“Pride month”
ประตูเปิดรับสู่ความเท่าเทียม

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าเดือนมิถุนายนถือเป็นเดือน “Pride month” ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคน LGBTQIA+ ทั่วโลก วันนี้ Sansiri blog จะพาทุกคนย้อนถึงจุดเริ่มต้นของ “Pride month” ในประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่มีความสำคัญในอดีตถึงปัจจุบันในการออกมาแสดงออกเรียกร้องสิทธิ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศกันค่ะ 

“Pride month” ประตูเปิดรับสู่ความเท่าเทียม

ไม่ได้มีข้อมูลอย่างชัดเจนว่างาน “Pride” ในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหนแต่ย้อนกลับไป เมื่อปี ค.ศ. 1999 ได้มีการจัดกิจกรรมการแสดงออกของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยครั้งแรก ภายใต้ชื่องาน “Bangkok Gay Festival 1999” โดยมีการเดินขบวนพาเหรด เพื่อรณรงค์ต่อต้านผู้ป่วยโรค HIV หรือเอดส์ที่อยู่ในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเพื่อการแสดงออกให้เห็นว่ากลุ่มคน LGBTQIA+ ก็สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นกัน

ในยุคนั้นคนในสังคมไทยยังไม่เปิดใจยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ถูกตีตราและถูกเลือกปฏิบัติจากคนในสังคม รวมถึงกรมสุขภาพจิตได้จัดให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็น “โรคทางจิตใจ” ซึ่งถูกระบุว่าเป็นโรครักษาได้ยากกว่าโรคที่เจ็บป่วยทางด้านร่างกาย แต่ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการบำบัด ต่อมาเมื่อคนในสังคมเปิดกว้างทำความเข้าใจและวิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น กรมสุขภาพจิตจึงถอดกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกจาก “โรคทางจิตใจ” เมื่อปี ค.ศ. 2002 นั่นเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มค่อยๆ เข้าใจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1999 หลังจากที่มีการจัดงาน Pride ครั้งแรกของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในปีต่อ ๆ มา ก็มีการจัดงาน Pride มาเรื่อยๆ แต่อาจจะใช้ชื่องานที่แตกต่างกันออกไป โดยในปี ค.ศ. 2000 – 2001 จัดภายใต้ชื่องาน“Bangkok Gay Festival” และในปี ค.ศ. 2001 ได้เริ่มมีการแสดงออกและเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หลังจากก่อนหน้านี้ งาน Pride จะเป็นงานที่เกี่ยวกับการรณรงค์โรค HIV ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเพียงอย่างเดียว 

 ในปีถัดมา ค.ศ. 2002 งาน Pride ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “Bangkok Pride” และถูกจัดต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 2006 ก่อนที่จะเงียบหายไป  ในปี ค.ศ. 2016 งาน  Pride  ได้ถูกกลับมาจัดใหม่อีกครั้งภายใต้ชื่องาน “ Bangkok Gay festival” เพื่อเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในปีถัดมาได้มีการจัดงานนี้อีกครั้งแต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร 

จนกระทั่ง 2-3 ปี ที่ผ่านมาคนในสังคมไทยพูดถึงประเด็นความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น รวมถึงได้มีการกลับมาเรียกร้องสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ได้รับความสนใจในสังคมวงกว้าง รวมถึงอาจเป็นเพราะสังคมไทยเปิดกว้าง เปิดใจและเข้าใจผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น โดยเห็นได้ชัดจากสื่อจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น รายการ ละคร หรือซีรีส์ Y และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีนอีกด้วย

ในปี ค.ศ. 2022 งาน pride กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหลังมีการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ภายใต้ชื่อ “Bangkok Naruemit Pride 2022” โดยงานนี้มีการเดินขบวนพาเหรด และมีการจัดงานให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมไทยเข้าใจถึงสิทธิที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสมควรจะได้รับและเห็นถึงความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมทำให้มีคนจำนวนมากต้องการให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าถึงกฎหมายสมรสและได้รับสิทธิและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง 

ในปัจจุบันแนวโน้มในบ้านเรามีมุมมองต่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศดีขึ้น คนในสังคมส่วนมากให้การยอมรับและมองว่ากลุ่มคน LGBTQIA+ ควรจะได้รับการรับรองให้สมรสเท่าเทียมอย่างถูกต้องตามกฎหมายและอยากได้รับสิทธิ์ในการรับรองบุตรบุญธรรมตามกฎหมายมากขึ้น รวมถึงมองว่ากลุ่มคน LGBTQIA+ ควรได้รับสิทธิ์ ในการแต่งกายตามเพศภาวะของตนเอง เช่น ชุดนักศึกษา ชุดทำงาน ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้จากการสำรวจความคิดเห็น ในงานวิจัยโครงสร้างสังคม DEE คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายการประตูบานแรกสังคมไทย เข้าใจความหลากหลาย Publicforum “Pride month” ทางช่อง YouTube ThaiTBS 

ในสังคมบ้านเราเข้าใจและยอมรับกลุ่มคน LGBTQIA+ มากขึ้นก็จริงแต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนในสังคมยังไม่ได้เข้าใจทั้งหมด และมีบางเรื่องที่ยังไม่เข้าใจ เช่น ในเรื่องการเข้าใจถึงอัตลักษณ์ทางเพศมากขึ้นว่าไม่ใช่มีแค่ผู้หญิงข้ามเพศผู้ชายข้ามเพศ หรือเกย์ แต่มีความหลากหลายมากกว่านั้น เช่น bisexual non-binary Transgender intersex ฯลฯ

