2017 จะเป็นปีที่โลกหมุนเร็วกว่าเดิม จนนักลงทุนบางคนต้องพาธุรกิจของตัวเองก้าวกระโดดไปข้างหน้าเพื่อขึ้นเป็น ‘ผู้นำ’ หรืออย่างน้อยก็ไม่ตามหลังใครเขา เครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะทำให้โปรเจ็คท์ของตัวเองเป็นจริง และเอาชนะคนอื่นได้ มีชื่่อว่า ‘Startup – สตาร์ทอัพ’ โครงสร้างการทำธุรกิจของคนรุ่นใหม่ เน้นการลงทุนที่สูงและประสบความสำเร็จเร็ว เพราะสมัยนี้ รอให้คนอื่นเอาไอเดียของเราไปทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จไม่ได้
นี่คือ 10 “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” ที่กำลังมาแรงในปี 2017 ทำความเข้าใจไอเดียของพวกเขา เพื่อก้าวให้ทันการตลาดยุคใหม่ไปพร้อมกัน
HUBBA: โค – เวิร์กกิ้ง สเปซ มาแรงที่สุดในตอนนี้
Credit: hubbato
คืออะไร: น่าจะเป็นสตาร์ทอัพเจ้าแรกๆ ในประเทศไทยที่ตั้งตัวได้และเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ Hubba เข้าใจจังหวะการทำงานของคนรุ่นใหม่ จึงสร้าง โค – เวิร์กกิ้ง สเปซ ขึ้นมาเพื่อให้เป็นพื้นที่การระดมความคิด แชร์ไอเดีย และต่อยอดธุรกิจ เป็นสถานที่ครบวงจรที่ทำให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ไม่ต้องไปนั่งอุดอู้คุยงานในร้านกาแฟ
ทำไมถึงน่าจับตามอง: เพราะ Hubba ขยายการลงทุนไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ และเวียงจันทน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอาจเป็นเพราะความสนุกที่ได้เริ่มทำ เรายังจะเห็นโครงการอื่นเกิดขึ้นมาตามเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น โครงการ Hubba – To ที่เป็นเวิร์คช็อปงานศิลปะหลายประเภท ช่วยให้ศิลปินหรือนักศึกษาประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ซึ่ง Hubba – To นั้นตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ของ Habito Mall คอมมูนิตี้มอลล์จากแสนสิริที่สุขุมวิท 77 นั่นเอง
ดูต่อที่: www.hubbathailand.com
ROBINHOOD: ซื้อ – ขาย หุ้นโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม
Credit: devicedaily.com
เงินลงทุน: 66 ล้านเหรียญ
คืออะไร: โรบินฮู้ด คือแอพพลิเคชั่นที่ทำให้คุณสามารถซื้อและขายหุ้นได้ผ่านมือถืออย่างสะดวกสบาย และไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือเสียค่าธรรมเนียมในราคาที่เป็นมิตร และต่ำกว่าที่อื่น
ทำไมถึงน่าจับตามมอง: วัยรุ่นสมัยนี้เริ่มเล่นหุ้นตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งสตาร์ทอัพเจ้านี่โฟกัสที่เด็กรุ่น ‘มิลเลนเนียลส์’ โดยเฉพาะ (วัยรุ่นที่เกิดหลังปี 2000) เพราะพวกเขากำลังเติบโตมาเป็นเจเนเรชั่นที่ใช้จ่ายมากที่สุดของโลก แอพฯ นี้จะทำให้เขารู้สึกแฟร์ในการทำธุรกิจ และสร้าง ‘Loyalty’ ตลอดไป
ดูต่อที่: www.robinhood.com
THESKIMM: ข่าวเช้าสำหรับวัยรุ่นยุคใหม่
เงินลงทุน: 16.4 ล้านเหรียญ
