Brokeback Mountain
หุบเขาแห่งความปวดร้าว
จุดเริ่มต้นความเท่าเทียมของ LGBTQ+

ผ่านมา 17 ปีแล้ว ที่โลกได้รู้จักกับภาพยนต์ LGBTQ+ ระดับตำนานอย่าง
‘Brokeback Mountain’

gay, lgbtq, brokeback mountain, movie

แม้นานแค่ไหนก็ยังครองตำแหน่งหนังที่นำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ภาพยนต์ที่ได้พาเราไปพบกับเรื่องราวความรักของคาวบอยหนุ่ม 2 คน ที่ทั้งงดงามแต่ก็เจ็บปวดจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่

นอกจากจะกวาดรางวัลไปมากมาย อีกความสำเร็จของ Brokeback Mountain คือการจุดประเด็นให้ผู้คนในสังคมหันมาเข้าใจและพูดถึงสิทธิของ LGBTQ+ มากขึ้น ถึงแม้บางกลุ่มที่มีอคติต่อ LGBTQ+ กลับใช้มาล้อเลียนเกย์ หรือโจมตีหนังอย่างรุนแรง ทำให้เราเห็นได้ว่าในสังคมยังคงมีคนที่ไม่เปิดใจในเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย

เราขอชวนมาย้อนรอยเรื่องราวของ Brokeback Mountain รวมทั้งทบทวนประเด็นความเท่าเทียมในสังคมตอนนี้ ว่ายังมีอะไรที่เราควรช่วยกันผลักดันอีกบ้าง

*หมายเหตุ : บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์

หนังดีกับประเด็นที่ถูกมองว่า ‘มาก่อนกาล’

gay, lgbtq, brokeback mountain, movie

Brokeback Mountain นำเสนอชีวิตของเกย์ภายใต้อาชีพที่ดูเป็นชายอย่าง คาวบอย และยังพูดถึงหลายประเด็นที่ถือว่าล้ำสมัยในยุคนั้น จนหลายคนมองว่าเป็น ‘หนังที่มาก่อนกาล’

ภาพยนต์เรื่องนี้พาเราไปรู้จักกับ ‘แจ็ก’ และ ‘เอนนิส’ คาวบอย 2 คนที่มาทำงานเฝ้าฝูงแกะด้วยกันในหุบเขา Brokeback Mountain จนตกหลุมรักกัน แต่มันไม่สามารถลงเอยแบบ Happy Ending ได้เหมือนหนังรักทั่วไป ทั้งสองต่างรู้ดีว่าความรักครั้งนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วต้องแยกย้ายกันไปแต่งงานกับผู้หญิงตามที่สังคมคาดหวัง

ตลอดทั้งเรื่อง เราจะเห็นว่าทั้งคู่ยังคงคิดถึงกัน และยังพยายามกลับมาเจอกันถึงแม้จะแต่งงานไปแล้ว ประเด็นการถูกกดดันให้แต่งงานกับผู้หญิงถือเป็นปัญหาของเกย์ทั่วโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะประเทศที่เคร่งศาสนา แต่ปัญหานี้กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงในยุคนั้น อย่าง Humsafar Trust องค์กรสนับสนุน LGBTQ+ ในประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า กว่า 75% ของเกย์ในอินเดียถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานกับผู้หญิง และคาดหวังให้เปลี่ยนเป็นชายตรงเพศหลังแต่งงาน

หลี่ อัน, ang lee, gay, lgbtq, brokeback mountain, movie

“I wish I knew how to quit you.”
(ฉันหวังว่าฉันจะรู้วิธีเลิกรักนาย)

ภาพยนต์เรื่องนี้ย้ำกับสังคมอย่างหนักแน่นว่าเราบังคับให้ใครเปลี่ยนเพศไม่ได้ อย่างประโยคที่แจ็กพูดกับเอนนิสซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับจะย้ำเตือนให้คนดูเข้าใจว่าความรักที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็นความรักที่คนสองคนมีให้กันอย่างแท้จริงแม้ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใดก็ตาม

ความเจ็บปวดในชีวิตของแจ็กและเอนนิสที่เราเห็น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยสักนิด ในปี 2005 ที่ออกฉาย เป็นยุคที่แทบไม่มีประเทศไหนให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสได้เลย LGBTQ+ จำนวนมากยังต้องเจออคติในที่ทำงาน ถูกรังเกียจ หรือถึงขั้นถูกทำร้ายจนถึงแก่ชีวิต ทำให้หลายคนเลือกที่จะยอมซ่อนตัวตนเอาไว้ Brokeback Mountain ได้นำความเจ็บปวดที่แสนอึดอัดเหล่านี้มาเปิดเผยให้โลกรู้ และบอกกับชาว LGBTQ+ ว่าพวกเขาไม่ได้กำลังต่อสู้อยู่เพียงลำพัง

