ไหนใครมีอาการแบบนี้บ้าง ง่วงหลังทานอาหารเสร็จแต่เราต้องกลับมานั่งทำงาน กลับมาเรียนต่อในตอนบ่าย ต้องกินชา กินกาแฟ เป็นตัวช่วยให้ตาสว่าง กลับมารู้สึกกระปรี้กระเปร่าอีกครั้ง หลายคนอาจสงสัยว่าที่เรามีอาการเช่นนี้เพราะเราขี้เกียจหรือเปล่านะ? แต่แท้จริงแล้ว อาจจะเป็นเพราะเรากินอาหารที่มีแป้งและไขมันมากเกินไป รวมถึงกินอิ่มมากเกินไปจึงทำให้เรารู้สึกง่วงนอนนั่นเองค่ะ
อาการนี้เขาเรียกกันว่า “Food Coma” หรือการง่วงหลังจากรับประทานอาหารเสร็จหากฟังดูอาจจะดูเหมือนเป็นอาการที่อันตราย แต่แท้จริงแล้ว อาการนี้ไม่เป็นอันตราย แต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงาน การเรียน สุขภาพ ฯลฯ เพราะเมื่อเรารู้สึกแบตหมด เราจะทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาการง่วงหลังกินอิ่มจึงเป็นเรื่องที่เราไม่ควรมองข้ามไป
วันนี้ Mental Life by Chanisara จะพาทุกคนมารู้จักกับอาการ “Food Coma” ง่วงนอนจากการรับประทานอาหารเสร็จและพามาดูกันว่าร่างกายทำปฏิกิริยาอะไรที่ทำให้เกิด “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” รวมถึงมาบอกวิธีป้องกันไม่ให้ง่วงหลังจากรับประทานอาหารเสร็จกันค่ะ
“Food Coma” ง่วงหลังจากรับประทานอาหารไม่ใช่อาการขี้เกียจ
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีอาการง่วงนอนหลังรับประทานอาหารเสร็จกันใช่ไหมล่ะค่ะ โดยเฉพาะหลังทานอาหารเที่ยง หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองขี้เกียจ แต่แท้จริงแล้วอาจจะมาจาก การที่เรากินอาหารอิ่มมากเกินไป โดยเฉพาะยิ่งถ้าเรากินพวกคาร์โบไฮเดรต แป้งหรือไขมันเยอะ
อาการง่วงหลังรับประทานอาหารเสร็จ เรียกว่า “Food Coma”หรือศัพท์เฉพาะทางการแพทย์จะเรียกว่า “postprandial somnolence” ซึ่งอาการจะเหมือนแบตเตอรี่อ่อน รู้สึกหมดพลังงาน อ่อนเพลีย ง่วงนอน ไม่มีสมาธิ คิดอะไรไม่ออก ทำให้เราเรียนหรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งการเป็นเช่นนี้อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราได้ค่ะ รวมถึง “Food Coma” สามารถเกิดกับคนทุกเพศทุกวัยเลยค่ะ แล้วทุกคนเคยสงสัยกันไหมคะ ว่าร่างกายของเราทำปฏิกิริยาอะไรทำให้เรากินอิ่มแล้วรู้สึกง่วงนอน? เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกันค่ะ
ร่างกายของเราทำปฏิกิริยาอะไรที่ทำให้เรากินอิ่มแล้ว “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน”
“Food Coma” เป็นภาวะปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ จากการกินอาหารมากเกินไปทำให้ร่างกายต้องใช้พลังมหาศาลในการย่อยอาหาร ซึ่งเวลาย่อยอาหารร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน “อินซูลิน” ออกมาเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด การหลั่งอินซูลินช่วยให้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า “ทริปโตเฟน”
ซึ่งทริปโตเฟนมีหน้าที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายง่วงนอน ยิ่งถ้าหากเรากินอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตเข้าไปในร่างกายเป็นจำนวนมาก เช่น ข้าว ข้าวเหนียว น้ำตาล น้ำอัดลม ของหวาน ฯลฯ จะยิ่งทำให้เราง่วงนอนง่ายมากยิ่งขึ้น และการกินอาหารประเภทไขมันมากเกินไป ยังทำให้กระเพาะอาหารใช้พลังงานในการย่อยมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียและง่วงนอน จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นว่า กินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันมากเกินไป ทำให้เราง่วงนอนได้นั่นเองค่ะ
“Food Coma” ผลกระทบที่นำไปสู่โรคอื่นๆ ในอนาคต
การที่เราง่วงหลังรับประทานอาหารบ่อยๆ อาจจะส่งผลเสียได้ในระยะยาว นอกจากจะทำให้เราทำงานและเรียนไม่ได้ประสิทธิภาพสมองไม่ปลอดโปร่งยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาในอนาคตอีกด้วย
วิธีการป้องกันไม่ให้ง่วงหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ
ไม่รับประทานอาหารจนอิ่มเกินไป ควบคุมการกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ปรับการกินอาหารเป็นมื้อย่อยๆ เช่น ตอนเที่ยงอาจจะไม่กินเยอะจนเกินไป แต่มารับประทานของว่างในช่วงบ่ายแทนค่ะ
เลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและมีสารอาหารครบถ้วน ไม่กินอาหารที่มี คาร์โบไฮเดรต แป้ง น้ำตาล ไขมัน มากจนเกินไป โดยอาจจะเพิ่มผักผลไม้ลงไปเพื่อให้เราได้รับพลังงานในปริมาณที่พอดี
รับประทานอาหารเสร็จควรไปเดินย่อยอาหาร การขยับร่างกายหลังจากทานอาหารเสร็จ 10-15 นาที จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งชาหรือกาแฟค่ะ
เคี้ยวอาหารให้ละเอียด การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดจะช่วยให้กระเพาะอาหารของเราไม่ทำงานหนักเกินไป ซึ่งสามารถลดความรู้สึกง่วงนอนหลังกินอาหารได้ค่ะ
การนอนหลับให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลในระหว่างวันได้ดี ซึ่งลดอาการง่วงหลังจากรับประทานอาหารเสร็จได้ค่ะ
“Food Coma” อาการ “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” หลังรับประทานอาหารเสร็จ
เป็นอาการที่เกิดจากการกินแป้งและไขมันมากเกินไป ดังนั้น ถ้าหากเราไม่อยากง่วงให้กินอาหารที่มีแป้งและไขมันอย่างพอเหมาะนะคะ
Source
https://www.medicalnewstoday.com/articles/food-coma
https://vt.tiktok.com/ZSr3Vg3s6/
https://www.chula.ac.th/magazine/14218/
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/4177
https://www.abc.net.au/news/health