วิกฤติความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ของเด็กไทย

การศึกษาเป็นต้นทุนของชีวิตที่สำคัญของเด็กๆ และเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนคงพยายามหาทางเลือกในการศึกษาที่เหมาะสมกับกับบุตรหลาน ซึ่งมีตัวเลือกมากมาย จะเป็นโรงเรียนสหศึกษา โรงเรียนคริสต์ โรงเรียนพุทธ โรงเรียนนานาชาติที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด หลายครอบครัวกังวลว่าส่งบุตรหลานไปเรียนที่นี่แล้วจะเก่งไหม มีสังคมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมไหม ฯลฯ

ยิ่งช่วงโควิด แทนที่เด็กๆ จะได้ใช้เวลาอยู่กับคุณครู เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่โรงเรียน กลับกลายเป็นต้องนั่งเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองหลายคนก็ค่อนข้างหนักใจ กลัวว่าการเรียนการสอนจะทำได้ไม่เต็มที่ พัฒนาการของบุตรหลานตนจะถดถอย กลับมานั่งคิดอีกว่าระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนดีพอหรือยัง จะเสริมอะไรดี นี่เป็นความกังวลที่เรามักจะได้ยินในวงสนทนาช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ต้องบอกว่า นี่เป็นความกังวลของคนที่ “มีทางเลือก” อย่างเราๆ ท่านๆ แต่มีเด็กในไทยอีกมากมายครับ ที่ “ไม่มีทางเลือก” แบบนี้

จริงอยู่ที่ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติให้การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมี “สิทธิ” และ “โอกาส” เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่เด็กบางกลุ่มขาดโอกาสที่จะได้ใช้สิทธินี้เนื่องจากถูกเงื่อนไขเช่น ความยากจน ความยากจนเฉียบพลันจากโควิด 19 หรือกำพร้าพ่อแม่ บังคับให้พวกเค้า “หลุดจากระบบการศึกษา” อย่างเลือกไม่ได้

จากตัวเลขปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) ที่บอกว่ามีเด็กยากจนพิเศษกว่า 1.9 ล้านคนอยู่ในภาวะ “เสี่ยงที่จะหลุดจากการศึกษา” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน และประเมินว่า ณ สิ้นปี 2564 มีเด็กที่หลุดจากการศึกษาจริงถึงกว่า 65,000 คน

หลายครั้งที่เราได้ยินบทวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยว่าล้าหลัง ฯลฯ จากคนที่ไม่เห็นด้วยกับระบบปัจจุบัน แต่สำหรับผมกลับคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรถ้ามีแต่บ่น ชี้นิ้วไปมา หาข้อเสีย แต่ยังไม่มีใครสามารถนำเสนอวิธีการแก้แบบองค์รวมหรือชี้เป้าได้ว่าแก้แบบไหนจะดีที่สุด วนกันไปในอ่าง

ผมว่าเรามาจัดการเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกก่อนดีกว่า ทำยังไงให้สามารถส่งเด็กกว่า 65,000 คนกลับเข้าระบบ และป้องกันไม่ให้เด็กกว่า 1.9 ล้านคนที่มีความเสี่ยงไม่หลุดจากระบบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียน มีอาหารกลางวันทาน ฯลฯ พื้นที่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ไม่ควรอยู่ในไร่ส้ม ร้านอาหาร หรือไซต์ก่อสร้าง แต่ควรเป็นโรงเรียนครับ

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาคือ ในอนาคตเมื่อพวกเค้าทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาวะด้อยคุณภาพทางความรู้หมายถึงโอกาสในการทำงานที่จำกัด มีโอกาสสูงจะกลายเป็นกลุ่มผู้ได้รับค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำ และมีโอกาสในการพัฒนาชีวิตพวกเค้าได้ยาก นอกจากนี้แล้วยังหมายถึงคุณภาพของตลาดแรงงานที่ด้อยลง และกลายเป็นต้นทุนของประเทศที่จะลดทอนศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง ดังนั้น ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษา แต่กระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

เนื่องด้วยปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และไม่ใช่เป็นปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็แก้ได้ถ้าหากเราทุกคนจะหยุดคิดอคติกับระบบการศึกษาไทย แล้วหาทางเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน

ผมเชื่อว่าภาคเอกชนจะสามารถมีบทบาทสำคัญได้ด้วยการสร้างจิตสาธารณะผ่านกลไกใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยปูทางความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจด้วยกัน ประชาชน และผู้นำทางความคิด ให้เกิดการรวมเป็นเครือข่ายทางสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบในทางบวก เสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาผ่านโครงการ ZERO DROPOUT

Zero Dropout  เพราะ “การศึกษา” เปรียบเสมือนใบเบิกทางต่อยอดสู่อนาคต แต่กลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ รายได้ในครอบครัวไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการศึกษา เด็กบางคนต้องช่วยที่บ้านทำงานจนเรียนไม่ทัน หรือขาดเอกสารในการยืนยันตัวตน ทำให้ “เด็ก” หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาและพลาดโอกาสในการทำตามความฝันและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” เป็นสิ่งที่แสนสิริมีความมุ่งมั่นตั้งใจริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

แสนสิริ กับ 18 ปี แห่งการสร้างรากฐานที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของเด็กทุกคน

SansiriSocialChange ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แสนสิริไม่ได้เพียงแค่สร้างบ้าน แต่เรายังมุ่งมั่นในการสร้างรากฐานสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่างๆ ร่วมกับพันธมิตร พร้อมส่งต่อโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ การศึกษา กีฬา และคุณภาพชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างอนาคตที่ดีให้กับ “เด็กทุกคน”  กว่า 18 ปีที่ผ่านมา แสนสิริ ยืนหยัดและผลักดันในประเด็นของสิทธิเด็ก การยุติการใช้ความรุนแรง และการใช้แรงงานเด็ก

“แสนสิริ” เดินหน้า ZERO DROPOUT ชูโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน  3 รูปแบบ “เด็กทุกคนต้องได้เรียน” พัฒนาทุนมนุษย์เคลื่อนเศรษฐกิจ

“แสนสิริหวังว่าโครงการ ZERO DROPOUT เด็กทุกคนต้องได้เรียน นำร่องที่จังหวัดราชบุรี จะจุดประกายให้เห็นกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ขยายผลนำไปใช้ทั่วประเทศ” เพราะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจ ดังนั้นการสร้าง “ความเสมอภาคทางการศึกษา” ทำให้เด็กไม่หลุดจากระบบการศึกษา เติบโตเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและเข้ามามีส่วนร่วม โดยบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แถวหน้าของไทย ได้ผลักดันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง