โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า “ซุปเปอร์โบลว์” และ “แข็งแรง” กว่าธุรกิจมวย…
ถ้าเปรียบเป็นหนัง มันน่าจะเป็น Fast and the Furious มากกว่า จะเป็น Batman หรือถ้าเป็นเนตฟลิกซ์ คงเป็น Last Dance มากกว่า The Queen’s Gambit เพราะฟุตบอลเป็นไซส์ที่ใหญ่และยาว ทว่า ในความเป็นแหล่งทำเงินไม่จบสิ้น ก็มีหลายเรื่องลับ ลวง พราง ที่คนวงนอกอาจไม่ทราบ
ผมเพิ่งไปทานข้าวกับเจ้าของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษมาสองทีม แต่หลายครั้งก่อนหน้านี้ ก็มีโอกาสได้สนทนาเรื่องที่พวกเขาต้องเจอ แก้ปัญหาและปะทะกับการทำงาน นี่คือส่วนหนึ่ง ที่สามารถนำมาเล่าได้ โดยมีอีกบางส่วนที่เล่าไม่ได้
อย่างไรก็ดี “ส่วนที่เล่าได้” ก็น่าสนุกตั้งแต่ข้อแรกแล้วล่ะ
1.ผิวอะไรไม่นอนกับผิวอะไร?
พอจะนึกออกไหมครับ ช่วงที่ black live matter พัดรุนแรงในช่วงหนึ่ง การนั่งคุกเข่าของนักเตะในอังกฤษ จะพรีเมียร์ลีกหรือแชมเปียนชิพ ถูกโห่ใส่ จากแฟนบอลตัวเองและฝ่ายตรงข้าม เพราะนักเตะผิวสีบางคนเลือกที่จะยืนตรง มีอย่างน้อย 3 แมทช์ที่เป็นแบบนี้ แฟนบอลตัวเองโห่นักเตะตัวเอง
ในความเป็นจริง ต่อให้มีนักฟุตบอลผิวขาว ออกมาแสดง “ท่าที” เห็นอกเห็นใจนักเตะผิวสีแค่ไหน ก็ไม่ใช่หลายคนนั้น จะไม่แบ่งแยก ในการอยู่ร่วมนะครับ มีนักเตะหลายทีม ที่ก็ชัดเจนว่าผิวไหนก็เป็นเพื่อนร่วมทีมของผิวไหนๆ
แต่เวลากินข้าว นอน ก็ไม่ร่วมอยู่ห้องเดียวกับ “ผิว” ที่ต่างสีกัน แบบว่า… ไม่เหยียด แต่ก็ไม่คลุกคลีตีโมง ลองไปถามดูสิครับ คุยแบบส่วนตัวนะ
2.การจ่ายมหาศาลอาจได้ไม่ครบ
ถ้าไม่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เราคงได้ยินข่าวการเซ็นสัญญาในแวดวงกีฬาที่ทุ่มเงินกันไม่จบสิ้น ต่อไป ก่อนเกิดโควิดเดือนเดียว มีข่าวว่า สโมสรแห่งหนึ่งในลอนดอน ถูกรุมเสนอ “ทำเสื้อให้” ในราคาที่สูงมาก สู้กัน 2-3 เจ้าใหญ่ สุดท้ายมีแบรนด์หนึ่ง ชนะไป
ในการเซ็นสัญญาเป็นสปอนเซอร์ของแบรนด์เสื้อผ้ากับทีมฟุตบอลก็ไม่ใช่จ่ายตามที่เป็นข่าวในการแถลงออกมา สมมติ นาย A ไปเซ็นกับนางแดง 10 ปี ด้วยเงิน 25,000 ล้านบาท ในสัญญา 10 ปีนั้น ยิบย่อยลงไปหลายหน้าว่า ปีแรก ปีที่สอง ปีที่สาม ไปถึงปีที่สิบ
ทีมจะต้องได้อันดับที่เท่าไหร่ ในตาราง หรือใน 3 ปีแรก ทีมต้องได้แชมป์สักกี่โทรฟี
เงินจะจ่ายตาม”ผลงาน” ที่ทำได้ ไม่ใช่จ่าย “ตามที่เป็นข่าว” ออกมา…
3.แมวมองแต่ไม่ใช่มองออนไลน์
ในสโมสรระดับล่างๆ ลงไปที่ไม่ใช่ “พรีเมียร์ลีก” การใช้เงินต้องละเอียดมากขึ้น เพราะทุกบาททุกสตางค์ต้องคุ้มค่าการใช้ออกไป อาชีพ “แมวมอง” จึงไม่ใช่อาชีพประจำที่สโมสรเหล่านี้จะใช้ แบบจ่ายเงินเดือน สเกาท์หรือแมวมอง ถูกแบ่งออกไปตามโซน โลเคชันต่างๆ ย่านเอเชีย ย่านยุโรป หรือในประเทศเขาเอง ก็มีแบบในกรุง บ้านนอก
มีเรื่องเล่าว่า ในอดีต การดูนักเตะของแมวมอง หลายครั้งบางคนใช้การดูคลิปที่ส่งมาให้ (ทั้งๆที่การดูคลิปมันก็ดีหมด เพราะมันถูกตัดต่อมา) แต่ในปัจจุบันนี้ การสเกาท์คือการไปนั่งดูในสนามจริง 2-3 เกม จากนั้น เชิญท่านประธานหรือผู้บริหารไปดูจริงกับตา
นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมฟุตบอลทุกแมทช์ จะมีที่นั่งสำหรับ “แมวมอง” อยู่โซนหนึ่ง แล้วไม่ใช่สโมสรไม่ชอบ เพราะยิ่งแมวมองมา “จ้องปลา” เยอะ เจ้าของปลาก็จะได้เงินที่ขึ้นราคาสนุกมือได้
4.Parachute 4 ปีหลังตกชั้น
เราเคยอ่าน เคยฟัง เคยรู้ ว่าทีมขึ้นชั้น ทีมไปยุโรป ทีมได้แชมป์ จะได้เงินก้อนเป็นโบนัสมาช่วย แต่ในความจริง ทีมที่ตกชั้น ก็จะได้เงินช่วยเหลือไปด้วย
แปลกไหม ทีมตกชั้นก็ยังได้เงิน
เล่านะครับ – ปรกติเวลาทีมที่ขึ้นชั้นไปเล่น “พรีเมียร์ลีก” เมื่อขึ้นไป ก็ต้องกู้เงินลงทุนเพิ่ม โดยมากก็ซื้อนักเตะเพิ่ม เพื่อจะอยู่รอด ทีนี้พอเป็นหนี้แล้วดันตกชั้น ภาวะทางการเงินจะแย่ เพราะเหมือนลงทุนแล้วเจ๊งในหนึ่ง เมื่อตกชั้น คุณไม่มีทางหาเงินคืนได้ เพราะตลาดเล็กลง เพราะคุณตกชั้น
ทางสมาคมฯ จึงให้เงินช่วยเหลือเป็นระยะเวลา 4 ปี นับจากตกชั้น เงินเท่าไหร่นั้น เท่าที่ทราบมาคือ 90 ล้านปอนด์ต่อปี บางคนเรียกว่า เป็น parachute หรือร่มชูชีพ ตกแบบค่อยๆหย่อนก้น ไม่ใช่ตกจากตึกสูง แล้วตายเลย!
5.”เก่งชั้นนี้ อาจแย่ชั้นอื่น”
การซื้อขายนักฟุตบอล มักทำระยะสั้น ก่อนระยะยาว เซ็นสั้นมากกว่าเซ็นยาวๆ ยิ่งถ้าน้กบอลอายุ 26 แล้ว เซ็นยาวๆ แทบไม่มี แต่มันมีอีกแบบหนึ่ง นักเตะที่เก่งๆในลีกล่างๆ ก็จะไม่ถูกเซ็นยาวเหมือนกัน ทำไมเป็นเช่นนั้น ?
เหตุผลเพราะว่า นักเตะหลายคนที่เก่งมาจากดิวิชั่นล่างๆ พอขึ้นชั้น กลับไม่เก่งพอ กลายเป็นฝีเท้าไปไม่ถึงชั้นนั้นๆ เล่นดิวิชั่น 4 เก่งมาก พอขึ้นดิวิชั่น 3 อาจเป็นนักเตะดาดๆ งั้นๆ ถ้าทีมเซ็นยาวหลายปี สโมสรต้อง “แบกรับ” การจ่ายค่าตัวนั้นๆ ทั้งๆที่นักบอลอาจนั่งสำรอง
6.”เคาะห้อง” ขอขึ้นค่าแรง
มีสโมสรบางแห่งหรือทีมบางลีก ที่มีการต่อรอง “นอกกติกา”
กล่าวคือ ทั้งๆที่มีการเซ็นสัญญาไว้ว่า รายได้ต่อปี ต่อเดือน ต่อสัปดาห์คือเท่าไหร่ แต่ทันทีที่ผลงานของทีมกลับดี คือชนะติดต่อกัน หรือดีกว่าที่คาดหวังไปมาก วันดีคืนดี ก็อาจมีเสียงเคาะประตูของผู้จัดการทีม หรือเสียงโทรศัพท์ของเอเยนต์ผู้จัดการทีม ที่ตรงมายังห้องท่านประธาน เพื่อขอขึ้นค่าตัว
เรื่องแบบนี้ เจ้าของทีมบอกว่า มันไม่ได้ลอยมาตามสายลมพัด แต่มันมาจากเอเยนต์ที่คอยยุนั่นเอง
7.”เสื้อผ้านักเตะ” ตลาดรุมแย่งของแบรนด์ใหม่
ปี 1970 ที่มีบอลโลกที่เม็กซิโก เสื้อฟุตบอลยังไม่มียี่ห้อขึ้นโชว์บนหน้าอก (แม้ว่าจะมียี่ห้อว่า เสื้อไหนทำจากยี่ห้อไหน) แต่พอปี 1982 แทบทุกทีมมีแบรนด์บอกหมด (เลอ ค็อก เป็นแบรนด์แรกๆที่ขึ้นอกกับเสื้อในลีกฝรั่งเศส) แต่ปีนี้ 2021 มีข่าวจากวงใน ผู้บริหารทีมฟุตบอลในอังกฤษยืนยันว่า แบรนด์เสื้อผ้าที่เป็นธุรกิจอื่นๆที่ไม่ใช่ Sport เริ่มหันมาจ้องตาเป็นมัน
อนาคตจึงจะไม่ใช่แค่ Nike Adidas Hummel Umbro อะไรอีกแล้ว
แบรนด์เสื้อราคาถูกๆ กำลังจะมาสนุกด้วย !