คืออะไร: Morning Newsletter หรือข่าวเช้ารับวันใหม่ที่เนื้อหา การเรียบเรียง และโทนเสียงที่ใช้ เขียนเพื่อคนอ่านที่เป็นวัยรุ่นโดยเฉพาะ มีทั้งในเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น
ทำไมถึงน่าจับตามอง: ในปีที่ผ่านมา มีคนสนใจติดตามข่าวจากแอพฯ นี้มากกว่า 4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ทำให้เราเห็นว่า อันที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง แต่เลือกอ่านที่เข้ากับความชอบและรสนิยมของตัวเองมากกว่า แอพฯ ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สร้างกำไรให้กับผู้ผลิตได้อีกมหาศาล จากฐานคนอ่านที่น่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ดูต่อที่: www.theskimm.com
ZOLA: ซื้อของขวัญวันแต่งงานให้คู่บ่าวสาวแบบออนไลน์
เงินลงทุน: 40.85 ล้านเหรียญ
คืออะไร: บริการซื้อของให้กับคู่บ่าวสาวที่แต่งงาน ตามธรรมเนียมฝรั่ง จะไม่มีการใส่ซองช่วยงาน แต่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำ Wedding Registry ขึ้นมา ซึ่งเป็นลิสต์ของสิ่งที่อยากได้ หากเพื่อนหรือแขกคนไหนอยากซื้อสิ่งใดเป็นของขวัญให้ผู้รับ ก็จะตรงกับความต้องการพอดี
ทำไมถึงน่าจับตามอง: เพราะธุรกิจนี้เติบโตขึ้นมากจากปีที่แล้ว เพราะเขาจับตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก มีตัวเลือกมากมาย และมีบริการส่งฟรีอีก เป็นตัวช่วยที่ประหยัดเวลาของคนได้ทุกฝ่าย
ดูต่อที่: www.zola.com
OPENDOOR: นายหน้าการันตีราคาบ้าน และจ่ายเงินให้ก่อนผู้ซื้อ
เงินลงทุน: 320 ล้านเหรียญ
คืออะไร: นายหน้าช่วยเราขายบ้านที่จะหาราคาที่ดีที่สุดมาให้ การันตีราคาว่าจะไม่ขายต่ำกว่านี้ (หรือสูงกว่าหากเป็นไปได้) และเมื่อมีคนซื้อแล้ว จะจ่ายเงินเต็มจำนวนให้ภายใน 30 วันก่อนถึงวันที่ดีล
ทำไมถึงน่าจับตามอง: อาจเป็นเพราะธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูง นักลงทุนจึงคาดหวังกับผลตอบรับอย่างมาก Opendoor สร้างกระแสในวงการอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างน่าตื่นเต้น เขาประกาศแล้วว่า จับตารอดูการขยายตัวภายในปีนี้ให้ดี
ดูต่อที่: www.opendoor.com
GAMETIME: แอพฯ ขายบัตรการแสดง ซื้อได้แม้ไม่กี่นาทีก่อนเล่น
เงินลงทุน: 33.3 ล้านเหรียญ
คืออะไร: แอพพลิเคชั่นปล่อยตั๋วการแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต การแสดง หรืออะไรก็ตามที่คุณสามารถหามาดูได้ในวินาทีสุดท้าย
ทำไมถึงน่าจับตามอง: เมื่อปีที่ผ่านมา Gametime สามารถขายตั๋วไปได้มากถึง 50 ล้านเหรียญ เขาทำหน้าที่เป็นตัวกลางของคนที่อยากปล่อยตั๋ว กับคนที่อยากซื้อตั๋ว แค่ถ่ายรูปลงประกาศ ก็สามารถซื้อ – ขายกันได้ง่ายๆ
ดูต่อที่: www.gametime.co
ACOMMERCE: ช่วยเหลือ e-commerce แบบครบวงจร
เงินลงทุน: 30 ล้านเหรียญ
คืออะไร: ตัวกลางที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือธุรกิจ e-commerce แบบครบวงจร ให้คำแนะนำและแก้ปัญหาในทุกๆ ด้าน กำเนิดจากประเทศไทย และมีเซ็นเตอร์ทั้งในประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ บริษัทนี้พร้อมช่วยเหลือการทำธุรกิจออนไลน์ในทุกด้าน เช่น การสร้างแบรนด์ แผนการตลาด และการขนส่ง เป็นต้น
