ทุกคนรู้หรือไม่ว่าคนพิการก็เล่นกีฬาได้นะ หลายปีที่ผ่านมาได้มีการจัดแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้จัดที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส วันนี้ Sansiri blog จะมาเล่าถึงการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก สัญลักษณ์พาราลิมปิก ต้นกำเนิดของพาราลิมปิก กีฬาที่ผู้พิการเล่นได้ การออกแบบหมู่บ้านนักกีฬาและการปรับสถานที่ต่างๆ ในกรุงปารีสให้ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของนักกีฬาพาราลิมปิกให้ฟังกันค่ะ
ทุกคนคงเคยได้ยินการแข่งกีฬาพาราลิมปิกผ่านหูกันบ้างใช่ไหมละคะ และรู้ไหมว่ากีฬาพาราลิมปิกเกมส์คืออะไร? พาราลิมปิกคือการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการโดยส่วนมากจะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางสติปัญญา
โดยองค์กรที่จัดแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกมีชื่อว่าพาราลิมปิกสากล (IPC) ในปัจจุบันพาราลิมปิกสากลจะจัดภายหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกจบลง ในปีนี้จะจัดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกับโอลิมปิกระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 8 กันยายน 2567 สำหรับพิธีเปิดพาราลิมปิกจะจัดขึ้นที่จัตุรัสปลัสเดอลากงกอร์ด (Place de la Concorde) ถนนช็องเซลีเซนั่นเอง
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ค.ศ.1948 ซึ่งเป็นวันเดียวกับพิธีเปิดโอลิมปิกเกม ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยผู้จัดการแข่งขันครั้งนี้มีชื่อว่า ดร. ลุดวิก กุตต์แมนน์ (Dr. Ludwig Guttmann) ได้ทำการจัดการแข่งกีฬาสำหรับวีลแชร์ (กีฬาเฉพาะกลุ่ม) เป็นครั้งแรก ณ โรงพยาบาล Stoke Mandeville ในกรุงลอนดอน โดยการแข่งกีฬาครั้งนี้มีชื่อว่า Stoke Mandeville Games เพื่อช่วยเหลือทหารทั้งผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 16 คน ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกีฬาที่ใช้แข่งขันครั้งแรกคือกีฬายิงธนูถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันกีฬาคนพิการเลยก็ว่าได้
หลังจากนั้นในปี ค.ศ.1960 การแข่งขันกีฬา Stoke Mandeville Games ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นพาราลิมปิกเกมและได้กลายมาเป็นการแข่งกีฬาคนพิการระดับนานาชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยมีนักกีฬาคนพิการเข้าร่วมประมาณ 400 คน จาก 23 ประเทศทั่วโลก และจะจัดขึ้นในทุกๆ 4 ปีเช่นเดียวกับโอลิมปิกนั้นเอง
กีฬาพาราลิมปิกมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปีนี้พาราลิมปิก มีการแข่งขันกีฬา 23 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอล บอคเซีย โกลบอล ยิงธนู กรีฑา แบดมินตัน เรือแคนู จักรยานบนถนนทั่วไป จักรยานในสนาม ขี่ม้า (เดรสเสจพารา) ยูโด เพาเวอร์ลิฟติ้ง เรือพาย ว่ายน้ำ ปิงปอง เทควันโด ไตรกีฬา ยิงปืน วอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล กีฬาวีลแชร์เฟนซิ่ง รักบี้ และเทนนิส รวมถึงมีกีฬา 2 ประเภทใหม่ล่าสุดที่ได้เปิดตัวและจัดการแข่งขันในพาราลิมปิกครั้งแรกในปี ค.ศ. 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คือ กีฬาเทควันโดและ แบดมินตัน (โดยลักษณะกีฬาจะแบ่งตามความเหมาะสม)
