ไม่ว่าจะในโซเชียลมีเดีย เวทีการเมือง หรือกระแสสังคมโลก ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งในปี 2022 นี้ ความเท่าเทียมมีพื้นที่สื่อมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อบันเทิงอย่าง ภาพยนต์ ซีรีส์ และสารคดี จะเห็นได้ว่าประเด็นความเท่าเทียมถูกถ่ายทอดออกมาหลายมิติ แสนสิริเลยขอชวนไปดู 4 หนังดี ที่เล่าเรื่องความเท่าเทียมได้อย่างเฉียบคม พร้อมทั้งคัดเอาประโยคเด็ดจาก 4 เรื่องนี้มาฝากกัน บอกเลยว่าอ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจแน่นอน
Atypical : เด็กชายผู้เป็นออทิสติกกับการเข้าสู่โลกของคนปกติ
สำหรับคุณ คำว่า ‘ปกติ’ หมายถึงอะไร? หมายถึงความไม่พิการ หรือการไม่เจ็บป่วย? หรือต้องไม่ผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่เป็นใช่มั้ย? นี่เป็นคำถามที่ ‘แซม’ ตัวเอกจากซีรีส์ Atypical ยังคงพยายามหาคำตอบ
Atypical คือซีรีส์ดราม่าคอมเมดี้จาก Netflix ที่เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของแซม เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่มีอาการออทิสติก ผู้ซึ่งพยายามจะเข้ากับโลกของ “คนปกติ” ให้ได้ แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาก็มักจะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดเสมอ เพราะสังคมมักมองว่าเขาไม่เข้าใจคนปกติ แต่หากมองในทางกลับกันแล้ว คนที่ว่าปกติเหล่านั้นก็ไม่ได้พยายามจะเข้าใจเขาเหมือนกัน
“คนชอบคิดว่าผมไม่รู้ตัวเวลาที่ถูกแกล้ง ผมรู้ตัวนะ แต่ผมมักไม่ค่อยรู้ว่าทำไมถึงโดน ทำให้ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่”
ประโยคนี้ของแซมสะท้อนมายาคติของสังคมต่อเด็กออทิสติกได้เป็นอย่างดี หลายคนเข้าใจว่าคนที่มีอาการออทิสติกจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย ตามโลกไม่ทัน และไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูดหรือทำ ทำให้พวกเขาต้อง กลายเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งไปซะอย่างงั้น
ที่จริงแล้ว สิ่งที่สังคมควรเข้าใจคือ คนที่มีอาการออทิสติกก็มีความรู้สึกเหมือนกับคนอื่นๆ เพียงแต่พวกเขาไม่สามารถเข้าใจอารมณ์จากสีหน้าท่าทางได้เท่านั้น และต้องอาศัยการพูดหรืออธิบายแทน ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือสื่อสารกับพวกเขาอย่างถูกวิธี และมองว่าเขาก็คือเพื่อนคนหนึ่ง ไม่ใช่มองพวกเขาเป็นสนามอารมณ์ที่จะกลั่นแกล้งหรือพูดอะไรแย่ๆ ใส่ยังไงก็ได้
“มีเพียง 9% ของผู้ใหญ่ที่มีอาการออทิสติกที่ได้แต่งงาน ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่อยากแต่ง แต่เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ลูกชายคุณก็อยากได้ความรักเหมือนพวกเราทุกคนนั่นแหละ”
