False Nine แบบ "เมสซี่ เจ"
ขนาด 9 ครึ่ง !

เคยมีคนมาถามผมว่า “ลีกดิวิชั่นหนึ่ง” กับ “พรีเมียร์ลีก” มันต่างกันอย่างไร ในเมื่อมันก็คือฟุตบอลอังกฤษเหมือนกัน เตะก็จำนวนแมทช์พอๆ กัน แค่เปลี่ยนชื่อหรือเปล่า ?

ถ้าตอบใครคนนั้นแบบผ่านๆ ก็คงบอกว่า “ได้ค่าลิขสิทธิ์ทีวีถ่ายทอดสดมากขึ้นมากๆ” จบ ทว่าในความเป็นจริง พรีเมียร์ฯ ไม่เหมือนอะไรเลยกับฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่งที่มีมานานเป็นร้อยปี นอกจากเงินมหาศาลที่แบ่งกันเอาไปซื้อนักเตะต่างชาติแล้ว ยังมีเรื่องเทคนิค แทคติค การทำทีม รวมไปถึงสปีดเกม รูปแบบการเล่นที่ผิดไปจากเดิมมาก

แล้วทำให้รูปแบบบางอย่าง ที่เคยเบ่งบาน รุ่งเรือง ในฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่งเก่าๆ “ตายลง” และ “สูญพันธุ์” เช่น กองหลังโบราณที่เอาแต่เตะสาดโด่งทิ้ง กองหน้ายุคพระเจ้าเหาที่หมกมุ่นแต่จะโดดเทคตัวชน เพื่อโหม่งจบสกอร์ (ลองนึกภาพของ ปีเตอร์ วิธ จอห์น ฟาชานู แอนดี้ คาร์โรลล์ หรือ ดันแคน เฟอร์กูสัน)

ยังมีอีกนะครับที่ตายสูญพันธุ์ไป ผู้จัดการทีมที่ทำทีมเน้นสาดโด่งไปหน้าประตู เพื่อให้กองหน้าร่างยักษ์ชน ทำประตูอย่าง โทนี พูลลิส (จนสื่อกัดว่า พูลิส สไตล์) ก็ไม่มีใครนิยม เพราะมันเหมือนไดโนเสาร์หาอาหารกิน ทั้งๆ  ที่เป็นยุค grab กันแล้ว

ใช่เพียงกองหลังต้องปรับตัว มิดฟิล์ด ต้องปรับตัว หรือปีก แบ็ค โกล์ต้องปรับตัว เท่านั้น นักเตะตำแหน่งหนึ่งที่ต้อง “ปรับตัวมาก” ก็คือ กองหน้า

นักเตะไทยที่ปรับตัวได้เร็วสุดในตำแหน่งนี้ ก็คือ เมสซี่ เจ ชนาธิป สรงกระสินธ์

กลยุทธิ์แบบเก่า มันเอ้าท์ไปแล้ว

ภาพจาก Springnews

ก่อนจะไปถึงเรื่องสำคัญว่าปรับตัวกับเทรนด์อย่างไร ต้องเท้าความนิดหนึ่งว่า ก่อนหน้ายุค เจ ไม่นานมาก หมายถึงก่อน เจ ติดทีมชาติ กองหน้าหลายคนที่เก่งและไม่เก่งในบ้านเรา ยังมีสไตล์แบบเก่า คือ มิดฟิล์ดเป็นมิดฟิล์ด กองหลังเป็นกองหลัง และกองหน้าก็มีบทบาทแค่กองหน้า

แต่ในช่วง 10 ปีบวกลบมานี้ ฟุตบอลยุคใหม่ในต่างประเทศ เรียกร้อง บทบาทที่มากขึ้นของนักฟุตบอล แล้วบางคนที่ปรับตัวไม่ได้ ก็ต้องไปเล่นทีมระดับล่างๆ หรือสโมสรที่ไม่โด่งดังในบ้านเกิด …สำหรับตำแหน่งกองหน้า ฟุตบอลยุคใหม่ ต้องการคนที่ทำอะไรมากกว่า “จบสกอร์” หรือ “ยิงประตู” ต้องการกองหน้าที่ช่วยกองกลาง วิ่งไล่บอล… ต้องการกองหน้าที่ขยับไปเป็นปีกในบางช่วงของเกม… ต้องการการเป็นศูนย์หน้าที่เลี้ยงทะลุ จ่ายบอล เป็นสุดยอดแอสซิสต์ (คำว่า assist มาจากระบบทำสถิติฟุตบอลของ Opta ถูกใช้เป็นทางการในปี 1996 และระบบ Opta คนที่มีส่วนในการคิดค้น เซ็ทขึ้นมา มาจากอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซน่อล ชื่อ ดอน ฮาว)

