เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการผ่านร่างฯ กฎหมายสมรสเท่าเทียมของประเทศไทย ในระหว่างที่รอประกาศใช้อย่างเป็นทางการนั้น เรามาย้อนดูการเดินทางกว่า 20 ปี ก่อนที่ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะผลิดอกเบ่งบานไปทั่วโลกกันค่ะ
ย้อนรอยการต่อสู้เพื่อความรักที่เท่าเทียมอันยาวนาน อาจจะนานนับศตวรรษ หรือมากกว่านั้นก็เป็นได้ แต่เหตุการณ์ที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคมครั้งใหญ่ก็คือ “เหตุจลาจลที่สโตนวอลล์ หรือ Stonewall Riots” ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับการกดขี่การแสดงออกและอัตลักษณ์ทางเพศ
หลังจากนั้นก็มีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิและการแสดงออกถึงตัวตนอย่างเสรีภาพอย่างเท่าเทียมมาเรื่อยๆ จนถึงวันที่มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” เกิดขึ้น
เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยคู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงาน จดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งผ่านร่างฯ ในเดือนธันวาคม ปี 2000 ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน ปี 2001
ก่อนที่ประเทศต่างๆ จะเริ่มมีการประกาศใช้ต่อมา อาทิ เบลเยียม (ประเทศที่ 2 ของโลก) แคนาดา (ประเทศแรกของทวีปอเมริกาเหนือ) แอฟริกาใต้ (ที่แรกและที่เดียวของภูมิภาคแอฟริกา) อาร์เจนตินา (ประเทศแรกในแถบอเมริกาใต้) และอีกกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ไต้หวัน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดประตูรับความเท่าเทียม โดยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ก่อนตามมาด้วย เนปาล เป็นประเทศที่ 2 ในเอเชีย (ยังอยู่ในระหว่างการจับตาเรื่องการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างเป็นทางการ)
ไทย ได้ก้าวไปเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย ร่างฯ กฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นก็ได้ผ่านมติเห็นชอบในขั้นตอนพิจารณาวาระ 2 – 3 จากสมาชิกวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว เหลือไม่กี่ขั้นตอนก็พร้อมรอประกาศใช้อย่างทางการ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นช่วงปลายปี 2024 นี้ค่ะ
ปัจจุบัน นับรวมทั้งหมดทั่วโลกในตอนนี้ก็มีประมาณ 37 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย.67) ซึ่งก็ยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับประเทศทั้งหมดทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ดี ตอนนี้ก็มีอีกหลายประเทศที่กำลังเคลื่อนไหว และมีการตอบรับจากภาครัฐในการพิจารณา “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” หรือบางประเทศก็รอการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีเลยทีเดียวค่ะ
ทั้งหมดนี้ สิ่งที่ยากมากๆ นอกจากเรื่องของกฎหมาย คือ การทลายอคติและความเชื่อต่อเพื่อนมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ กายภาพ หรือใดๆ ก็ตาม ที่ฝังหยั่งรากลึกมายาวนาน พร้อมส่งต่อกันมาเรื่อยๆ โดยหลงลืมที่จะเคารพตัวตนและเลือกปฏิบัติเสมือนว่าเราไม่เท่ากัน
อย่างไรก็ดี หวังว่าการมีตัวบทกฎหมายชัดเจนอย่าง “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” หรือมีพื้นที่สื่อบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการเคารพในความหลากหลาย ไปจนถึงการซัพพอร์ตการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเดินขบวน PRIDE PARADE และกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็เพื่อเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมเห็นความสำคัญของความเท่าเทียม สิทธิ และเสรีภาพของทุกคนมากขึ้นค่ะ
เมื่อความหวังของเราได้ผลิบานจากสีรุ้งของความหลากหลาย สู่สายรุ้งของการเริ่มต้นอีกครั้ง ในวันนั้นเราคงได้พบปลายทางแห่งความเท่าเทียมรออยู่อีกฟากฝั่งของสะพานสายรุ้งค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ ThaiPBS, The Standard, The Momentum, Vogue Thailand, Equal Dex, และ National Geographic