การทำดีช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจ
จะทำให้เรารู้สึกใจฟูและมีความสุข
เวลาที่มีใครสักคนมาทำดีกับเรา ด้วยหัวใจโดยที่เขาไม่ได้ต้องการสิ่งใดตอบแทน เรามักจะรู้สึกดีและรู้สึกใจฟูใช่ไหมละค่ะ การพูดคุยให้กำลังใจ การช่วยเหลือ แบ่งปัน ด้วยความเต็มใจจะสร้างความสุขให้กับผู้รับและผู้ให้เสมอ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการแสดงความรักให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนคนรัก คนรู้จัก หรือแม้กระทั่งคนที่เราไม่รู้จักก็ตาม อาจเป็นคนที่เขากำลังเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ เช่น คนแก่ที่เดินข้ามถนนหรือคนที่เขาเดือดร้อนจากน้ำท่วม ฯลฯ การกระทำเหล่านี้อาจเป็นเพียงการกระทำเล็กๆ น้อย ๆ อาจจะไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร แต่รู้ไหมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกำลังใจที่สำคัญให้กับผู้รับและมีคุณค่าต่อจิตใจของเขาเป็นอย่างมาก และอาจจะทำให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เมื่อสุขภาพจิตดีจะส่งผลให้สุขภาพกายดีตามไปด้วยค่ะ
วันที่ 30 กันยายน ซึ่งเป็นวัน National Love People Day หรือ วันแห่งความรักต่อเพื่อนมนุษย์ Mental Life by Chanisara จะมาบอกข้อดีของการแสดงความรักและการแบ่งปันที่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและใจในหลากหลายแง่มุมให้ทุกคนฟังกันค่ะ
เมื่อได้รับความรัก…ความเครียดจะลดลง
การแบ่งปันและการให้ความรักกับคนรอบข้างสามารถลดความเครียดลงได้ จากงานวิจัยของ Anke Karl นักจิตวิทยาอาวุโสจาก University of Exeter ได้ศึกษาและพบว่าเมื่อมนุษย์รู้สึกได้รับความรัก ความห่วงใย จะทำให้ความรู้สึกวิตกกังวลและหวาดกลัวลดลง ซึ่งส่งผลทำให้ความเครียดต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
รวมถึงงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร PLOS ONE ได้ศึกษาวิจัยแล้วพบว่า คนที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นและได้รับความรัก ความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง จะทำให้ลดภาวะความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าลงอีกด้วย
เมื่อได้รับความรัก…ความสุขจะมากขึ้น
การที่เราได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้แสดงความรัก ความเมตตา ความห่วงใย หรือได้ช่วยเหลือผู้อื่น สมองจะผลิตสารโดพามีน หรือที่หลายคนเรียกว่า “สารแห่งความสุข”ออกมาเพราะการช่วยเหลือคนอื่น จะทำให้เราเกิดความรู้สึกดีและมีความสุขเพิ่มมากขึ้นค่ะ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดศึกษาและได้ค้นพบว่า ความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้สภาพจิตใจของเราดีขึ้นด้วย เพราะเราจะรู้สึกถึงความมั่นคงภายในจิตใจทำให้เรามีความสุขมากขึ้น และสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าในอนาคตได้
เมื่อได้รับความรัก…จะทำให้มีอายุยืนยาวมากขึ้น
นอกจากสภาพจิตใจของเราแล้ว สุขภาพร่างกายก็สำคัญไม่แพ้กัน ทุกคนรู้หรือไม่ว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นจะทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น งานวิจัยของวารสาร PLOS Medicine ได้ศึกษาและค้นพบว่า การที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม ได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้างจะทำให้เรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้น ทำให้สามารถมีชีวิตยืนยาวมากกว่าคนที่ไม่ชอบมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นถึง 50% นอกจากนี้ยังศึกษาและค้นพบว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การได้รับความรักจะช่วยลดความเครียด ทำให้เรามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเรามีสุขภาพจิตที่ดี อยู่หลายล้อมไปด้วยคนรอบข้างที่ดีกับเราจะมีชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้นค่ะ
เมื่อได้รับความรัก…อาการเจ็บป่วยจะดีขึ้น
ทุกคนเคยสังเกตไหมคะ ว่าทำไมเวลาเรารู้สึกไม่สบาย และมีคนที่เรารักมาหา มาอยู่ด้วยหรือมาคอยดูแล จะทำให้อาการเจ็บป่วยดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายๆ คนอาจจะพูดว่า เพราะเรามีกำลังใจที่ดีเราถึงหายจากอาการป่วยได้เร็ว จากการศึกษาค้นคว้าของ Mayo Clinic พบว่า ผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ได้รับกำลังใจ จะทำให้ผู้ป่วยฟื้นจากอาการป่วยได้เร็วและยังช่วยให้มีแรงใจในการปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอ เนื่องจากเขาได้รับการสนับสนุนทั้งอารมณ์ที่ดี ทำให้ผู้ป่วยหายได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ สะท้อนให้เห็นว่า หากผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดี มีกำลังใจ ก็จะทำให้สามารถต่อสู้กับความเจ็บป่วย ฉะนั้นหากใครมีคนรอบข้างที่ป่วยอย่าลืมไปให้กำลังใจเขาเยอะๆ นะคะ
เมื่อได้รับความรัก…เราจะรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น
การที่เราได้พูดคุย กับคนรอบข้างจะช่วยให้เรารับรู้เรื่องราวและเห็นอกเห็นใจคนอื่นเพิ่มมากขึ้น เข้าใจคนอื่นมากขึ้นและสามารถลดความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้ รวมถึงทำให้เรารู้สึกมีความสุ ขเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยค่ะ
การแสดงความรักให้แก่กัน ด้วยการแบ่งปัน ช่วยเหลือพูดคุย หรือเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะทำให้เรามีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น เพราะเราเชื่อว่า ความรักมีพลังสามารถเยียวยาร่างกายและจิตใจของเรา ให้กลับมาสดใส แข็งแรง มีรอยยิ้ม และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตทุกๆ วันค่ะ
Source
https://news-archive.exeter.ac.uk/featurednews/title_420975_en.html
https://www.psychologytoday.com/us/blog/your-neurochemical-self/201802/the-neurochemistry-love
https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0062396
https://journals.plos.org/plosmedicine/article?id=10.1371/journal.pmed.1000316 https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0062396