ประโยคนี้คือสิ่งที่ ‘จูเลีย’ นักจิตวิทยาของแซมบอกกับพ่อแม่เขา เมื่อเห็นว่าแซมเริ่มสนใจเพศตรงข้าม และอยากมีแฟนเหมือนกับเด็กม.ปลายทั่วๆ ไป นั่นก็เพราะจูเลียมองว่าแซมสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนอื่น เขาเพียงแต่ต้องได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้เท่านั้น และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งใจความสำคัญที่ซีรีส์ต้องการสื่อให้คนดูเห็น ว่าคนที่มีอาการออทิสติกก็คือ ‘คนปกติ’ ที่ควรจะได้รับความรัก ได้เข้าใจ และได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหมือนกับทุกคน
Atypical ไม่ได้เล่าแค่เรื่องราวของแซม แต่ยังถ่ายทอดความหลากหลายในมิติอื่นๆ ออกมาได้อย่างกลมกล่อม ไม่ว่าจะเป็นความรักของเลสเบี้ยน การเรียกร้องความเท่าเทียมในโรงเรียน หรือความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่เรียนรู้ไปพร้อมลูก ทำให้เราได้เห็นมุมที่ทั้งอบอุ่น น่ารัก ฮา ดราม่า และซาบซึ้งปะปนกันไป เป็นซีรีส์ที่ทำให้เราอินไปกับตัวละคร และเข้าใจอาการออทิสติกอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกตอน
A Secret Love : เมื่อความรักต้องเป็นความลับ ในยุคที่การเป็นเลสเบี้ยนคือบาป
ลองจินตนาการดูว่าจะเจ็บปวดแค่ไหน ถ้าต้องเก็บซ่อนความรักไว้เป็นความลับ เพราะรู้ว่าถ้าถูกจับได้ขึ้นมา คุณและคนรักจะถูกเหยียดหยามและได้รับการปฎิบัติราวกับไม่ใช่คน
นั่นคือสิ่งที่ ‘แพท’ และ ‘เทอร์รี่’ คู่รักเลสเบี้ยนชาวแคนาดาต้องเผชิญมาหลายศตวรรษ เรื่องราวของพวกเธอถูกถ่ายทอดผ่านสารคดี ‘A Secret Love’ ของ Netflix ความรักของทั้งสองต้องถูกเก็บเป็นความลับนานหลายสิบปี จนกระทั่งพวกเธอตัดสินใจเปิดเผยความสัมพันธ์ที่แท้จริงต่อโลก ในวัย 80 ปีว่าพวกเธอไม่ใช่ ‘เพื่อน’ กันอย่างที่พวกเธอเฝ้าบอกทุกคนรวมทั้งครอบครัวตลอดมา
แพทและเทอร์รี่พบกันครั้งแรกในปี 1947 เทอร์รี่ในวัย 22 ปีตอนนั้นคือนักเบสบอลหญิงดาวรุ่ง เรียกได้ว่าเธอแหวกขนบทางเพศตั้งแต่ยังสาว เพราะเบสบอลถูกมองว่าเป็นกีฬาของผู้ชายเท่านั้น ส่วนแพทเล่าว่าตอนนั้นเธออายุ 18 ปี และเมื่อได้พบกับเทอร์รี่ เธอก็รู้ทันทีว่านี่แหละคือรักแท้
“ในยุค 40 เราต้องระวังตัวสุดๆ เพราะสองในสามของชาวอเมริกันมองคนรักร่วมเพศด้วยความรังเกียจ ความอึดอัดใจ หรือไม่ก็ความกลัว”
ช่วงเวลาที่ความรักระหว่างแพทและเทอร์รี่เบ่งบานงดงามที่สุด แต่พวกเธอกลับต้องเก็บมันไว้ให้เงียบที่สุด เพราะในยุคนั้น การรักเพศเดียวกันถือเป็นบาปมหันต์ ตำรวจบุกปิดบาร์เกย์และเลสเบี้ยนพร้อมจับกุมคนในบาร์เป็นเรื่องปกติ แม้แต่จดหมายรักที่แพทและเทอร์รี่ส่งถึงกัน ก็ต้องฉีกปลายกระดาษที่ลงชื่อออกทุกครั้งหลังอ่านจบ เพื่อไม่ให้คนที่มาเจอรู้ว่าใครเป็นคนส่ง