กองหน้าในฟุตบอลยุคใหม่นั้น โดยหลักๆ มีอยู่ 3 แบบ (อ้างอิงจากงานเขียนของ โจนาธาน วิลสัน) แต่ไม่ว่าจะเป็น “แบบไหน” ก็ตาม ทุกแบบต้องวิ่งไล่บอล ขยัน ไม่อยู่นิ่ง แม้ว่าตัวเองจะถูกวางให้มาเป็น หอกเป้า ต้องทำประตูก็ตาม

เมสซี่ เจ ลบความเชื่อหลายอย่าง เกี่ยวกับนักฟุตบอล

ภาพจาก GQ Thailand

เรายังเห็นคนมากมายเชื่อจนเป็นมายาคติว่า คนตัวเล็ก เตี้ย เป็นนักบอลที่เก่งได้ยาก ความเชื่อนี้ ปล่อยให้ เมสซี่ พอล สโคลส์ เกิร์ด มุลเลอร์ อิเนียสต้า ซิลบา เตเวซ นาสรีย์ กิ๊กส์ ฟราเบกาส โซล่า บลา บลา บลา …เถียงแทนไปน่าจะชนะ

สิ่งที่ เจ ทำได้ดีมากสำหรับผมคือ การพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ถ้าดู เจ เล่นตอนอยู่บีอีซี เทโร กับ เมืองทอง วิธีวิ่งก็ไม่เหมือนกัน… หรือดูเจ เลือกช็อตเล่นในสนาม ตอนอยู่เมืองทองกับทีมคอนซะฯ ก็แตกต่างกัน

โอเคล่ะ เจ อาจจะไม่ใช่กองหน้าที่ทำประตูได้มาก แต่เขาแอสซิสต์อยู่เรื่อยๆ ที่สำคัญเขาทำให้รูปแบบหนึ่งในการเป็นศูนย์หน้าแบบใหม่ กองหน้ายุค modern football เป็นที่รู้จักในลีกบ้านเรา ก็คือ การเล่นในสไตล์ ฟอลส์ ไนน์ หรือ false nine

แปลแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ กองหน้าแบบ 9 ครึ่ง ! (ห้ามคิดไปในทางลามกเด็ดขาด)

9 ครึ่งคืออะไร ? แน่นอนไม่ใช่ 9 นิ้วครึ่ง … ปรกติโดยธรรมเนียมฟุตบอลมาเนิ่นนาน ศูนย์หน้าหรือกองหน้าทำประตูจะใส่เบอร์ 9 ส่วนหน้าต่ำ ช่วยไล่บอล วิ่งหลอกจะใส่เบอร์ 10 (แม้ว่าเบอร์ 10 ในเวลาต่อมา ก็จะถอยร่นลงมาเป็น เพลย์เมคเกอร์ แบบพลาตินี่ ซิโก้ มาราโดน่า ก็ตาม)

แต่ เจ เป็นกองหน้าในแบบสไตล์ที่คล้ายกับ เมสซี่ บาร์เซโลน่า นั่นคือ ไม่ปล่อยให้ตำแหน่ง มาจำกัด จองจำการเล่นที่หลากหลาย เจ ลงมาเชื่อมเกม… เล่นเป็นตัวริมเส้น (ไม่ใช่ปีก) …บางทีเล่นเป็นมิดฟิล์ดตัวรุก จ่ายบอลแทงทะลุคมกริบให้เพื่อน… ทั้งยังไล่บอลในแดนกลาง ลดภาระให้มิดฟิล์ดไปอีกทาง

ไม่ใช่โค้ชหลายชอบแบบนี้ แต่ต้องบอกว่า ผู้จัดการทีมทุกคนในโลก ชอบกองหน้าแบบนี้ เพราะโลกของการเล่นบอลเปลี่ยนไปแล้ว ฟุตบอลคือเรื่องของการเพรสซิ่ง… ฟุตบอลคือการครองบอล… จะติกิ ตาก้า หรือไดเรคท์ฟุตบอลแบบ เฟอร์กี้มาถึงคลอปป์ ชัดเจนว่า นักบอลต้องขยันเพิ่ม จากตำแหน่งตัวเอง แบ็คก็ต้องเล่นกลางรับได้… เป็นปีกได้ กองหลังต้องเก็บบอลได้ ไม่ใช่ลงมาเตะโด่งอย่างเดียว มิดฟิล์ดต้องยิงประตูเป็น ทำเกมได้ จ่ายบอลทะลุช่อง สารพัดหน้าที่ ไม่ใช่เป็นกองกลางแบบเก่า

