วิกฤติความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ของเด็กไทย

การศึกษาเป็นต้นทุนของชีวิตที่สำคัญของเด็กๆ และเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนคงพยายามหาทางเลือกในการศึกษาที่เหมาะสมกับกับบุตรหลาน ซึ่งมีตัวเลือกมากมาย จะเป็นโรงเรียนสหศึกษา โรงเรียนคริสต์ โรงเรียนพุทธ โรงเรียนนานาชาติที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด หลายครอบครัวกังวลว่าส่งบุตรหลานไปเรียนที่นี่แล้วจะเก่งไหม มีสังคมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมไหม ฯลฯ

ยิ่งช่วงโควิด แทนที่เด็กๆ จะได้ใช้เวลาอยู่กับคุณครู เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่โรงเรียน กลับกลายเป็นต้องนั่งเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองหลายคนก็ค่อนข้างหนักใจ กลัวว่าการเรียนการสอนจะทำได้ไม่เต็มที่ พัฒนาการของบุตรหลานตนจะถดถอย กลับมานั่งคิดอีกว่าระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนดีพอหรือยัง จะเสริมอะไรดี นี่เป็นความกังวลที่เรามักจะได้ยินในวงสนทนาช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ต้องบอกว่า นี่เป็นความกังวลของคนที่ “มีทางเลือก” อย่างเราๆ ท่านๆ แต่มีเด็กในไทยอีกมากมายครับ ที่ “ไม่มีทางเลือก” แบบนี้

จริงอยู่ที่ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติให้การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมี “สิทธิ” และ “โอกาส” เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่เด็กบางกลุ่มขาดโอกาสที่จะได้ใช้สิทธินี้เนื่องจากถูกเงื่อนไขเช่น ความยากจน ความยากจนเฉียบพลันจากโควิด 19 หรือกำพร้าพ่อแม่ บังคับให้พวกเค้า “หลุดจากระบบการศึกษา” อย่างเลือกไม่ได้

จากตัวเลขปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) ที่บอกว่ามีเด็กยากจนพิเศษกว่า 1.9 ล้านคนอยู่ในภาวะ “เสี่ยงที่จะหลุดจากการศึกษา” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน และประเมินว่า ณ สิ้นปี 2564 มีเด็กที่หลุดจากการศึกษาจริงถึงกว่า 65,000 คน

หลายครั้งที่เราได้ยินบทวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยว่าล้าหลัง ฯลฯ จากคนที่ไม่เห็นด้วยกับระบบปัจจุบัน แต่สำหรับผมกลับคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรถ้ามีแต่บ่น ชี้นิ้วไปมา หาข้อเสีย แต่ยังไม่มีใครสามารถนำเสนอวิธีการแก้แบบองค์รวมหรือชี้เป้าได้ว่าแก้แบบไหนจะดีที่สุด วนกันไปในอ่าง

ผมว่าเรามาจัดการเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกก่อนดีกว่า ทำยังไงให้สามารถส่งเด็กกว่า 65,000 คนกลับเข้าระบบ และป้องกันไม่ให้เด็กกว่า 1.9 ล้านคนที่มีความเสี่ยงไม่หลุดจากระบบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียน มีอาหารกลางวันทาน ฯลฯ พื้นที่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ไม่ควรอยู่ในไร่ส้ม ร้านอาหาร หรือไซต์ก่อสร้าง แต่ควรเป็นโรงเรียนครับ

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาคือ ในอนาคตเมื่อพวกเค้าทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาวะด้อยคุณภาพทางความรู้หมายถึงโอกาสในการทำงานที่จำกัด มีโอกาสสูงจะกลายเป็นกลุ่มผู้ได้รับค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำ และมีโอกาสในการพัฒนาชีวิตพวกเค้าได้ยาก นอกจากนี้แล้วยังหมายถึงคุณภาพของตลาดแรงงานที่ด้อยลง และกลายเป็นต้นทุนของประเทศที่จะลดทอนศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง ดังนั้น ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษา แต่กระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

เนื่องด้วยปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และไม่ใช่เป็นปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็แก้ได้ถ้าหากเราทุกคนจะหยุดคิดอคติกับระบบการศึกษาไทย แล้วหาทางเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน

ผมเชื่อว่าภาคเอกชนจะสามารถมีบทบาทสำคัญได้ด้วยการสร้างจิตสาธารณะผ่านกลไกใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยปูทางความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจด้วยกัน ประชาชน และผู้นำทางความคิด ให้เกิดการรวมเป็นเครือข่ายทางสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบในทางบวก เสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน

ZERO DROPOUT เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพ คือสะพานสู่ความฝัน

ปัจจุบัน จังหวัดราชบุรีมีนักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับจำนวน 127,266 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษ อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,000 บาท ต่อคนต่อเดือน 3,258 คน คิดเป็น 2.56 % สาเหตุดังกล่าวทำให้ครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องในการไปโรงเรียนได้ จึงทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา คือมีเด็กที่หลุดระบบการศึกษาและเสี่ยงหลุดระบบการศึกษาเกิดขึ้น โจทย์ดังกล่าวทำให้แสนสิริ องค์กรในภาคเอกชนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริมเด็กและเยาวชน ร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

The-Beach

The Beach บทเรียนที่สำคัญที่ต้องไม่ซ้ำรอย

อ่านข่าวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ก็น่ายินดีที่ประเทศไทยเรามีนโยบายการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร โดยเป็นโอกาสหนึ่งในการดึงเงินลงทุนและสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนด้านการท่องเที่ยวได้หลายพันล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้แรงงานในวงการภาพยนตร์ไทยมีโอกาสได้รับการว่าจ้างจากผู้สร้างภาพยนตร์เหล่านี้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องนี้ถูกพูดถึงขึ้นมาก็อดนึกไปถึงกรณีของภาพยนตร์เรื่อง The Beach ที่มีการยกกองมาถ่ายทำที่หาดมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2541 ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว กับสภาพแวดล้อมของหาดมาหยา และผลกระทบที่เกิดกับระบบนิเวศในบริเวณนั้น เป็นบทเรียนสำคัญเรื่องหนึ่งของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตื้นที่เปราะบาง การขุดขยายหาดให้กว้างขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับบทของภาพยนตร์

ai-Artificial intelligence

AI ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

เทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา คือ ตัวปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า ChatGPT (Chat + GPT ตัวย่อของคำว่า “generative pre-trainedtransformer” ซึ่งเป็นโมเดลประมวลผลทางภาษาประเภทหนึ่ง) ที่ถูกปล่อยออกให้คนทั่วไปได้ลองใช้ในโลกออนไลน์ อันนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ผมว่าเราทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ เพราะผมมองว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์มีโอกาสที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง องค์ประกอบหลายๆ อย่างทางเศรษฐกิจอย่างพลิกฝ่ามือได้เลยทีเดียว มองย้อนกลับไปในอดีต