ผ่านมา 17 ปีแล้ว ที่โลกได้รู้จักกับภาพยนต์ LGBTQ+ ระดับตำนานอย่าง
‘Brokeback Mountain’
แม้นานแค่ไหนก็ยังครองตำแหน่งหนังที่นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ภาพยนต์ที่ได้พาเราไปพบกับเรื่องราวความรักของคาวบอยหนุ่ม 2 คน ที่ทั้งงดงามแต่ก็เจ็บปวดจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่
นอกจากจะกวาดรางวัลไปมากมาย อีกความสำเร็จของ Brokeback Mountain คือการจุดประเด็นให้ผู้คนในสังคมหันมาเข้าใจและพูดถึงสิทธิของ LGBTQ+ มากขึ้น ถึงแม้บางกลุ่มที่มีอคติต่อ LGBTQ+ กลับใช้มาล้อเลียนเกย์ หรือโจมตีหนังอย่างรุนแรง ทำให้เราเห็นได้ว่าในสังคมยังคงมีคนที่ไม่เปิดใจในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย
เราขอชวนมาย้อนรอยเรื่องราวของ Brokeback Mountain รวมทั้งทบทวนประเด็นความเท่าเทียมในสังคมตอนนี้ ว่ายังมีอะไรที่เราควรช่วยกันผลักดันอีกบ้าง
*หมายเหตุ : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์
หนังดีกับประเด็นที่ถูกมองว่า ‘มาก่อนกาล’
Brokeback Mountain นำเสนอชีวิตของเกย์ภายใต้อาชีพที่ดูเป็นชายอย่าง คาวบอย และยังพูดถึงหลายประเด็นที่ถือว่าล้ำสมัยในยุคนั้น จนหลายคนมองว่าเป็น ‘หนังที่มาก่อนกาล’
ภาพยนต์เรื่องนี้พาเราไปรู้จักกับ ‘แจ็ก’ และ ‘เอนนิส’ คาวบอย 2 คนที่มาทำงานเฝ้าฝูงแกะด้วยกันในหุบเขา Brokeback Mountain จนตกหลุมรักกัน แต่มันไม่สามารถลงเอยแบบ Happy Ending ได้เหมือนหนังรักทั่วไป ทั้งสองต่างรู้ดีว่าความรักครั้งนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วต้องแยกย้ายกันไปแต่งงานกับผู้หญิงตามที่สังคมคาดหวัง
ตลอดทั้งเรื่อง เราจะเห็นว่าทั้งคู่ยังคงคิดถึงกัน และยังพยายามกลับมาเจอกันถึงแม้จะแต่งงานไปแล้ว ประเด็นการถูกกดดันให้แต่งงานกับผู้หญิงถือเป็นปัญหาของเกย์ทั่วโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะประเทศที่เคร่งศาสนา แต่ปัญหานี้กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงในยุคนั้น อย่าง Humsafar Trust องค์กรสนับสนุน LGBTQ+ ในประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า กว่า 75% ของเกย์ในอินเดียถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานกับผู้หญิง และคาดหวังให้เปลี่ยนเป็นชายตรงเพศหลังแต่งงาน
“I wish I knew how to quit you.”
(ฉันหวังว่าฉันจะรู้วิธีเลิกรักนาย)
ภาพยนต์เรื่องนี้ย้ำกับสังคมอย่างหนักแน่นว่าเราบังคับให้ใครเปลี่ยนเพศไม่ได้ อย่างประโยคที่แจ็กพูดกับเอนนิสซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับจะย้ำเตือนให้คนดูเข้าใจว่าความรักที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็นความรักที่คนสองคนมีให้กันอย่างแท้จริงแม้ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใดก็ตาม
ความเจ็บปวดในชีวิตของแจ็กและเอนนิสที่เราเห็น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยสักนิด ในปี 2005 ที่ออกฉาย เป็นยุคที่แทบไม่มีประเทศไหนให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้เลย LGBTQ+ จำนวนมากยังต้องเจออคติในที่ทำงาน ถูกรังเกียจ หรือถึงขั้นถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้หลายคนเลือกที่จะยอมซ่อนตัวตนเอาไว้ Brokeback Mountain ได้นำความเจ็บปวดที่แสนอึดอัดเหล่านี้มาเปิดเผยให้โลกรู้ และบอกกับชาว LGBTQ+ ว่าพวกเขาไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่เพียงลำพัง
การแสดงออกจากสังคม ทั้งชื่นชมและต่อต้าน
Brokeback Mountain ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามตั้งแต่ออกฉาย กวาดรางวัลไปนับไม่ถ้วน ด้วยงานภาพตระการตา การแสดงที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้ลึกซึ้ง เพลงประกอบที่ชวนให้อินไปกับเรื่อง และที่สำคัญคือประเด็นความไม่เท่าเทียมที่ LGBTQ+ ต้องเจอ
ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่มีอคติกลับนำภาพและประโยคจากหนังไปทำเป็นมีมเพื่อล้อเลียนกลุ่ม LGBTQ+ ในโลกออนไลน์ ลามไปถึงขั้นเหมารวมและล้อว่าคนที่ชอบเรื่องนี้ต้องเป็นเกย์ โดยใช้คำเหยียดเพศอย่าง ‘คาวบอยสายเหลือง’ หรือใช้คำ ‘โบรคแบ็ค’ เป็นคำแสลงเพื่อเหยียดเกย์