ในบรรดานักเตะกองหน้าไทยยุคนี้ เจ เป็น false nine ที่ชัดที่สุด

ภาพจาก Springnews

เป็นทั้งตัวไล่บอล จบสกอร์ เป็นแอสซิสต์ และเล่นริมเส้นได้ในบทบาทกองกลาง เขาจึงไม่ใช่หอกทำประตูมากมาย เพราะสละตัวไปสร้างเกม เชื่อมเกม รูปแบบการเล่นคล้ายๆ เตเวซ ตอนอยู่แมนยู คล้าย เมสซี่ ที่ทำบทบาทนี้ให้กับบาร์เซโลน่า หรือคล้ายซิลบายุคแรก ที่เล่นให้สเปนกับแมนซิฯ

แล้วทำไมต้องเรียกว่า 9 ครึ่ง ?

9 ครึ่งคือ จะ 10 ก็ไม่ 10 (หน้าต่ำ ตัวจ่ายบอล ไล่บอล) และจะ 9 ก็ไม่ 9 ชัดๆ (คือเป็นหอกเป้า นิ่งๆ) 9 ครึ่ง คือ สารพัดประโยชน์หลากหลาย ผสมผสาน ทำหมดทุกหน้าที่ …แต่ 9 ครึ่งนี่แหละ ที่ในอนาคต จะทำให้ 10 แท้ๆ หรือ 9 แท้ๆ สูญพันธุ์

“นักบอลยุคใหม่ ใครเล่นได้ตำแหน่งเดียว จะตกงาน…” มูรินโญ่ บอกไว้ในนิตยสาร Champions นานมาแล้ว

สรุป ! 9 ครึ่งคือ ฟอลส์ ไนน์ !

ไม่ใช่ 9 นิ้วครึ่ง แต่อย่างใด… 

Related Articles

Paralympic

Paralympic 2024 การก้าวข้ามขีดจำกัดของคนพิการสู่การแข่งขันกีฬาระดับโลก

ทุกคนรู้หรือไม่ว่าคนพิการก็เล่นกีฬาได้นะ หลายปีที่ผ่านมาได้มีการจัดแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้จัดที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศส วันนี้ Sansiri blog จะมาเล่าถึงการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก สัญลักษณ์พาราลิมปิก ต้นกำเนิดของพาราลิมปิก กีฬาที่ผู้พิการเล่นได้ การออกแบบหมู่บ้านนักกีฬาและการปรับสถานที่ต่างๆ ในกรุงปารีสให้ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของนักกีฬาพาราลิมปิกให้ฟังกันค่ะ ทุกคนคงเคยได้ยินการแข่งกีฬาพาราลิมปิกผ่านหูกันบ้างใช่ไหมละคะ และรู้ไหมว่ากีฬาพาราลิมปิกเกมส์คืออะไร? พาราลิมปิกคือการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการโดยส่วนมากจะเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางสติปัญญา โดยองค์กรที่จัดแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกมีชื่อว่าพาราลิมปิกสากล (IPC) ในปัจจุบันพาราลิมปิกสากลจะจัดภายหลังจากการแข่งขันโอลิมปิกจบลง

7 เรื่องฟุตบอลที่ใครอาจไม่รู้!

โจนาธาน วิลสัน นักข่าว คนเขียนบทความของ The Guardian พูดเหมือน “หมาเฝ้าบ้าน” ที่มีคนตาม follow ล้านกว่า อย่าง Henry Winter ที่ไปออกความเห็นใน GQ ว่า “ฟุตบอล” คือตลาดที่ใหญ่ที่สุด กว้างกว่า

LGBTI Sport Feature - Sansiri Blog

LGBTI ในวงการกีฬา

เรื่องที่ผมจะเขียนถึงวันนี้อาจจะดูเป็นหัวข้อที่ละเอียดอ่อนและ “ต้องห้าม” สำหรับสังคมบางกลุ่ม แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับวงการกีฬาที่เราต้องเปิดรับเรื่องแบบนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาโดยไม่มีข้อแม้ คงไม่มีใครเถียงว่า ฟุตบอล ยังถูกมองว่าเป็นกีฬาของเพศชายเสียส่วนมาก แม้ฟุตบอลหญิงจะเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ยังต้องถือว่าไม่ค่อยแพร่หลายและยังไม่ขึ้นมาเทียบเท่าวงการฟุตบอลชายได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการยอมรับ ค่าตอบแทน ค่าตัว เงินรางวัล ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีความเท่าเทียมกันทั้งสิ้น และห่างกันค่อนข้างมากเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าผมเอ่ยชื่อ Megan Rapione