จากความสัมพันธ์ของคนรู้ใจกลายเป็นความรักที่สุกงอม พร้อมย้ายไปอยู่ด้วยในกันในที่อยู่ใหม่ ถึงเวลาแล้วที่คุณกับคนรักจะต้องหันหน้าเข้ามาคุยกันอย่างจริงจังสักที เพราะการเข้าอยู่ด้วยกันยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่ทั้งคู่จะต้องทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยืนยาวและอบอุ่นในที่อยู่แห่งใหม่นี้
ไม่ว่าทั้งคู่จะวางแผนว่าจะอยู่ก่อนแต่ง จดทะเบียนกันเฉยๆ หรือว่าย้ายเข้าอยู่ทันทีหลังแต่งงาน สิ่งสำคัญของทั้งคู่คือการวางแผนอนาคตร่วมกันให้ดี จากปกติที่คุณรับภาระในชีวิตของตนเอง ทำงานรับเงินเดือน ใช้จ่ายให้กับตัวเอง แต่เมื่อต้องย้ายไปอยู่ด้วยกันแล้วนั่นหมายความว่าคุณทั้งคู่พร้อมแล้วที่จะรับภาระต่างๆ ในชีวิตร่วมกัน
ความพร้อมของทั้งสองฝ่ายเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจว่าคุณพร้อมที่จะย้ายเข้าไปอยู่ด้วยกันแล้วหรือไม่?
นอกจากการวางแผนอนาคตร่วมกันแล้ว การตรวจสอบความพร้อมทางการเงินของทั้งสองฝ่าย เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยกำหนดอนาคตของทั้งคู่ว่าที่อยู่ใหม่ที่ย้ายเข้าไปอยู่ด้วยกันนี้ เป็นที่อยู่ชั่วคราว หรือจะเป็นที่ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวในระยะยาว ความพร้อมทางการเงินจึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่วางรากฐานที่มั่นคงให้กับชีวิตคู่ได้กลายเป็น ครอบครัว ที่แสนอบอุ่นได้ในอนาคต
1. กำหนดแผนชีวิตในอนาคตร่วมกัน
เมื่อต้องย้ายมาอยู่ด้วยกันแล้ว การมีแผนชีวิตระยะยาวร่วมกันจะช่วยรักษาความสัมพันธ์ของคู่รักให้เหนียวแน่นมากขึ้น จากที่เคยใช้ชีวิตคนเดียว หรือใช้ชีวิตกับเพื่อน อาศัยอยู่กับพ่อแม่ จนมาถึงช่วงเวลาที่ต้องออกมาอยู่กับคู่รักของตนเอง ที่ไม่เพียงการผูกพันกันด้วยหัวใจ แต่ยังต้องมีการกำหนดแผนการต่างๆ สำหรับอนาคตให้มุ่งไปในทิศทางที่ทั้งคู่ร่วมกันสร้างขึ้นมา
การทำงาน
การซื้อที่อยู่ใหม่ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด ทาวน์โฮม ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น งานประจำที่ทั้งคู่หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังทำอยู่ สามารถผ่อนชำระค่าหนี้สินและค่าใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคต่างๆ ในบ้านไหวหรือไม่ หรือต้องหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มเติม เนื่องจากการเงินเป็นปัจจัยหลักที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิต
แผนการมีลูก
คุณทั้งคู่พร้อมจะมีลูกหรือยัง?