นอกจากนี้ ช่วงที่ภาพยนต์ออกฉายยังมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้จะทำให้คนเป็นเกย์มากขึ้น รวมถึงมีโบสถ์หลายแห่งออกมาประณามว่าเป็นหนังที่ผิดศีลธรรม จนโรงภาพยนต์บางแห่งถึงขั้นสั่งงดฉาย เพราะกลัวกระแสโจมตีจากกลุ่มคนเคร่งศาสนา
แม้แต่นักแสดงนำ ‘Jake Gyllenhaal’ และ ‘Heath Ledger’ ยังเผยว่า ในช่วงที่ฉายอยู่ พวกเขาต้องเจอกับมุกเหยียดเพศอยู่บ่อยๆ แม้แต่บนเวทีระดับโลกอย่าง Oscar ยังเสนอให้พวกเขาเล่นมุกเหยียดเพศบนเวที แต่นักแสดงทั้งสองยืนยันว่าขอเลือกที่จะเคารพในความแตกต่างทางเพศ
“เราทำภาพยนต์เรื่องนี้เพื่อโชว์ว่า LGTBQ+ มีความรักที่ลึกซึ้งและบริสุทธิ์ไม่ต่างจากชายหญิงเลย ผมว่าคนที่รังเกียจความรักของพวกเขาได้ลงนั้นน่าละอายมาก”
Heath Ledger แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน และถึงแม้ในวันนี้เขาจะจากไปแล้ว แต่ Jake Gyllenhaal ยังพูดถึงทัศนคติที่น่าชื่นชมนี้อยู่เสมอ และมีความเชื่อว่าผลงานเรื่องนี้ได้เปิดทางให้กับความเท่าเทียมทางเพศ และหวังว่าวงการภาพยนต์จะมีพื้นที่สำหรับความหลากหลายมากขึ้น
ประเด็นสังคมที่ยิ่งใหญ่ จุดประกายได้จากหนังหนึ่งเรื่อง
จากกระแสเหยียดเพศที่ต่อต้านบางส่วนในอดีต สู่วงการภาพยนตร์ที่โอบรับความเท่าเทียมมากขึ้นในวันนี้ ผู้ชมจำนวนมากชื่นชม Brokeback Mountain ที่กล้านำเสนอประเด็นนี้ในวันที่สังคมยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจากจุดนั้นได้จุดประกายให้เกิดภาพยนต์ LGBTQ+ ดีๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง
มีชาว LGBTQ+ หลายคนที่เปิดใจว่าพวกเขารักตัวเองมากขึ้นหลังจากได้ดู Brokeback Mountain และไม่อยากปิดบังตัวตนอีกต่อไป ‘Craig Johnson’ ผู้กำกับและนักเขียนบทชาวอเมริกัน ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เขากล้าเปิดเผยว่าเป็นเกย์ กล้าที่จะมีความสุขที่เป็นตัวเองมากขึ้น ตอกย้ำว่าภาพยนต์เรื่องนี้มีผลต่อความคิดของผู้คนอย่างมาก
แม้กระทั่งในไต้หวัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ หลี่ อัน (หรือ อัน หลี่) ผู้กำกับเอง ก็เกิดมูฟเมนต์ที่ยิ่งใหญ่จาก Brokeback Mountain เช่นกัน คำว่า “dun bui” ซึ่งเป็นภาษาจีนของคำว่า Brokeback ถูกบัญญัติขึ้นโดยกลุ่ม LGBTQ+ ในไต้หวัน และได้นำไปใช้เป็นคำแทนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม นักกิจกรรมชาวไต้หวันมองว่าภาพยนต์เรื่องนี้ช่วยฉีกอคติทางเพศ และยังนำเสนอชีวิตของชาว LGBTQ+ ออกมาได้สมจริงและลึกซึ้ง
ดูหนังแล้วลองถอยหลัง ออกมาดูสังคม
เมื่อเทียบกับ 17 ปีที่แล้ว ในทุกวันนี้ เราได้เห็นสื่อต่างๆ นำเสนอความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องผลักดันเพื่อให้เกิดความเสมอภาค อย่าง “การสมรสเท่าเทียม” ที่เป็นประเด็นพูดถึงในวงกว้างของประเทศไทย ณ ช่วงเวลานี้
และถ้าเรามองว่าสิ่งที่ตัวละครทั้ง 2 คนต้องเผชิญเป็นเรื่องน่าเศร้า ยิ่งไม่ควรปล่อยให้มันเกิดขึ้นกับใครในสังคมไม่ว่าเพศสภาพไหนก็ตาม กลุ่ม LGBTQ+ ควรได้รับสิทธิ์ที่จะสมรส และได้สร้างครอบครัวกับคนที่รักโดยมีสิทธิ์ทางกฎหมายเหมือนกับชายหญิง
ย้ำอีกครั้ง! นี่ปี 2022 แล้ว ทัศนคติการเหยียดหรือล้อเลียนเรื่องเพศควรหมดไป เพราะเราทุกคนล้วนมีคุณค่าเท่ากัน แสนสิริขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า เพื่อผลักดันความเท่าเทียม และต้องการเห็น “ทุกคนเท่ากัน” อย่างแท้จริง
Brokeback Mountain ชวนให้เข้าใจว่าคุณค่าความรักของ LGBTQ+ ไม่ได้น้อยไปกว่าความรักของคู่ครองในอุดมคติสังคมอย่าง ชาย-หญิงเลย ความรักสวยงามไม่ว่าจะเกิดกับใคร ไม่ควรถูกด้อยค่าเพียงเพราะการยึดติดในเพศสภาพ และเช่นเดียวกันก็ไม่ควรถูกตัดสินว่าเป็น “ความฉาบฉวย” แค่เพราะไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง
ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความรู้สึกอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องปิดบัง และควรได้รับการยอมรับในทุกความแตกต่าง
การเคารพ ให้เกียรติ และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม
คือบรรทัดฐานทางสังคม ที่ควรจะเป็น
Image credits : imdb.com