การแสดงออกจากสังคม ทั้งชื่นชมและต่อต้าน

gay, lgbtq, brokeback mountain, movie

Brokeback Mountain ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามตั้งแต่ออกฉาย กวาดรางวัลไปนับไม่ถ้วน ด้วยงานภาพตระการตา การแสดงที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้ลึกซึ้ง เพลงประกอบที่ชวนให้อินไปกับเรื่อง และที่สำคัญคือประเด็นความไม่เท่าเทียมที่ LGBTQ+ ต้องเจอ

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่มีอคติกลับนำภาพและประโยคจากหนังไปทำเป็นมีมเพื่อล้อเลียนกลุ่ม LGBTQ+ ในโลกออนไลน์ ลามไปถึงขั้นเหมารวมและล้อว่าคนที่ชอบเรื่องนี้ต้องเป็นเกย์ โดยใช้คำเหยียดเพศอย่าง ‘คาวบอยสายเหลือง’ หรือใช้คำ ‘โบรคแบ็ค’ เป็นคำแสลงเพื่อเหยียดเกย์

gay, lgbtq, brokeback mountain, movie
ตัวอย่าง meme จากฟากตะวันตกในยุคก่อน ที่หยิบหนังมาล้อเลียนอย่างสนุกสนาน

นอกจากนี้ ช่วงที่ภาพยนต์ออกฉายยังมีกระแสต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้จะทำให้คนเป็นเกย์มากขึ้น รวมถึงมีโบสถ์หลายแห่งออกมาประณามว่าเป็นหนังที่ผิดศีลธรรม จนโรงภาพยนต์บางแห่งถึงขั้นสั่งงดฉาย เพราะกลัวกระแสโจมตีจากกลุ่มคนเคร่งศาสนา

แม้แต่นักแสดงนำ Jake Gyllenhaal’ และ ‘Heath Ledger’ ยังเผยว่า ในช่วงที่ฉายอยู่ พวกเขาต้องเจอกับมุกเหยียดเพศอยู่บ่อยๆ แม้แต่บนเวทีระดับโลกอย่าง Oscar ยังเสนอให้พวกเขาเล่นมุกเหยียดเพศบนเวที แต่นักแสดงทั้งสองยืนยันว่าขอเลือกที่จะเคารพในความแตกต่างทางเพศ

“เราทำภาพยนต์เรื่องนี้เพื่อโชว์ว่า LGTBQ+ มีความรักที่ลึกซึ้งและบริสุทธิ์ไม่ต่างจากชายหญิงเลย ผมว่าคนที่รังเกียจความรักของพวกเขาได้ลงนั้นน่าละอายมาก”

Heath Ledger แสดงจุดยืนอย่างชัดเจน และถึงแม้ในวันนี้เขาจะจากไปแล้ว แต่ Jake Gyllenhaal ยังพูดถึงทัศนคติที่น่าชื่นชมนี้อยู่เสมอ และมีความเชื่อว่าผลงานเรื่องนี้ได้เปิดทางให้กับความเท่าเทียมทางเพศ และหวังว่าวงการภาพยนต์จะมีพื้นที่สำหรับความหลากหลายมากขึ้น

ประเด็นสังคมที่ยิ่งใหญ่ จุดประกายได้จากหนังหนึ่งเรื่อง

หลี่ อัน, ang lee, gay, lgbtq, brokeback mountain, movie
ฮีธ เลดเจอร์ (ซ้าย) ดาราระดับตำนานผู้ล่วงลับ และ หลี่ อัน (ขวา) ผู้กำกับอเมริกัน-ไต้หวัน เจ้าของตุ๊กตาทองคำหลายรางวัล

จากกระแสเหยียดเพศที่ต่อต้านบางส่วนในอดีต สู่วงการภาพยนตร์ที่โอบรับความเท่าเทียมมากขึ้นในวันนี้ ผู้ชมจำนวนมากชื่นชม Brokeback Mountain ที่กล้านำเสนอประเด็นนี้ในวันที่สังคมยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจากจุดนั้นได้จุดประกายให้เกิดภาพยนต์ LGBTQ+ ดีๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง

มีชาว LGBTQ+ หลายคนที่เปิดใจว่าพวกเขารักตัวเองมากขึ้นหลังจากได้ดู Brokeback Mountain และไม่อยากปิดบังตัวตนอีกต่อไป ‘Craig Johnson’ ผู้กำกับและนักเขียนบทชาวอเมริกัน ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเล่าว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เขากล้าเปิดเผยว่าเป็นเกย์ กล้าที่จะมีความสุขที่เป็นตัวเองมากขึ้น ตอกย้ำว่าภาพยนต์เรื่องนี้มีผลต่อความคิดของผู้คนอย่างมาก

