วันนี้คุณคุยกับหุ่นยนต์แล้วหรือยัง?
หลายคนฟังแล้วอาจจะดูเขินๆ เหมือนกับว่าเราต้องไปสนทนากับกระป๋องเคลื่อนที่ได้ แต่ถ้าคุณสังเกตจังหวะการเปลี่ยนแปลงรอบตัวดีๆ ก็จะพอเห็นว่าหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะกำลังคืบคลานเข้ามาแทนที่จนอยู่ชิดติดตัวคุณไปแล้ว คอมพิวเตอร์สามารถเล่นหมากกระดานเอาชนะมนุษย์ได้แบบไม่มีที่ติ รถยนต์ขับเคลื่อนตัวเองได้กำลังจะออกวางจำหน่ายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คุณอาจจะมองว่าเรื่องนี้ไกลตัวไปหน่อยใช่ไหม? แล้วถ้าเราบอกว่าวงการแพทย์กำลังจะถูกปฎิวัติโดยเทคโนโลยีเหล่านี้ล่ะ คงจะน่าติดตามพลวัตนี้มาทันที
เกิดอะไรขึ้นบนโลกของเรา? อีกซีกโลกหนึ่งเขากำลังทุ่มเททั้งแรงกายและแรงเงินเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า A.I. ย่อมาจาก Artificial Intelligence แปลไทยอย่างเป็นทางการว่า ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายกว่านั้นคือโปรแกรมอัจฉริยะที่สามารถคิดและตัดสินใจเองได้โดยเรียนรู้จากสิ่งที่มนุษย์ป้อนเข้าไป หากยังจินตนาการไม่ออก ขอให้นึกถึงเจ้า Siri ที่มากับ Iphone ดูสิ แม้จะยังไม่ได้เป็น A.I. ที่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นภาพแทนที่ชัดเจนอย่างมาก นักวิจัยและพัฒนา A.I. กำลังป้อนโปรแกรมเหล่านี้เข้าสู่ในทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง แน่นอนว่าหนีไม่พ้นวงการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งเกี่ยวกับเราในทุกวัน ทุกเวลา ทุกลมหายใจ
เหตุผลหลักๆ ที่อธิบายความสำคัญการมีอยู่ของ A.I. ในวงการแพทย์ได้ดี นั่นก็คือ มนุษย์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ความต้องการรักษาเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรบุคคลมีจำกัด ในอนาคต เวลาคุณเดินเข้าไปในโรงพยาบาล ก็จะเห็นว่ามีหุ่นยนต์ที่ประมวลผลด้วยสมอง A.I. ปฏิบัติการณ์กันอย่างขันแข็ง ทำทุกอย่างตรงเวลา ไม่จำเป็นต้องพัก มีประสิทธิภาพที่แม่นยำไว้วางใจได้ คุณสมบัติเหล่านี้คือข้อดีของหุ่นยนต์ที่จะมาแทนแรงงานมนุษย์ในวันหนึ่ง บริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ได้พัฒนาหุ่นยนต์ในห้องผ่าตัด (แทนที่จะมีพยาบาลห้อมล้อมหลายคน) โดยมันสามารถหยิบจับอุปกรณ์ได้ตรงตามความต้องการ ทำงานอย่างละเอียดและแผ่วเบา พร้อมกับประมวลผลและวิเคราะห์สภาวะคนไข้วินาทีต่อวินาที ไม่ต้องเดาเลยว่าแหล่งทุนที่ต่างๆ จะแข่งกันพัฒนาหุ่นยนต์สมอง AI ให้ฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับความคุ้มค่าที่ถูกกว่าจ้างคนมาทำงาน ถึงวันนั้น สิ่งที่น่ากลัวกว่าคนรุ่นใหม่ ก็คือหุ่นยนต์รุ่นใหม่ยังไงล่ะ