ในพาราลิมปิก ปารีส 2024 มีนักกีฬาเข้ารวมการแข่งขันในครั้งนี้กว่า 4,400 คน จากประมาณ 100 ประเทศทั่วโลก และมีเหรียญ 529 เหรียญ ให้นักกีฬาทั่วโลกร่วมคว้าชิงกัน โดยนักกีฬาจากประเทศไทย ได้โค้วต้าในการไปร่วมแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก จำนวน 79 คน จากกีฬา 15 ชนิด ได้แก่ เทนนิส แบดมินตัน เทควันโด ยิงธนู ยกน้ำหนัก กรีฑาและวีลแชร์เรซซิ่ง บอคเซีย จักรยาน แคนนู เรือพาย ฟันดาบ ยิงปืน ว่ายน้ำ ยูโด (ข้อมูลจากมติชนออนไลน์ วันที่ 17 สิงหาคม 2024) ในส่วนของสนามกีฬาในการจัดการแข่งขันใช้สนามกีฬาประมาณ 20 แห่ง ซึ่งอยู่ในกรุงปารีสและบริเวณรอบๆ นั่นเอง
หมู่บ้านนักกีฬาได้ถูกดัดแปลงให้เข้าถึงง่าย เพื่อรองรับนักกีฬาพาราลิมปิกและมีบางส่วนที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางเท้า พื้นที่สาธารณะ ถนน ทางม้าลาย สถานีขนส่ง ทางเข้าหลักและศูนย์ต้อนรับของคณะผู้แทน ฯลฯ ได้ออกแบบสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ไว้แล้ว รวมถึงได้มีการสร้างทางชั่วคราวสำหรับผู้ใช้วีลแชร์อีกด้วย สิ่งที่ทำเพิ่มเติมคือ การทำเครื่องกีดขวางสำหรับผู้ที่มองเห็นไม่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับผู้พิการทางสายตา โดยเครื่องหมายจะเป็นแถบสีเหลืองและแถบสีดำไว้ในพื้นที่อันตรายหรือพื้นที่ที่เดินสะดุดได้ รวมถึงได้ดัดแปลงนำพุในกรุงปารีส ให้สูงเหมาะกับผู้ใช้วีลแชร์นั่นเอง
ในส่วนห้องพักนักกีฬาจะเพิ่มราวจับและในส่วนการบริการอื่นๆ จะมีเหมือนกับตอนจัดการแข่งขันโอลิมปิก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านซักรีด ตลาด ศูนย์ออกกำลังกาย และ Village Club แต่ในส่วนของร้านอาหารได้มีการปรับความสูงของเคาเตอร์ และที่วางอาหารแบบบุฟเฟต์ให้เข้าถึงกับผู้ที่ใช้วีลแชร์ด้วย
รวมถึงยังมีการปรับปรุงอาคารสาธารณะ 184 แห่ง อาคารเทศบาล 161 แห่ง ทางเท้าบริเวณนั้น และได้เพิ่มสิ่งช่วยเหลือสำหรับผู้พิการทางการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการปูทางสัมผัส สัญญาณจราจรที่มีเสียง ฯลฯ และมีการเพิ่มที่จอดรถผู้พิการทางการเคลื่อนไหวมากกว่า 500 คัน ในปารีสเพื่อรองรับการแข่งขันพาราลิมปิกครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีการนำสัญลักษณ์ของพาราลิมปิกไปบนไว้หน้าประตูชัยหรืออาร์กเดอทรียงฟ์ ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สัญลักษณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นแถบโค้ง 3 แถบคล้องกัน โดยสีที่ใช้ในแต่ละแถบประกอบด้วยสีแดง น้ำเงิน และเขียว ซึ่งผู้ออกแบบมีแนวคิดว่า สีธงชาติเกือบทุกประเทศทั่วโลก ต้องมี 1 ใน 3 สีนี้อยู่ในธง ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวเรียกว่า อาจิโต เป็นภาษาละติน แปลว่า ฉันเคลื่อนไหว
การแข่งขันพาราลิมปิกไม่ใช่การแข่งขันกีฬาผู้พิการเท่านั้น แต่เป็นการให้โอกาส สานฝัน และทำให้เห็นว่าผู้พิการก็มีความสามารถและมีศักยภาพในการแข่งขันกีฬา การไปพาราลิมปิกคือการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวพวกเขาเอง รวมถึงเป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวผู้พิการและยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย
Source
https://www.thaipbs.or.th/news/content/342036
https://olympics.com/en/paris-2024/paralympic-games
https://www.matichon.co.th/sport/olympic2024/news-olympic2024/news_4740798
https://www.paralympic.org/sports
https://www.salika.co/2024/08/18/paralympic-changed-paris-more-accessible/
https://www.matichonweekly.com/column/article_6766