มีใครเคยมีอาการเหล่านี้ไหม? อยู่ๆ ก็รู้สึกหัวใจเต้นแรงมากเหมือนจะหลุดออกมาอยู่ข้างนอก หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เวียนหัว มือเย็น ฯลฯ บางคนเป็นมากถึงขนาดรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะสิ้นลมหายใจ แม้ว่าจะอยู่ในที่ที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองเลยก็ตาม สำหรับบางคนอาจจะไม่ใช่แค่ความกลัว หรือเป็นโรคเจ็บป่วยทางร่างกายแต่เป็นสัญญาณของ “โรคแพนิก” โรคทางใจที่แสดงออกมาทางร่างกายนั่นเองค่ะ
“โรคแพนิก” หรือ Panic Disorder เป็นโรคทางใจที่เกี่ยวกับการตื่นตระหนกและวิตกกังวล เป็นโรคที่หลายคนไม่เข้าใจและอาจจะมองว่าเป็นแค่ความกลัวหรือคิดไปเอง คนที่เป็นโรคนี้มักจะถูกมองว่าอ่อนแอ ไม่มองโลกในแง่บวก ทั้งที่ในความเป็นจริง โรคนี้ถูกวินิจฉัยทางการแพทย์แล้วว่า เป็นโรคทางใจชนิดหนึ่งไม่ใช่แค่ความกลัวหรือคิดไปเองอย่างที่หลายคนเข้าใจ และเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาเพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
จากผลการสำรวจของระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566 (ข้อมูลล่าสุด) พบว่าคนไทยประมาณ 1.3 ล้านคน เคยประสบกับโลกวิตกกังวลครั้งหนึ่งในชีวิต และมีประมาณ 4.5 แสนคนที่เป็นโรคแพนิก คนที่เป็นส่วนใหญ่มักเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และข้อมูลที่น่าตกใจไม่น้อย คือ คนที่เป็นโรคแพนิกส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น อายุตั้งแต่18 – 24 ปี นอกจากนี้เราเชื่อว่ามีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับโรคแพนิก และไม่ได้เข้ารับการรักษา ด้วยอาจเพราะปัจจุบันผู้คนประสบความเครียดมากขึ้น และมีผู้คนจำนวนมากพี่ไม่แน่ใจว่าเราเป็นโรคแพนิกหรือเปล่า วันนี้ Mental Life by Chanisara จะพาทุกคนมาเจาะลึก 5 สิ่งที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับ“แพนิก”โรคที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามกันค่ะ
MYTHS : “โรคแพนิก” เป็นแค่ “ความกลัว”หรือ “คิดไปเอง”
FACTS : โรคแพนิก ไม่ใช่แค่ความกลัวหรือคิดไปเอง แต่เป็นโรคทางจิตใจ เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ทำให้มีอาการตื่นตระหนกและวิตกกังวลอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้พบเจอกับเหตุการณ์อันตราย
หลายคนยังคิดว่า โรคแพนิก เป็นแค่ความกลัวหรือคิดไปเอง อาจจะเป็นเรื่องยากที่หลายคนจะเข้าใจอาจเป็นเพราะ เป็นโรคทางจิตใจ ที่มองภายนอกดูปกติ เพราะมักจะตรวจไม่เจอความผิดปกติทางกาย โดยไม่รู้ว่าอวัยวะภายในอย่างสมองก็เจ็บป่วยได้เหมือนกัน
หากถามว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
โรคแพนิกเกิดขึ้นจากสารสื่อประสาทในสมองที่มีชื่อว่าอะมิกดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นสมองที่ควบคุมอารมณ์และความกลัวของคนเราทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลของ สารสื่อประสาทในสมอง สมองจึงมองสถานการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องน่ากลัวขึ้นมา สมองจึงสั่งให้ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานเกินความจำเป็น ซึ่งทำให้เกิดอาการแพนิก เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ เหงื่อออก มือสั่น ความดันเลือดสูง ฯลฯ อาการเหล่านี้จะแสดงออกมาเมื่อเราเจออันตรายจริง เหมือนเวลาเราเจอเสือ สมองก็จะสั่งให้เกิดอาการกลัว เพื่อให้เราหนีภัยอันตราย