ย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกันแล้ว ความพร้อมของทั้งสองคนมีมากแค่ไหน ไม่เพียงแค่เรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบต่อลูกน้อยเท่านั้น แต่ความพร้อมทางการเงินของทั้งคู่พร้อมแล้วหรือไม่ เด็ก 1 คนตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่จนถึงเติบโตจนสามารถเลี้ยงดูตนเองได้ จำเป็นต้องมีต้นทุนทางการเงินพอสมควรเพื่อส่งเสียเลี้ยงดูลูก ดังนั้นควรสำรวจภาระหนี้สินทั้งหมดของทั้งคู่ให้ดีก่อน เพื่อจะไม่ได้เกิดปัญญาทางการเงินได้ในอนาคต
นอกจากเรื่องการเงินแล้ว ความพร้อมของที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เด็กจะเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้ ซึ่งที่อยู่อาศัยที่จะรองรับการเติบโตของเด็กได้ควรมีพื้นที่พอสมควรให้เด็กได้ใช้เติบโตได้อย่างเต็มที่ ทำให้ บ้าน อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเมื่อคำนึงถึงการมีลูก
2. บริหารการเงินสำหรับชีวิตคู่
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในบ้านสำหรับการใช้ชีวิตร่วมกันอาจจะไม่ต้องจ่ายคนละครึ่งก็ได้ โดยให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานะทางการงานของแต่ละคน บางคู่รักอาจจะทำงานคนเดียวก็เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในบ้านแล้ว หรือบางคู่อาจจะทำงานทั้งคู่และมีบัญชีเก็บเงินร่วมกัน ซึ่งการวางแผนทางการเงินที่ดีควรเริ่มจากการเปิดรายได้ทั้งหมดให้กับอีกฝ่ายรับรู้ถึงที่มาและจำนวนเงินที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถประเมินแผนการบริหารการเงินเพื่อชีวิตคู่ได้
บัญชีร่วมรายรับ – รายจ่าย และการออมเงิน
สำหรับคู่รักที่ทำงานกันทั้ง 2 คน คุณอาจจะเปิดบัญชีร่วมเพื่อนำเงินแบ่งจากรายรับมาใช้จ่ายในค่าอุปโภคต่างๆ ร่วมกัน เช่น ค่าผ่อนที่อยู่อาศัย ค่าผ่อนรถ ไปจนถึงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งการแบ่งรายได้เข้าสู่บัญชีนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละคู่
สำหรับบัญชีเงินออม เป็นบัญชีที่เปิดไว้สำหรับการฝากประจำซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการแบ่ง 20% ของเงินเดือนเพื่อเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต เช่น ค่าเล่าเรียนลูก ค่าเดินทางท่องเที่ยว เงินก้อนเพื่อดาวน์อสังหาริมทรัพย์ โดยการออมเงินในบัญชีเงินฝากประจำจะได้ดอกเบี้ยตามข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร และบัญชีนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย ว่าจะเปิดร่วมกันหรือเปิดแยกกัน
นอกจากบัญชีออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำแบบทั่วไป ก็มีการออมในรูปแบบการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และสามารถถอนเงินต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยเงินฝากได้เมื่อครบตามสัญญาที่กำหนด โดยกองทุนทั้ง 2 แบบนี้ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
วางแผนการลงทุนร่วมกัน
อีกช่องทางการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินฝากนั่นคือ การลงทุน กับหลักทรัพย์เพื่อสร้างผลกำไร ซึ่งการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงในระดับแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายว่าพร้อมจะรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากแค่ไหน
กองทุนรวม
เป็นการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนนำเอาเงินจากผู้ลงทุนรายย่อยไปใช้ลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ โดยกองทุนรวมมีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับน้อยมากที่ช่วยรักษาเงินต้นของการลงทุนให้คงอยู่ ไปจนถึงแบบความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนจำนวนมาก แต่ก็มีโอกาสสูญเสียเงินต้นด้วยเช่นกัน
ลงทุนในหุ้น
