณะที่การท่องเที่ยวเองก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นจริงตามมาได้ เพียงแค่เราให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่ว่าเพศใดๆ อันรวมถึงผู้มีความหลายหลายทางเพศด้วยเช่นกัน อย่างเช่นการจัดงานแต่งงานใต้น้ำสำหรับคู่รัก LGBTQ+

สิ่งเหล่านี้เองจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าไปได้ไกล เช่นเดียวกับความเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดทางด้านเศรษฐกิจของไต้หวันหลังมีการผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน

เศรษฐกิจจะดีกว่าประเทศหรือสังคมที่กีดกัน เพราะคนเก่งนั้นไม่จำกัดอยู่ที่เพศไหน คนเก่ง ทุกคนเป็นได้หมด ไม่จำเป็นว่าต้องมีรสนิยมทางเพศแบบไหน

– คุณเศรษฐา ทวีสิน –

Srettha Thavisin

แล้วท้ายที่สุด เท่าไหน ที่เท่ากัน?

แม้ว่าคุณเศรษฐา คุณเขื่อน คุณเอม หรือไม่ว่าใคร อาจบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเท่าไหน…ที่เท่ากัน หรือเท่าไหน…ที่เรียกว่าเป็นความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือเรื่องใดๆ เพราะนั่นอาจแตกต่างกันไปในความคิดใครแต่ละคน บางคนอาจมองว่าจุดที่เท่าเทียมขึ้นอยู่กับความสุขที่ได้รับ หรือสำหรับบางคนอาจเป็นการเขาได้รับโอกาสในหน้าที่การงานไม่แตกต่างจากคนอื่น

แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือการได้ริเริ่ม “สังคมแห่งการพูดคุย” อันเป็นสังคมที่เราพูดคุยถึงประเด็นอันเปราะบางนี้ได้อย่างเปิดเผย และถือได้ว่าเป็นก้าวแรกในการผลักดันสังคมไทยให้พัฒนาไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เคยเช่นกัน ด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าวันหนึ่ง ไม่ว่าใคร เพศไหน มีความแตกต่างกับคนอื่นอย่างไร ก็สามารถใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกจากใจและความจริงที่ว่า ‘เราเท่ากัน’ พร้อมได้รับการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง

Live Equally symbolic

แต่ไม่ว่าความเท่าเทียมที่แท้จริงจะมาถึงเมื่อไหร่ หรือต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน แสนสิริก็จะยังคงมุ่งหน้าสนับสนุนความเท่าเทียมอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม สัมคม และชีวิตที่ดีให้กับโลกใบนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน

สามารถฟังพอดแคสต์ SIRI Podcast
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ด้านล่าง

CONTRIBUTOR

Related Articles

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ฟรีวีซ่า เปิดรับนักท่องเที่ยวจีน

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เป็นหุ้นส่วนของประเทศและมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจได้ผ่านภาวะวิกฤติมาหลายระลอก หลังจากที่ได้เห็นแผนการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว ดีใจที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้ความสำคัญกับจังหวัดรองอย่าง สตูล จันทบุรี ระนอง ตราด จากเดิมมองแค่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ผมมองว่าคุณภาพของนักท่องเที่ยวสำคัญ เน้นเรื่องการมาอยู่ยาว หรือลองสเตย์ ที่มาเมดิคัลเวลเนส ทำให้ระยะเวลาในการอยู่เร็วขึ้น ทำให้ใช้จ่ายเงินเยอะขึ้น จากปีนี้ที่ต้องเป้าไว้ว่าจะได้นักท่องเที่ยว 10

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

มิติด้านสิ่งแวดล้อม ของ ESG กับภาคธุรกิจไทย

แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน หรือ ESG ซึ่งย่อมาจาก environment (สิ่งแวดล้อม) social (สังคม) และ governance (บรรษัทภิบาล) ปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั้งจากบริษัทจดทะเบียน นักลงทุน และผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ใครก็หลีกเลี่ยงไม่สนใจไม่ได้ในตอนนี้ จากทั้ง 3 มิติดังกล่าว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าถ้ามองในมุมที่จับต้องได้แล้ว มิติด้านสิ่งแวดล้อม

tax, ภาษี

To tax or not to tax ?

ที่ประเทศอังกฤษตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหาเสียงของตัวแทนจากพรรคอนุรักษนิยม 2 คน ที่จะมาเสียบเก้าอี้นายกฯ แทน นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งประกาศลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งนโยบายหลักที่ทั้งนาง Liz Truss และ นาย Rishi Sunak ยกขึ้นมาถกเถียงกันเพื่อชิงคะแนนนิยมก็คือ เรื่องการปรับโครงสร้างภาษีนั่นเอง คนหนึ่งเสนอมาตรการลดภาษีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาให้ต่ำลง ในขณะที่อีกคนหนึ่งบอกว่าการปรับลดภาษีอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว ประเด็นภาษีนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในบริบทของประเทศไทยด้วยเช่นกัน