แต่สำหรับคนที่เป็นโรคแพนิก อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่อันตราย ไม่มีสาเหตุ หรือบางทีมีสถานการณ์บางอย่างที่เรากลัว แต่สมองกลัวเกินกว่าเหตุ จึงทำให้เกิดโรคแพนิก บางคนถึงขั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
โดยมีงานวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยโรคแพนิกและโรคกลัวสังคมของคุณ Cox, Direnfeld, Swinson & Norton ในปี 1994 ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงวารสาร American Journal of Psychiatry (Am J Psychiatry) ซึ่งผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า คนที่ป่วยด้วยโรคแพนิกมีความเสี่ยงสูงที่จะจบชีวิตตัวเองลงมากกว่าคนปกติ
ทุกคนรู้หรือไม่ว่า คนที่เป็นโรคแพนิกในบางคนอาจเป็นโรคซึมเศร้าร่วมด้วยก็เป็นได้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าโรคแพนิก ไม่ใช่โรคที่คิดไปเอง หรือพยายามคิดบวกแล้วจะหายเองอย่างที่หลายคนเข้าใจนั่นเองค่ะ
MYTHS : “โรคแพนิก” ไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะเราสามารถอยู่กับมันไปตลอดชีวิต
FACTS : คนที่เป็นโรคแพนิกจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดผลกระทบทางจิตใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น โรคซึมเศร้า ปัญหาชีวิตคู่ ฯลฯ
หลายคนอาจจะคิดว่าโรคแพนิก เป็นแค่ความกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ เราสามารถอยู่กับโรคแพนิกไปได้ตลอดชีวิต แต่แท้จริงแล้วโรคแพนิก เป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะมันทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจ ทุกข์ทรมานทางใจและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คู่ชีวิต แฟน เพื่อน ฯลฯ หากปล่อยไว้นาน อาจจะเป็นมากขึ้นซึ่งทำให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมานั่นเองค่ะ
ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การไปพบจิตแพทย์ยังเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับใครหลายๆคน ถึงแม้ว่าปัจจุบันคนไทยจะไปพบจิตแพทย์มากขึ้นแล้วก็ตาม รวมถึงหลายคนก็ยังคิดว่า อาการแพนิกเป็นเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบและจะหายเองได้ คนที่มีอาการนี้จึงไม่ไปพบจิตแพทย์ แต่โรคแพนิกเป็นโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อที่เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติได้อย่างมีความสุขค่ะ
MYTHS : “โรคแพนิก” ไม่สามารถเกิดได้ในขณะหลับ
FACTS : โรคแพนิกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่หลับหรือขับรถ อาจจะมีความเครียดและความกลัวเป็นสิ่งกระตุ้นหรือไม่มีอะไรเป็นตัวกระตุ้นเลยก็ได้
ทุกคนรู้หรือไม่คะว่าโรคแพนิกไม่ได้เป็นได้เฉพาะตอนที่ตื่นนอนเท่านั้น แต่ตอนที่หลับโรคแพนิกก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เรียกได้ว่า โรคแพนิก เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
อาการแพนิกตอนกลางคืน เรียกว่า night panic attack คนที่เป็นส่วนมากจะสะดุ้งตื่นตอนกลางดึกด้วยอาการตื่นตระหนกและหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เหมือนอาการแพนิกที่เกิดขึ้นในตอนกลางวันแต่จะมีความแตกต่างกันคือเรื่อง การหายใจอาจจะรุนแรงกว่า เช่น รู้สึกว่าหายใจลำบาก หัวใจเต้นแรงหรือ ใจสั่น รู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต อาการจะรุนแรงไม่ถึง 10 นาทีและจะเบาบางลง และใช้เวลาสักพักกว่าจะหลับได้อีกครั้ง