ในปีนี้กระแส “Pride month” กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง โดยมีการจัดงาน pride มากกว่า 20 จังหวัด ทั่วประเทศไทยตลอดทั้งเดือนมิถุนายน ปีนี้เริ่มต้นงานแรกที่จังหวัดเชียงใหม่กับงาน “Chiang Mai Colourful Pride Month 2024” ที่ประตูท่าแพร มีการจัดกิจกรรมเดินขบวนพาเหรด นิทรรศการศิลปะ การแสดงคอนเสิร์ต การเต้น Cover dance นอกจากนี้ยังมีการจัดงานสถานที่อื่นๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น แยกรินคำ สะพานขัวเหล็ก ฯลฯ อีกหนึ่งงานที่สำคัญที่เหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและคนที่ให้ความสนใจงาน pride รอคอยคงหนีไม่พ้นงาน “Bangkok Pride Festival 2024” ที่จัดภายใต้ธีม “Celebration of Love” เพื่อจะเฉลิมฉลองกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กฎหมายภายในปีนี้

ไฮไลท์ภายในงานมีขบวนพาเหรดที่ยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร และมีธงไพรด์สีรุ้งที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยมีความยาวประมาณ 200 เมตร ซึ่งในขบวนพาเหรดจะประกอบไปด้วย 5 ขบวนหลัก กับ 5 นิยามที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้นำเสนอนิยามความรักในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นขบวน สมรสเท่าเทียม (Love Wins)  ขบวน ตัวตน (Love for Identity)  ขบวนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  (Love for Dignity) ขบวนสันติภาพ (Love for Peace & Earth) ขบวน เสรีภาพ (Love for Freedom) นั่นเอง  

นอกจากนี้ในกรุงเทพมหานคร ยังมีงาน Pride อีกหลายแห่ง เช่น “Bangkok Pride Forum” งานเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภายใต้ธีมงาน “Together, We Thrive” หรือ “การหลอมรวมกัน เพื่อการเติบโต” และภายในงานยังมีขบวนพาเหรดและอื่นๆ อีกมากมาย และอีกหนึ่งงาน Pride ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคืองาน “DRAG BANGKOK Festival 2024” ที่จัดครั้งแรกในประเทศไทย โดยเหล่าศิลปินแดร็ก จากทั่วโลกมากกว่า 500 ชีวิต มาไว้ที่นี่ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ฯลฯ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่ยิ่งใหญ่และมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเลยทีเดียว 

งาน Pride month ในประเทศไทยคาดว่าปีนี้จะมีผู้คนตบเท้าเข้าร่วมงานทั้งหมดประมาณ 860,000 คน และยังถือว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของบ้านเรา รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมอยากเป็นเจ้าภาพ Bangkok World Pride ในปี 2030 อีกด้วย

“Pride month” ถือเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเห็นได้ชัดว่าปัจจุบันคนในสังคมไทยมีความเข้าใจในกลุ่มคนนี้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมองเห็นถึงความเท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น และหวังว่าในอนาคต คนทุกคนจะได้ยิ้มรับความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง อย่างที่หลายคนรอคอย 


Source 

https://www.youtube.com/watch?v=d9B0PW4tsgk 

https://themodernist.in.th/relive-the-history-of-bangkok-pride-in-thailand/ 

https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/elaw_parcy/ewt_dl_link.php?nid=2649 

https://thainews.prd.go.th/thainews/news/view/310266/?bid=1 

https://www.thansettakij.com/lifestyle/travel-shopping/597595 

https://www.thansettakij.com/business/tourism/597140

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2790057  

https://www.thansettakij.com/lifestyle/travel-shopping/597595

Related Articles

เมื่อรัก คือ รักบนความเท่าเทียม ชีส & รถเมล์

หากลองคิดดูจากผู้คนนับล้านคนจะมีสักกี่คนที่เกิดวัน เดือน ปี เดียวกัน แล้วได้โคจรมาเจอกัน มากกว่านั้นคือได้กลายเป็น “คู่รัก” กัน เช่นเดียวกับคู่ของ “ชีส” – ณัฐฐิยา สงวนศักดิ์ และ “รถเมล์” – ชัญญานุช มะลิมาตร ที่ร่วมกันถักทอเรื่องราวความรักต่างๆ ร่วมกันมาจนจะเข้าปีที่

เมื่อรัก…คือ การให้ความสำคัญ กับคนที่อยู่เคียงข้าง ลูกไม้ & มาย

แสนสิริ ขอชวนทุกคนมาร่วมกันนับถอยหลังสู่วันที่ประเทศไทยจะมี “สมรสเท่าเทียม” อย่างเป็นทางการ โดยคู่รักทุกคู่จะสามารถจดทะเบียนเป็น “คู่สมรส” และได้รับสิทธิตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมพร้อมกันในวันที่ 22 มกราคม 2568 ผ่านแคมเปญ Ready, Set, Marry! เริ่มจากคู่รักสายแฟชั่น ‘ลูกไม้’ อินทิรา หอมเทียนทอง และ ‘มาย’

ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาผ่านโครงการ ZERO DROPOUT

Zero Dropout  เพราะ “การศึกษา” เปรียบเสมือนใบเบิกทางต่อยอดสู่อนาคต แต่กลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ รายได้ในครอบครัวไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการศึกษา เด็กบางคนต้องช่วยที่บ้านทำงานจนเรียนไม่ทัน หรือขาดเอกสารในการยืนยันตัวตน ทำให้ “เด็ก” หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาและพลาดโอกาสในการทำตามความฝันและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” เป็นสิ่งที่แสนสิริมีความมุ่งมั่นตั้งใจริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