ทุกคนคิดว่าการตกหลุมรักใครสักคนมีเหตุผลไหม?
หลายคนมักพูดกันว่าการตกหลุมรักใครสักคนหาเหตุผลไม่ได้ เพราะ “รักก็คือรัก” แต่ไม่ว่ายังไงความรักก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์และพิเศษว่าไหม เพราะความรักทำให้เรามีความสุข โลกสดใส และมีแรงใจในการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน
เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยตกหลุมรักใครบางคน บางคนอาจใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการตกหลุมรัก แต่บางคนต้องใช้เวลาเพื่อศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันกว่าจะตกหลุมรัก แล้วทุกคนเคยสงสัยไหม ว่าทำไมเราถึงตกหลุมรักใครบางคนได้ เราจะพามาหาคำตอบของกันตกหลุมรักกัน
อาการของคนตกหลุมรักเป็นยังไง
เมื่ออยู่ใกล้คนที่แอบชอบบางคนจะมีอาการใจเต้นเร็ว ตื่นเต้น เหงื่อออก หรือม้วนท้อง ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า การตกหลุมรักเกิดจากการที่เรามีความสุขกระตุ้นให้สารเคมีในสมองหลั่งออกมา 3 ชนิด ได้แก่ สมองหลั่งสารอะดรีนาลีน ทำให้หัวใจเต้นเร็วเหงื่อออก และเมื่อมีความรู้สึกดีๆ ที่ได้อยู่ใกล้คนที่ชอบ สมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมา และสุดท้ายอาการรู้สึกม้วนท้องเหมือนผีเสื้อบินวน เนื่องจากสมองจะหลั่งสารฟีนิลเอทิลเอมีนออกมา ทีนี้รู้แล้วใช่ไหมคะ การที่เราหัวใจเต้นแรง หรือรู้สึกมีผีเสื้อบินวน คืออาการส่วนหนึ่งของการตกหลุมรักนั่นเอง
ใช้เวลานานเท่าไรถึงตกหลุมรัก
จากการสำรวจของเว็บไซต์หาคู่ EHarmony ในสหรัฐอเมริกาพบว่าผู้ชายใช้เวลาประมาณ 88 วัน ในการตกหลุมรัก หลังจากที่ทำความรู้จักกัน ในขณะที่ผู้หญิงใช้เวลาประมาณ 134 วัน ในการตกหลุมรัก และเว็บไซต์ “Elite Single” เว็บไซต์หาคู่อีกหนึ่งแห่ง ได้ทำการวิจัยพบว่าผู้ชายเชื่อในรักแรกพบ 72 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ผู้หญิงเชื่อในรักแรกพบเพียง 61 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้ชายเชื่อในรักแรกพบมากกว่าผู้หญิงทำให้มีโอกาสตกหลุมรักมากกว่านั่นเอง
8 เหตุผลของการตกหลุมรักทางจิตวิทยา
• คนที่มีความคล้ายคลึงกับเราจะทำให้เราตกหลุมรัก
คนส่วนใหญ่มักจะตกหลุมรักคนที่มีนิสัย บุคลิก ท่าทาง ความชอบคล้ายคลึงกัน หากอยู่ใกล้กันแล้วจะทำให้มีเสน่ห์ดึงดูดและตกหลุมรักในที่สุด
• คนที่มีนิสัยเหมือนพ่อแม่ของเราจะทำให้ตกหลุมรัก
คนส่วนใหญ่มักจะชอบคนที่มีนิสัยคล้ายพ่อหรือแม่ เพราะมีเสน่ห์ดึงดูดทำให้ตกหลุมรัก
• การวางตัวที่ดีจะทำให้ตกหลุมรัก
บุคลิกภาพที่ดี นิสัยที่แสดงออกกับผู้อื่นส่งผลต่อการตกหลุมรัก
• ความสูงจะทำให้ตกหลุมรัก
จากการวิจัยทางจิตวิทยา ผู้หญิงมักชอบผู้ชายที่สูงกว่าตัวเอง
• กลิ่นแรงดึงดูดจะทำให้ตกหลุมรัก