ถึงแม้สิ่งที่พวกเธอพบเจอจะฟังดูแสนเศร้า แต่สารคดีนี้ก็ไม่ได้ชวนหดหู่ซะทีเดียว มีหลายโมเมนต์ที่ชวนให้รู้สึกอบอุ่นหัวใจ รับรองว่าเรื่องราวความรักของแพทและเทอร์รี่ตั้งแต่ในวัยสาวจนถึงปัจจุบันจะพาให้คุณอมยิ้ม และเข้าใจอย่างแท้จริงว่า ความรักไม่มีการแบ่งแยกเพศ ‘รักก็คือรัก’
“ฉันไม่สนหรอกว่าเราจะไปที่ไหน ตราบใดที่เรายังอยู่ด้วยกัน เราก็มีความสุขที่สุดแล้ว”
ประโยคที่เรียบง่าย แต่เมื่อออกมาจากปากของคู่รักเลสเบี้ยนที่ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างหนักหน่วง มันก็กลายเป็นประโยคชวนน้ำตาซึม ความสัมพันธ์ของแพทและเทอร์รี่คืออีกหนึ่งเครื่องยืนยันที่หักล้างความคิดจากยุคเก่าที่ว่า “ความรักของเลสเบี้ยนไม่ใช่ของจริง เดี๋ยวเวลาผ่านไป พวกเธอก็จะกลับมาชอบผู้ชายเอง” ซึ่งเป็นแนวคิดที่กดทับกลุ่มหญิงรักหญิงมานาน ถ้ากลุ่มคนที่พูดประโยคนี้ได้ดูสารคดี A Secret Love แล้ว ก็คงจะได้เข้าใจว่า ไม่ว่าเพศไหนก็มีรักนิรันดร์ได้ และไม่ควรตีค่าความรักของใครว่าเป็นของปลอม
เทอร์รี่ได้เสียชีวิตลงในปี 2019 ด้วยวัย 93 ปี สิ้นสุดเวลาทั้งหมด 72 ปีที่พวกเธออยู่ด้วยกัน ส่วนแพทก็ใช้ชีวิตต่อไปอย่างสงบและยังคงรักเทอร์รี่ไม่เปลี่ยนแปลง
Milk : ฮาร์วี่ย์ มิลค์ ชายผู้เป็นทั้งเพื่อน ผู้นำ ความหวัง และศูนย์รวมจิตใจของชาวเกย์
27 พฤศจิกายน 1987 Harvey Milk (ฮาร์วีย์ มิลค์) ถูกลอบสังหารอย่างโหดเหี้ยม การตายของเขานำมาซึ่งความเศร้าโศกและความโกรธแค้น จนระเบิดเป็น ‘The White Night Riots’ หนึ่งในการประท้วงเรียกร้องสิทธิเกย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
ว่าแต่ ฮาร์วีย์ มิลค์ คือใคร? ภาพยนต์เรื่อง ‘Milk’ จะพาคุณไปรู้จักกับชายผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับเกย์ เขาคือนักการเมืองของสหรัฐอเมริกาคนแรกที่เผยตัวว่าเป็นเกย์ และเดินหน้าเรียกร้องสิทธิให้กับชาวเกย์อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสสังคมและการเมืองในยุค 70 ที่ยังคงต่อต้านรักร่วมเพศ
ชีวิตในวงการการเมืองของมิลค์เริ่มต้นในวัย 40 ปี ที่ซานฟรานซิสโก โดยมีแรงสนับสนุนจากคนรักและกลุ่มเพื่อนชาวเกย์จำนวนมาก จนในที่สุดก็รับการเลือกตั้งเข้าไปในสภาที่ปรึกษาแห่งซานฟรานซิสโก มิลค์ทุ่มทั้งกายและใจต่อสู้เพื่อสิทธิให้ชาวเกย์ เขาต่อต้านกฎหมายการไล่เกย์ออกจากชุมชน ช่วยเหลือเด็กที่โดนไล่ออกจากโรงเรียนเพราะเป็นเกย์ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่เขาทำไป จะทำให้เขาถูกฆ่าโดยคนเหยียดเพศเข้าสักวัน
“คุณควรจะเอาเงินภาษีมาปกป้องเรา ไม่ใช่เอามาควบคุมเรา คุณต้องไปห่วงเรื่องการควบคุมปืน ไม่ใช่ควบคุมกัญชา และห่วงเรื่องอุปกรณ์การสอนของนักเรียน ไม่ใช่ห่วงในสิ่งที่เราอ่าน”
คำปราศรัยของมิลค์ยืนยันว่าเงินภาษีที่ถูกเก็บไปต้องถูกใช้ปกป้องประชาชนทุกคน ไม่ใช่นำมาริดรอนสิทธิ์พวกเขา มิลค์โชว์ให้เห็นว่าเขาไม่ได้สู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศเท่านั้น แต่ยังสู้เพื่อชนชั้นแรงงาน คนยากจน และกลุ่มคนชายขอบอื่นๆ ด้วย เพราะความเท่าเทียมทางเพศจะเกิดได้ ก็ต้องมีความเท่าเทียมในมิติอื่นไปพร้อมๆ กัน
ภาพยนต์เรื่อง ‘Milk’ ถ่ายทอดจิตวิญญาณของมิลค์ออกมาได้อย่างดี แสดงให้เห็นตัวตนของมิลค์ทั้งอารมณ์ขัน คาริสม่า และความมุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงสังคม ที่สำคัญคือภาพยนต์เรื่องนี้ชวนให้เราเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ถึงแม้ว่าในวันนี้ความเท่าเทียมทางเพศจะดีขึ้นมากแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องหยุดก้าวต่อไป เพราะยังมีพื้นที่เหลือให้เราเติมเต็มความเท่าเทียมอยู่อีกมาก
Gangubai Kathiawadi (2022) หญิงโสเภณีผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีและหญิงขายบริการ
‘โสเภณี’ อาชีพสุจริตที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกเหยียดหยาม และตราหน้าว่าไร้ศักดิ์ศรี
ถ้าพูดถึงประเด็น Sex Worker หรือผู้ค้าบริการทางเพศแล้ว นาทีนี้ ใครๆ ก็ต้องนึกถึง ‘คังคุไบ’ หรือ ‘หญิงแกร่งแห่งมุมไบ’ หนังที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ ‘Gangubai Kathiawadi’ (คังคุไบ) หญิงนักต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้สตรีและหญิงขายบริการในอินเดีย โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่แต่งเติมจากหนังสือ ‘Mafia Queen of Mumbai’
คังคุไบ หรือในอดีตชื่อเดิมของเธอคือ ‘คงคา’ เป็นเด็กสาวไร้เดียงสาวัย 16 ปีที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง แต่กลับถูกแฟนหนุ่มหลอกมาขายให้กับซ่องในย่านกามธิปุระ ถึงแม้ช่วงแรกๆ จะใช้ชีวิตโสเภณีอย่างแสนเจ็บปวด แต่ความแกร่งของคังคุไบทำให้เธอไต่เต้าขึ้นมาเป็นเจ้าของซ่อง และได้ฉายา ‘ราชินีมาเฟียแห่งมุมไบ’ มาครอง
“คนที่มีความรู้จะขายสติปัญญา แต่เราขายร่างกายของเรา เราทำงานหนักมากด้วย แล้วมันผิดตรงไหน ทำไมคัดค้านการทำมาหากินของเรา ทำไมมองว่าผิดศีลธรรม”
คังคุไบตั้งคำถามกับสังคมอินเดีย ในวันที่โสเภณีถูกปฎิบัติอย่างต่ำต้อย ถูกกีดกันจากสังคม แม้แต่โรงเรียนก็ไม่ยอมรับลูกๆ ของพวกเธอเข้าเรียน เชื่อว่าใครที่ได้ยินประโยคนี้ก็ต้องฉุกคิดไปตามๆ กัน เพราะอะไรพวกเธอถึงไม่ได้รับความเท่าเทียม? พวกเธอก็ทำมาหากินสุจริตเหมือนอาชีพอื่นไม่ใช่เหรอ?