และนี่ไม่ใช่การเล่าเรื่องจากฉากหนึ่งในหนัง Sci-fi เพราะตอนนี้ บริษัทที่เรารู้จักกันอย่าง Baidu (คนไทยออกเสียงว่า ‘ไป่ตู้’) เว็บบราวเซอร์สัญชาติจีนก็เพิ่งจะเปิดตัว A.I. – powered chatbot โปรแกรมสนทนาอัจฉริยะสำหรับคนไข้เพื่อวิเคราะห์อาการเบื้องต้น แล้วนำข้อมูลไปส่งต่อให้แก่หมอ แน่นอน เรากำลังคุยอยู่กับ ‘บอท’ ไม่ใช่มนุษย์หลังไมค์อย่างที่หลายคนยังคิดว่าเป็นอย่างนั้นอยู่ อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เฟซบุ๊กเพิ่งจะออกมายอมรับว่ากำลังพัฒนา A.I. สำหรับวิเคราะห์คนกำลังฆ่าตัวตาย เขาทดลองแล้วจริงๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ A.I. เรียนรู้จากภาษาที่ใช้ ทั้งในแชทและบนฟีด เช่น คำถามจากเพื่อนว่า “เธอโอเคมั้ย?” หรือคำพร่ำบนท้อถอยต่อชีวิตต่างๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่โปรแกรมจับได้ว่าคุณมีสิทธิฆ่าตัวตายแน่ๆ มันจะแสดงผลไปอีกหน้าหนึ่งเพื่อถามไถ่สุขภาพจิตของคุณ พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อไม่ให้คุณฆ่าตัวตาย ย้ำนะ! ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่โปรแกรมคิดได้เองล้วนๆ
ตัวอย่างข้างบนที่นำมาเล่าอาจจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์โดยตรง แต่คงทำให้คุณเห็นภาพโลกอนาคตที่ชัดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะโดยหลักการแล้ว A.I. ในหมวดนี้ต้องทำได้ตั้งแต่ดูแลให้เรามีสุขภาพดีตลอดเวลา เช่น จัดการไลฟ์สไตล์ของเราเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี, ตรวจจับโรคร้ายที่กำลังลุกลามเข้ามาในร่างกาย เช่น เจอมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกโดยไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ, วินิจฉัยโรคได้โดยอ้างอิงจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สั่งสมมา, ตัดสินใจได้ว่าคุณต้องกินยาตัวใด หรือทำการรักษาแบบไหน, ที่ก้าวหน้าไปกว่านั้นคือการรักษาคุณได้ เช่น ฉีดยาหรือผ่าตัดเล็ก, และเมื่อใช้งานไปนานๆ โปรแกรมจะประมวลผลและมีงานวิจัยเป็นชิ้นเป็นอันออกมาเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการรักษาครั้งต่อไป
ถึงตรงนี้คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าทำไมอีกฝั่งหนึ่งของโลกเขาจึงพยายามพัฒนา A.I. และหุ่นยนต์ในหมวดนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะวงการสตาร์ทอัพที่ดูจะคึกคักเป็นพิเศษเพราะมีเม็ดเงินลงทุนไปจำนวนมหาศาล แต่พวกเขารู้อยู่แล้วว่าร่างกายของมนุษย์มีอายุไขของมัน การรักษาโรคจึงเป็นเหมือนอาหารที่เราไม่สามารถขาดได้ พูดอย่างหยาบๆ จากการสำรวจในหลายประเทศพบว่า ประชากรมีแนวโน้มจะแต่งงานน้อยลงและอยู่เป็นโสดมากขึ้น พวกเขาจะไม่มีลูกหลานมาคอยดูแลเพื่อแก่ตัวลงหรือเจ็บป่วย เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาสอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไป บ้านหนึ่งหลังจะมีหุ่นยนต์ดูดฝุ่น รถที่ขับเองได้ และหุ่นยนต์อีกตัวที่จะคอยสอดส่องสุขภาพของเราไม่ให้คลาดสายตาแม้เวลาหลับสนิทอยู่บนเตียง เครียดเกินไปแล้วนะ อย่าลืมกินยาหลังอาหาร กำลังจะเป็นเบาหวานแล้ว และอีกมากเกินจินตนาการของเรา
ติดตามความเป็นไปของเทคโนโลยีที่ทั้งเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และชีวิตประจำวัน จาก แสนสิริ บล็อก ที่ PropTech หรือเข้าไปอ่านเรื่องของหุ่นยนต์อื่นๆ คลิกอ่าน