การซื้อหุ้นเป็นการลงทุนหนึ่งที่คุณเข้าไปซื้อสิทธิ์ความเป็นเจ้าของบริษัทต่างๆ โดยสิ่งที่ได้รับจากการลงทุนหุ้นคือ ผลตอบแทนเมื่อกิจการที่ลงทุนไปผลการดำเนินงานที่ดีและมีกำไรเกิดขึ้น คุณจึงต้องเลือกธุรกิจที่คิดว่าทำเงินได้ดี ดังนั้นการลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนค่อนข้างมีความเสี่ยงและจำเป็นต้องมีความรู้ เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ขึ้นลงของตลาดหุ้น
ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
การลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์มีหลายรูปแบบและสามารถสร้างรายได้ให้กับคุณได้ในปริมาณมาก แต่ก็ต้องแลกกับการลงทุนที่มากเช่นเดียวกัน หลายคนมองว่าการซื้อคอนโดหรือบ้านไว้ปล่อยเช่าเพื่อกินกำไรเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ต้องมีความระมัดระวังสูงเนื่องจากปัจจุบันมีการแข่งขันค่อนข้างสูง และมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอื่นๆ อีกมากมายที่คุณต้องรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่น เช่น การซื้อเพื่อเก็งกำไรโดยประเมินถึงความต้องการในอนาคต เช่น ซื้อคอนโดในย่านที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าที่กำลังจะสร้างเสร็จ และคาดว่าความต้องการอยู่อาศัยในย่านนั้นจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณได้กำไรจากการขายคอนโดที่ซื้อเอาไว้ในราคาที่สูงขึ้นั่นเอง
เงินสำรองอื่นๆ
นอกจากบัญชีที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและบัญชีสำหรับออมเงินแล้ว คุณทั้งคู่ควรจะต้องมีบัญชีเงินเก็บเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือในเหตุจำเป็นที่ต้องใช้เงินก้อน เพื่อไม่ให้กระทบกับบัญชีที่ใช้อยู่เป็นประจำด้วย เช่น
ค่าบำรุงส่วนกลาง
ถ้าคุณและคู่รักอาศัยอยู่ในโครงการคอนโด บ้าน หรือทาวน์โฮม ที่มีส่วนกลางสำหรับใช้ประโยชน์ร่วมกับเพื่อนบ้าน ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงส่วนกลางซึ่งเรียกเก็บในแต่ละปี จึงต้องเตรียมเงินก้อนนี้ไว้ล่วงหน้าเพื่อจ่ายในทุกปีด้วย
ค่าต่อเติมซ่อมแซม
เมื่ออาศัยอยู่ในที่อยู่ใหม่ไปแล้วหลายปี ค่าใช้จ่ายเรื่องการซ่อมแซมภายในอาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในที่อยู่อาศัยมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน รวมถึงการต่อเติมหรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ก็ควรมีเงินก้อนสำรองที่ใช้กับค่าใช้จ่ายส่วนนี้
ค่ารักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน
เรื่องการเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า สำหรับคู่รักที่ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากที่ทำงาน หรือประกันชีวิตที่ช่วยเหลือค่ารักษาในยามฉุกเฉิน สิ่งที่ต้องมีคือเงินก้อนสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง เมื่อเกิดการเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลหรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
3. เลือกที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของทั้งสองฝ่าย
สำหรับคำถามต่อไปที่ต้องร่วมกันหาคำตอบเมื่อต้องย้ายไปอยู่ด้วยกันนั่นคือ อยู่ที่ไหนดีถึงจะเหมาะสมกับทั้งคู่ บางคนอาจจะสะดวกที่จะย้ายไปอยู่บ้านของอีกฝ่าย หรือบางคู่อาจจะมีงบประมาณเพียงพอที่จะย้ายออกไปซื้อที่อยู่ใหม่ด้วยกัน แล้วบ้าน คอนโด หรือทาวน์โฮม กันล่ะ ที่จะตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของทั้งสองคนได้?
สำหรับบางคนที่อาจจะยังตัดสินใจไม่ได้ว่าต้องการที่อยู่แบบไหน ลองตอบคำถามว่าคุณทั้งสองคนมีความต้องการเหล่านี้หรือไม่?
สำหรับคู่รักที่กำลังสนใจซื้อคอนโด
1. เดินทางง่ายด้วยขนส่งสาธารณะ
2.ใกล้เมืองหรืออยู่ใจกลางเมืองสะดวกต่อการเดินทางไปทำงาน
3. ไม่ต้องการเลี้ยงสัตว์
4. ชอบวิวสวยบนตึกสูง
5. ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งร้านสะดวกซื้อ โรงพยาบาล ซักอบรีด ตลาด
ถ้าทั้ง 5 ข้อนี้ตรงกับความต้องการของคุณ คุณทั้งคู่เหมาะกับการอาศัยร่วมกันใน คอนโด
คอนโดเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกสูง ซึ่งจะมีเรทราคาที่แตกต่างกันออกไปตามทำเลที่ตั้ง ขนาดห้อง และความสูง คอนโดส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตใจกลางเมืองหรือใกล้แหล่งสิ่งอำนวยความสะดวกสบายต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ร้านซักอบรีด ร้านอาหาร นอกจากนี้ยังเดินทางได้อย่างสะดวกสบายเพราะอยู่ใกล้กับขนส่งสาธารณะ
สำหรับคู่รักที่กำลังสนใจซื้อบ้าน
1. วางแผนมีลูก
2. อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่
3. อยากมีสัตว์เลี้ยง
4. มีรถยนต์ส่วนตัว
5. มีพื้นที่เป็นของตัวเอง
ถ้าทั้ง 5 ข้อนี้ตรงกับความต้องการของคุณ คุณทั้งคู่เหมาะกับการอาศัยร่วมกันใน บ้าน
บ้านเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาค่อนข้างสูง ควรต้องเช็คความพร้อมทางการเงินของทั้งคู่ให้ดีก่อน ว่าการซื้อบ้านต้องกู้ยืมหรือไม่ และสามารถผ่อนชำระไหวหรือไม่ ซึ่งขนาดของบ้านและทำเลที่ตั้งก็ส่งผลต่อราคาของบ้านด้วย บ้านส่วนใหญ่โครงการมักตั้งอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองทำให้การเดินทางส่วนใหญ่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัวจะทำให้เดินทางสะดวกกว่า
ข้อดีของการมีบ้านเป็นของตัวเองคือ การมีพื้นที่ส่วนตัวทั้งตัวบ้านและล้อมรอบบ้าน ทำให้การวางแผนขยายครอบครัวในอนาคตสามารถทำได้อย่างไม่มีข้อกังวลใจ นอกจากนี้บ้านยังสามารถรองรับสำหรับคนที่ต้องการอาศัยอยู่เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งมีการแบ่งห้องต่างๆ ออกจากกันได้อย่างเป็นระเบียบ รวมถึงยังมีพื้นที่เหลือสำหรับสัตว์เลี้ยงอย่าง สุนัข หรือแมว อีกด้วย
สำหรับคู่รักที่กำลังสนใจซื้อทาวน์โฮม
1. อยู่ใกล้เมืองสะดวกต่อการเดินทาง
2. ใช้รถยนต์ส่วนตัว
3. มีเพื่อนบ้านที่อบอุ่น
4. มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นส่วนตัว
5. ดูแลง่าย พื้นที่ใช้สอยในบ้านแบ่งสัดส่วนได้อย่างลงตัว
ถ้าทั้ง 5 ข้อนี้ตรงกับความต้องการของคุณ คุณทั้งคู่เหมาะกับการอาศัยร่วมกันใน ทาวน์โฮม
ทาวน์โฮมเป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นเหมือนลูกผสมของคอนโดและบ้าน ที่ได้การอยู่อาศัยใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านด้วยกำแพงเดียวกัน มีพื้นที่ส่วนกลาง แต่มีตัวบ้านเป็นของตัวเอง มีขนาด 2-3 ชั้นและถูกแบ่งสัดส่วนได้อย่างลงตัว สำหรับทาวน์โฮมจะมีราคาที่ไม่แพงเท่ากับบ้านและมีพื้นที่ใช้สอยที่เหมาะสมกับครอบครัวเล็ก โดยส่วนใหญ่จะมีโครงการอยู่ใกล้เมืองที่ต้องใช้การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวจึงจะสะดวก
ทาวน์โฮมมีขนาดใช้สอยที่ไม่กว้างใหญ่มากเหมือนกับบ้านทำให้การดูแลรักษาง่ายและประหยัดกว่าบ้าน สำหรับคนที่ไม่ต้องการอยู่บนคอนโดสูงแต่งบประมาณจำกัด ทาวน์โฮมจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์
4. สร้างข้อตกลงของการใช้ชีวิตร่วมกัน
หน้าที่ความรับผิดชอบในบ้าน
เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคที่มีทั้งพ่อบ้าน แม่บ้าน งานบ้านจึงไม่ใช่เรื่องที่เฉพาะฝ่ายหญิงต้องทำอย่างเดียว ผู้ชายบางคนอาจจะชอบซักผ้ามากกว่า หรือทำอาหารได้เก่งกว่าผู้หญิง แต่การตกลงกันก่อนในเรื่องของความรับผิดชอบในบ้านเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ที่ช่วยสร้างความเป็นระเบียบให้กับที่อยู่อาศัยของคุณทั้งสองคนได้
บางบ้านอาจจะจ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดหรือทำงานบ้านอื่นๆ ให้ แต่บางบ้านกลับไม่ได้มองว่าการจ้างแม่บ้านมีความจำเป็น เนื่องจากสามารถทำเองได้ ดังนั้นจึงต้องแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครจะรับผิดชอบอะไรหรือสลับกันทำ แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่จะช่วยลดปัญหาการกระทบกระทั่งกัน ของทั้งสองฝ่ายที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ข้อตกลงเมื่อเกิดปัญหากับคนรัก
เมื่อเข้าร่วมชายคากันแล้วการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติของคู่รัก เพราะการอยู่ด้วยกันแทบจะตลอดเวลา อาจจะทำให้เกิดการมีปากเสียงหรือความเห็นไม่ตรงกันได้ สิ่งสำคัญเมื่ออาศัยอยู่ด้วยกันแล้ว การพูดคุยกันเพื่อสร้างข้อตกลงกันก่อนอาจจะช่วยลดความรุนแรงของการมีปากเสียงกันได้