เห็นได้ชัดว่าบทบาทหลักของคังคุไบคือความยุติธรรม ถึงแม้จะเป็นถึงเจ้าของซ่อง แต่เธอก็เคารพสิทธิ์ของหญิงบริการทุกคนเสมอ ถ้าใครไม่เต็มใจทำหรือถูกหลอกมาขาย เธอจะไม่ให้ทำงานในสังกัดของเธอเด็ดขาด ส่วนใครที่เต็มใจ ก็จะได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม และได้รับการดูแลอย่างดี นอกจากนี้เธอยังเรียกร้องให้รัฐและสังคมปฎิบัติกับหญิงบริการอย่างเท่าเทียม เพราะพวกเธอก็มีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่ต่างจากคนอื่น
กระแสคังคุไบฟีเวอร์ทำให้หัวข้อ Sex Worker ในประเทศไทยถูกยกขึ้นมาถกอีกครั้ง หลายคนมองว่าอาชีพนี้สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวมหาศาล แต่กลับไม่ได้รับสวัสดิการหรือการคุ้มครองเหมือนอาชีพอื่นๆ ซึ่งถ้าหากนำกฎหมายเข้ามาคุ้มครองอาชีพนี้ได้ ก็จะสร้างความปลอดภัยให้ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ อีกทั้งช่วยป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์อีกด้วย
แสนสิริ Live Equally
เดือนมิถุนายน เดือนแห่งความเท่าเทียม หรือ ‘Pride Month’ ทำให้เราเห็นประเด็นความเท่าเทียมที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย แต่อันที่จริงแล้ว ‘ความเท่าเทียม’ คือสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักอยู่ทุกวินาที
แสนสิริเริ่มต้นจากภายในองค์กร เรามีสวัสดิการสำหรับพนักงานทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นการลาสมรส ลาผ่าตัดแปลงเพศ ลาฌาปนกิจคู่ชีวิต ลาเพื่อดูแลคู่ชีวิตและบุตรบุญธรรม และยังมอบสวัสดิการให้ครอบคลุมไปถึงคู่ชีวิตของพนักงานด้วย ทั้งวัคซีนทางเลือก และประกันสุขภาพ มั่นใจได้ว่าพนักงานทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ จะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไม่ต่างกัน
ทุกส่วนขององค์กรยังออกแบบด้วยแนวคิด Universal Design เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของพนักงานทุกกลุ่ม ใส่ใจกับทุกความหลากลาย เรามีทางลาดสำหรับวีลแชร์ มีห้องละหมาด มีห้องให้นมบุตร รวมทั้งมีห้องน้ำกลางของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างสบายใจและรู้สึกได้ว่าทุกคนในองค์กรนั้นเท่าเทียม
นอกจากนี้ แสนสิริยังได้ร่วมมือกับ 8 พันธมิตรธนาคารชั้นนำ เพื่อให้คู่รัก LGBTQI+ สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน และกู้ซื้อบ้านแสนสิริได้ เป็นการมุ่งสร้างความเท่าเทียมตามแนวคิด “YOU Are Made For Life เพราะคุณคือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของบ้าน” เราเชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิ์ในการซื้อที่อยู่อาศัย และสร้างครอบครัวกับคนที่รักอย่างเท่าเทียมกัน
แสนสิริขอเดินหน้าสนับสนุนความเท่าเทียม เพื่อให้เราทุกคนได้มีสังคมที่เสมอภาคกันอย่างแท้จริง
เครดิตภาพ : Netflix