ทุกคนมีกลิ่นพิเศษในตัวเอง มนุษย์ทุกคนมีฮอร์โมนที่ชื่อว่า ฟีโรโมน เมื่อผสมกับเหงื่อจะทำให้มนุษย์แต่ละคนมีกลิ่นที่เฉพาะแตกต่างกันออกไป
• ความใกล้ชิดจะทำให้คนตกหลุมรัก
ความใกล้ชิดมีโอกาสที่จะทำให้ตกหลุมรักมากขึ้น เนื่องจากมีปฏิสัมพันธ์กันบ่อย ความตื่นเต้นจะทำให้คนตกหลุมรัก เมื่อผ่านเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น มาด้วยกันจะทำให้มีโอกาสรักกันมากขึ้น
• รอยยิ้มจะทำให้ตกหลุมรัก
รอยยิ้มมีเสน่ห์ดึงดูดให้คนตกหลุมรัก
รูปแบบของ “ความรัก” ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งรัก
การที่ความรักจะก่อตัวขึ้นได้ โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก ได้กล่าวไว้ว่าความรักเกิดขึ้นจาก องค์ประกอบ 3 ประการ ดังนี้
• ความสนิทสนม เกิดจากความรู้สึกผูกพันจากการมีปฏิสัมพันธ์เป็นเวลานาน
• ความหลงใหล ความเสน่หาและการดึงดูดทางเพศ
• ความผูกพัน คือความรู้สึกอยากผูกมัดอยากสานสัมพันธ์ในระยะยาว
รูปแบบความสัมพันธ์ในองค์ประกอบของความรัก
เมื่อความรักไม่ได้มีความรักเพียงแค่อย่างเดียวแต่มีความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ความรักแบ่งออกเป็น 8 ประเภท ได้ดังนี้
• ไม่มีความรัก ความสัมพันธ์ระยะเวลาสั้นๆ โดยไม่มีความรักมาเกี่ยวข้อง
• ความชอบ เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการรู้จักและความใกล้ชิดไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบผูกมัดกัน เช่น เพื่อน คนรู้จัก
• รักแบบหลงใหล ความหลงใหลได้ปลื้มหรือการตกหลุมรักตั้งแต่แรกพบ
• ความสัมพันธ์แบบปราศจากความรัก ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแต่งงานโดยปราศจากความรัก แต่เมื่ออยู่กันไปอาจจะทำให้รักกันได้
• รักแบบโรแมนติก ความรักที่เกิดจากความเสน่หาทั้งสองฝ่าย
• รักแบบมิตรภาพ เป็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และผูกพัน ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างยาวนาน
• รักแบบไร้สติปัญญา รักแบบมีความเสน่หา ต้องการผูกมัดและจบลงอย่างรวดเร็ว
รักสมบูรณ์แบบ มีทั้งความใกล้ชิดผูกพัน ความเสน่หา และความรู้สึกอยากผูกมัด
อาการแบบนี้เขาเรียกว่ารักรึเปล่านะ
• หยุดยิ้มไม่ได้
• เป็นคนที่ดีขึ้น
• อยากเจอหน้าตลอดเวลา
• อยากเจ็บปวดแทนอีกคน
• คิดถึงอนาคตร่วมกัน
• รู้จักอีกฝ่ายดีกว่าใคร
• อยากปกป้องอีกฝ่าย
• ให้ความสำคัญเขามากกว่าใคร
เราเชื่อว่า “การตกหลุมรัก” เป็นความพิเศษที่ช่วยเติมเต็มหัวใจให้มีความสุข หากคุณกำลังตกหลุมรักใครสักคน ขอให้สมหวังในความรักทุกคนนะ
อ้างอิง :
https://www.mountelizabeth.com.sg/health-plus/article/the-science-behind-why-we-fall-in-love
https://www.teenvogue.com/story/how-do-you-know-you-love-someone
https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/triangular-theory-of-love