แม้กระทั่งในไต้หวัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของ หลี่ อัน (หรือ อัน หลี่) ผู้กำกับเอง ก็เกิดมูฟเมนต์ที่ยิ่งใหญ่จาก Brokeback Mountain เช่นกัน คำว่า “dun bui” ซึ่งเป็นภาษาจีนของคำว่า Brokeback ถูกบัญญัติขึ้นโดยกลุ่ม LGBTQ+ ในไต้หวัน และได้นำไปใช้เป็นคำแทนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม นักกิจกรรมชาวไต้หวันมองว่าภาพยนต์เรื่องนี้ช่วยฉีกอคติทางเพศ และยังนำเสนอชีวิตของชาว LGBTQ+ ออกมาได้สมจริงและลึกซึ้ง

ดูหนังแล้วลองถอยหลัง ออกมาดูสังคม

แสนสิริ, live equally
Sansiri Live Equally

เมื่อเทียบกับ 17 ปีที่แล้ว ในทุกวันนี้ เราได้เห็นสื่อต่างๆ นำเสนอความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องผลักดันเพื่อให้เกิดความเสมอภาค อย่าง “การสมรสเท่าเทียม” ที่เป็นประเด็นพูดถึงในวงกว้างของประเทศไทย ณ ช่วงเวลานี้

และถ้าเรามองว่าสิ่งที่ตัวละครทั้ง 2 คนต้องเผชิญเป็นเรื่องน่าเศร้า ยิ่งไม่ควรปล่อยให้มันเกิดขึ้นกับใครในสังคมไม่ว่าเพศสภาพไหนก็ตาม กลุ่ม LGBTQ+ ควรได้รับสิทธิ์ที่จะสมรส และได้สร้างครอบครัวกับคนที่รักโดยมีสิทธิ์ทางกฎหมายเหมือนกับชายหญิง

ย้ำอีกครั้ง! นี่ปี 2022 แล้ว ทัศนคติการเหยียดหรือล้อเลียนเรื่องเพศควรหมดไป เพราะเราทุกคนล้วนมีคุณค่าเท่ากัน แสนสิริขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า เพื่อผลักดันความเท่าเทียม และต้องการเห็น “ทุกคนเท่ากัน” อย่างแท้จริง

gay, lgbtq, brokeback mountain, movie

Brokeback Mountain ชวนให้เข้าใจว่าคุณค่าความรักของ LGBTQ+ ไม่ได้น้อยไปกว่าความรักของคู่ครองในอุดมคติสังคมอย่าง ชาย-หญิงเลย ความรักสวยงามไม่ว่าจะเกิดกับใคร ไม่ควรถูกด้อยค่าเพียงเพราะการยึดติดในเพศสภาพ และเช่นเดียวกันก็ไม่ควรถูกตัดสินว่าเป็น “ความฉาบฉวย” แค่เพราะไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง

ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความรู้สึกอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องปิดบัง และควรได้รับการยอมรับในทุกความแตกต่าง

การเคารพ ให้เกียรติ และปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม
คือบรรทัดฐานทางสังคม ที่ควรจะเป็น

Image credits : imdb.com

CONTRIBUTOR

Related Articles

Ready Set Marry

เมื่อรัก คือ รักบนความเท่าเทียม ชีส & รถเมล์

หากลองคิดดูจากผู้คนนับล้านคนจะมีสักกี่คนที่เกิดวัน เดือน ปี เดียวกัน แล้วได้โคจรมาเจอกัน มากกว่านั้นคือได้กลายเป็น “คู่รัก” กัน เช่นเดียวกับคู่ของ “ชีส” – ณัฐฐิยา สงวนศักดิ์ และ “รถเมล์” – ชัญญานุช มะลิมาตร ที่ร่วมกันถักทอเรื่องราวความรักต่างๆ ร่วมกันมาจนจะเข้าปีที่

Ready Set Marry

เมื่อรัก…คือ การให้ความสำคัญ กับคนที่อยู่เคียงข้าง ลูกไม้ & มาย

แสนสิริ ขอชวนทุกคนมาร่วมกันนับถอยหลังสู่วันที่ประเทศไทยจะมี “สมรสเท่าเทียม” อย่างเป็นทางการ โดยคู่รักทุกคู่จะสามารถจดทะเบียนเป็น “คู่สมรส” และได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมพร้อมกันในวันที่ 22 มกราคม 2568 ผ่านแคมเปญ Ready, Set, Marry! เริ่มจากคู่รักสายแฟชั่น ‘ลูกไม้’ อินทิรา หอมเทียนทอง และ ‘มาย’

ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาผ่านโครงการ ZERO DROPOUT

Zero Dropout  เพราะ “การศึกษา” เปรียบเสมือนใบเบิกทางต่อยอดสู่อนาคต แต่กลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ รายได้ในครอบครัวไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการศึกษา เด็กบางคนต้องช่วยที่บ้านทำงานจนเรียนไม่ทัน หรือขาดเอกสารในการยืนยันตัวตน ทำให้ “เด็ก” หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาและพลาดโอกาสในการทำตามความฝันและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” เป็นสิ่งที่แสนสิริมีความมุ่งมั่นตั้งใจริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