ทำไมถึงน่าจับตามอง: เพราะในปี 2017 บริษัทจะใช้เงินลงทุนก้อนที่ 2 จากที่เฟสแรกประสบความสำเร็จและได้การตอบรับที่ดี พร้อมจับมือกับ DKSH ในฐานะ บิสสิเนส พาร์ทเนอร์ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดได้จริง
ดูต่อที่: www.acommerce.asia
CLAIM DI: ชนได้ ไม่ต้องรอประกัน
เงินลงทุน: 2 – 10 ล้านเหรียญ
คืออะไร: สตาร์ทอัพสายเลือดไทยที่มีต้นกำเนิดจากปัญหาบนท้องถนนที่แท้จริง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริง คุณสามารถเอามือถือของคู่กรณีมา Shake และเคลมประกันภัยด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ หรือหากไม่มีคู่กรณี ก็ถ่ายรูปความเสียหายได้เองง่ายๆ
ทำไมถึงน่าจับตามอง: ไอเดียของ เคลมดิ เคยเข้าตากรรมการและชนะการประกวดมาแล้ว ซึ่งการันตีด้วยบริษัทประกันภัย 15 เจ้าที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับแอพฯ นี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดูต่อที่: www.claimdi.com
TAKE ME TOUR: ใครๆ ก็เป็นไกด์ได้
คืออะไร: แอพพลิเคชั่นของคนไทยที่ออกแบบมาเพื่อสร้างกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความสนใจร่วมกัน โดยเราจะรับหน้าที่เป็นคนพาไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ซึ่งวางแพลนไว้เอง และสามารถตั้งราคาตามที่ต้องการได้ด้วย
ทำไมถึงน่าจับตามอง: รายได้ก้อนใหญ่ของประเทศไทยเกิดจากธุรกิจการท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวสมัยนี้มีความหลากหลายสูงมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ปฏิเสธการมากับบริษัททัวร์ และอยากค้นหาสถานที่แปลกใหม่อย่างที่หนังสือพาเที่ยวไม่เคยบอกไว้ คุณสามารถตั้งกลุ่มพากินอาหารละแวกบ้านหรือเที่ยววัดเล็กๆ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก มีรายได้และโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว ส่วนใหญ่เป็นแบบ One Day Trip ง่ายๆ จบในวันเดียว
ดูต่อที่: www.takemetour.com
FLOWACCOUNT: เหมือนมีคนทำบัญชีให้ฟรี
คืออะไร: โปรแกรมทำบัญชีออนไลน์ สำหรับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ออกแบบวิธีการใช้และเท็มเพลตให้ใช้งานได้ง่าย แม้จะไม่มีความรู้เรื่องบัญชีเลยก็ตาม
ทำไมถึงน่าจับตามอง: สตาร์ทอัพสัญชาติไทยอีกแบรนด์หนึ่งที่น่าจับตามองและดูจะมาแรงจริงๆ ในปี 2017 เจ้าของตำแหน่งชนะเลิศจากรายการ AIS THE STARTUP 2015 มีลูกค้าเป็นเจ้าของธุรกิจระดับร้อยล้านหลายแอคเคาท์และเรามองว่านักธุรกิจรุ่นใหม่อีกหลายรายคงเป็นหนึ่งในผู้ใช้ยูสเซอร์ของเขาในปีนี้
ดูต่อที่: www.flowaccount.com
อีกหนึ่งบทความเกี่ยวกับ “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” ที่คุณอาจสนใจ สตาร์ทอัพ: เข้าใจคนรุ่นใหม่ จากโมเดลธุรกิจแบบก้าวกระโดด