อาการแพนิกตอนกลางคืนอาจจะเกิดจาก เครียดสะสมจากตอนกลางวัน หยุดหายใจในขณะหลับ หรือกินเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเข้าไป เช่น กาแฟหรือชา ฯลฯ รวมถึงในเวลาขับรถอาการแพนิกก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันนะคะ หากเกิดอาการอาจจะขับรถต่อไม่ได้ ให้ค่อยๆ ตั้งสติ หายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อให้อาการดีขึ้นค่ะ อาการแพนิกเกิดขึ้นทั้งการนอน การขับรถ หรือในสถานการณ์อื่นๆ อาจไม่มีสาเหตุเลยก็ได้ค่ะ
MYTHS : โรคแพนิกเป็นโรคทางจิตใจของแต่ละคน ไม่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
FACTS : ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ถ้าหากคนในครอบครัวมีอาการแพนิก ก่อนอายุ 20 ปี ญาติสายตรงจะมีความเสี่ยงถึง 17 เท่า
ทุกคนรู้หรือไม่ว่าโรคแพนิก ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ จากงานวิจัยที่มีชื่อว่า The Genetic Basis of Panic Disorder ได้ถูกตีพิมพ์ลง Journal of Korean Medical Science โรคแพนิกเป็นโรควิตกกังวลเรื้อรังส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ และโรคแพนิกมีความเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางพันธุกรรมและการมีพันธุกรรมที่ซับซ้อน
ซึ่งถ้าหากคนในครอบครัวมีอาการแพนิกก่อนอายุ 20 ปี ลูกจะมีความเสี่ยงถึง 17 เท่า ในการเป็นโรคแพนิก แต่ถ้าเริ่มเกิดอาการแพนิก หลังอายุ 20 ปี ลูกจะมีความเสี่ยง 16 เท่าที่จะเป็นโรคแพนิก รวมถึงครอบครัวที่มีลูกฝาแฝดโรคแพนิกจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ในระดับปานกลาง ประมาณ 30% – 40% ซึ่งยีนมีส่วนสำคัญในการเกิดโรคแพนิก
ทั้งนี้พันธุกรรมไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่จะทำให้เกิดโรคแพนิกยังมีสภาพแวดล้อมรอบข้างพฤติกรรมและการตีความผิดของร่างกายก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดโรคแพนิกได้ค่ะ
MYTHS : การได้ยิน การได้กลิ่น ได้อยู่ในสถานที่เดิมไม่ใช่สิ่งกระตุ้น ที่ทำให้เกิดอาการแพนิก
FACTS : สมองจะจำสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพนิกได้ เมื่อได้ยิน ได้กลิ่น หรือเข้าไปอยู่ในสถานที่เดิมสมองจะจดจำว่าสิ่งนี้เป็นอันตราย ทำให้เกิดอาการแพนิกซ้ำได้
การได้ยิน การได้กลิ่น ได้อยู่ในสถานที่เดิมที่ทำให้เกิดอาการแพนิก สามารถทำให้เกิดแพนิกซ้ำได้จริง กลิ่นกระตุ้นประสาทสัมผัสและอารมณ์ เช่น ทหารผ่านศึกที่เป็นโรค PTSD ได้กินน้ำมันดีเซล แล้วอาการแพนิกกำเริบ
เสียงบางเสียงที่คนที่เป็นโรคแพนิก ได้ยิน แล้วเกิดอาการตื่นตระหนก เพราะสมองจะเชื่อมโยงว่า เสียงนี้เป็นอันตรายทั้งที่ไม่มีอันตรายอะไรเลยก็ตาม หรือแม้แต่สถานที่ที่เคยไปแล้วเกิดโรคแพนิกก็สามารถทำให้เกิดโรคแพนิกได้เช่นกัน เนื่องจากสมองจะจดจำความกลัวในอดีต และตีความว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อเรา ซึ่งสมองตีความผิดทำให้แพนิกกำเริบนะคะ
“โรคแพนิก” เป็นโรคที่เกี่ยวกับจิตใจ ไม่ใช่แค่ความอ่อนแอหรือความกลัวภายในจิตใจอย่างที่หลายคนคิดและต้องรีบรักษาให้กลับมาใช้ชีวิตปกติยังมีความสุขนะคะ
Source
thainakarin, nimh.nih.gov, ram-hosp.co.th, pubmed.ncbi.nlm.nih.gov, psychiatryinvestigation.org, Tiktok : ช่องพี่กลางหอสมุดแห่งชาติ
who.int, nimh.nih.gov, Mayo Clinic.org, Mayo Clinic.org, my.clevelandclinic.org
pmc.ncbi.nlm.nih.gov, magazine.hms.harvard.edu