บางบ้านอาจจะมีห้องนอนแยกที่เมื่อทะเลาะกันแล้ว ก็แยกห้องนอนกันชั่วคราวเพื่อสงบสติอารมณ์ของตนเองให้ดีขึ้นก่อนที่จะมาพูดคุยตกลงกันอีกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้งสองฝ่ายว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะช่วยกันหาทางออกได้อย่างไร แต่อย่าลืมว่าการทะเลาะกันไม่ใช่จุดจบของความสัมพันธ์ของชีวิตคู่
5. การบริหารความสัมพันธ์ต่อคนรักและคนรอบข้าง
ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรรักษาเอาไว้ไม่ใช่เพียงแค่กับคนรักของเราเท่านั้น แต่เพื่อน พ่อแม่ที่อยู่รอบข้างของคุณ ก็ต้องมีการบริหารความสัมพันธ์เหล่านี้เอาไว้ เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องขอความช่วยเหลือ คุณจะพบว่าคนเหล่านี้จะเป็นคนแรกๆ ที่ยื่นมือมาช่วยคุณได้
การบริหารความสัมพันธ์กับคนรัก
หลังจากที่ย้ายมาอยู่ด้วยกันแล้วในระยะแรก ความสัมพันธ์ของคู่รักหลายๆ คู่จะเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อมีภาระภายนอกที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ จึงทำให้บางคู่มัวแต่ทำงานมากเกินไปจนลืมบริหารความสัมพันธ์กับคู่รัก แม้ว่าการอยู่ด้วยกันทุกวันอาจจะทำให้มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพียงแค่ความไว้ใจและความซื่อสัตย์อาจจะเพียงพอแล้ว แต่ความจริงแล้วการมีรายละเอียดเล็กน้อย ที่สร้างความตื่นเต้นและความสุขให้กับคู่รักให้เหมือนตอนกำลังจีบกันใหม่ๆ จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ได้อย่างยาวนาน
การบริหารความสัมพันธ์กับสังคมเพื่อน
สำหรับคู่รักที่ไม่ได้เริ่มจากการมีเป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน การเปิดสังคมเพื่อนของทั้งสองฝ่ายให้กับทุกคนได้รู้จักกันเป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่ช่วยให้คุณกับคนรักได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น
เพื่อนสนิทมักจะเป็นคนแรกๆ ที่รู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคุณ และอาจจะเป็นคนแรกที่ยื่นมือมาช่วยคุณออกจากปัญหาที่พบเจออยู่ เมื่อย้ายมาอยู่กับคนรักแล้ว ก็อย่าลืมบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนของทั้งสองฝ่ายด้วย เช่น การชวนเพื่อนมาสังสรรค์ที่บ้านในช่วงเทศกาลเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งกับคนรักและเพื่อนของทั้งสองฝ่ายด้วย
การบริหารความสัมพันธ์กับครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับคู่ที่ไม่ได้อยู่บ้านกับพ่อแม่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การไปมาหาสู่กับคนในครอบครัวของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้อบอุ่นเป็นสิ่งหนึ่งที่จำเป็น แม้ว่ายุคของเทคโนโลยีกำลังเข้ามาทำให้การสื่อสารกันเป็นเรื่องง่าย แต่การแบ่งช่วงเวลาว่างในวันหยุด เดินทางไปหาคนในครอบครัวของอีกฝ่ายเพื่อพบปะ ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน จะทำให้ลดปัญหาการเกิดปัญหาและช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงการได้รับฟังคำปรึกษาต่างๆ เพื่อสร้างครอบครัวที่ดีจากประสบการณ์ของผู้ใหญ่ได้
สรุป
ที่อยู่อาศัยเป็นหัวใจหลักของการสร้างครอบครัว ที่ช่วยให้คู่รักสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างมีอิสระและมีความสุข โดยเริ่มได้จากการหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันถึงแผนการในอนาคตว่าทั้งสองฝ่ายมีจุดหมายเดียวกันหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบความพร้อมทางการเงินให้ดีก่อนตกลงซื้อที่อยู่อาศัย เพราะจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ
นอกจากความสัมพันธ์ของคู่รักและครอบครัวที่ร่วมกันสร้างในที่อยู่แห่งใหม่แล้ว ก็อย่าลืมบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนและผู้ใหญ่ในครอบครัวด้วย เพื่อให้ครอบครัวของคุณมีคนรอบข้างที่จริงใจคอยให้ความช่วยเหลือและร่วมสร้างความสุขไปพร้อมกับคุณด้วย