วิกฤติความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ของเด็กไทย

การศึกษาเป็นต้นทุนของชีวิตที่สำคัญของเด็กๆ และเชื่อว่าผู้ปกครองทุกคนคงพยายามหาทางเลือกในการศึกษาที่เหมาะสมกับกับบุตรหลาน ซึ่งมีตัวเลือกมากมาย จะเป็นโรงเรียนสหศึกษา โรงเรียนคริสต์ โรงเรียนพุทธ โรงเรียนนานาชาติที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด หลายครอบครัวกังวลว่าส่งบุตรหลานไปเรียนที่นี่แล้วจะเก่งไหม มีสังคมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมไหม ฯลฯ

ยิ่งช่วงโควิด แทนที่เด็กๆ จะได้ใช้เวลาอยู่กับคุณครู เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่โรงเรียน กลับกลายเป็นต้องนั่งเรียนออนไลน์ ผู้ปกครองหลายคนก็ค่อนข้างหนักใจ กลัวว่าการเรียนการสอนจะทำได้ไม่เต็มที่ พัฒนาการของบุตรหลานตนจะถดถอย กลับมานั่งคิดอีกว่าระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนดีพอหรือยัง จะเสริมอะไรดี นี่เป็นความกังวลที่เรามักจะได้ยินในวงสนทนาช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ต้องบอกว่า นี่เป็นความกังวลของคนที่ “มีทางเลือก” อย่างเราๆ ท่านๆ แต่มีเด็กในไทยอีกมากมายครับ ที่ “ไม่มีทางเลือก” แบบนี้

จริงอยู่ที่ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีบทบัญญัติให้การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมี “สิทธิ” และ “โอกาส” เสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึง โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แต่เด็กบางกลุ่มขาดโอกาสที่จะได้ใช้สิทธินี้เนื่องจากถูกเงื่อนไขเช่น ความยากจน ความยากจนเฉียบพลันจากโควิด 19 หรือกำพร้าพ่อแม่ บังคับให้พวกเค้า “หลุดจากระบบการศึกษา” อย่างเลือกไม่ได้

จากตัวเลขปี 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ) ที่บอกว่ามีเด็กยากจนพิเศษกว่า 1.9 ล้านคนอยู่ในภาวะ “เสี่ยงที่จะหลุดจากการศึกษา” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับเด็กทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน และประเมินว่า ณ สิ้นปี 2564 มีเด็กที่หลุดจากการศึกษาจริงถึงกว่า 65,000 คน

หลายครั้งที่เราได้ยินบทวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยว่าล้าหลัง ฯลฯ จากคนที่ไม่เห็นด้วยกับระบบปัจจุบัน แต่สำหรับผมกลับคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไรถ้ามีแต่บ่น ชี้นิ้วไปมา หาข้อเสีย แต่ยังไม่มีใครสามารถนำเสนอวิธีการแก้แบบองค์รวมหรือชี้เป้าได้ว่าแก้แบบไหนจะดีที่สุด วนกันไปในอ่าง

ผมว่าเรามาจัดการเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งเป็นบันไดขั้นแรกก่อนดีกว่า ทำยังไงให้สามารถส่งเด็กกว่า 65,000 คนกลับเข้าระบบ และป้องกันไม่ให้เด็กกว่า 1.9 ล้านคนที่มีความเสี่ยงไม่หลุดจากระบบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียน มีอาหารกลางวันทาน ฯลฯ พื้นที่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ไม่ควรอยู่ในไร่ส้ม ร้านอาหาร หรือไซต์ก่อสร้าง แต่ควรเป็นโรงเรียนครับ

สิ่งที่น่ากังวลสำหรับเด็กกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาคือ ในอนาคตเมื่อพวกเค้าทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน ภาวะด้อยคุณภาพทางความรู้หมายถึงโอกาสในการทำงานที่จำกัด มีโอกาสสูงจะกลายเป็นกลุ่มผู้ได้รับค่าตอบแทนแรงงานขั้นต่ำ และมีโอกาสในการพัฒนาชีวิตพวกเค้าได้ยาก นอกจากนี้แล้วยังหมายถึงคุณภาพของตลาดแรงงานที่ด้อยลง และกลายเป็นต้นทุนของประเทศที่จะลดทอนศักยภาพการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง ดังนั้น ปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษานี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษา แต่กระทบการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

เนื่องด้วยปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และไม่ใช่เป็นปัญหาของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ก็แก้ได้ถ้าหากเราทุกคนจะหยุดคิดอคติกับระบบการศึกษาไทย แล้วหาทางเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน

ผมเชื่อว่าภาคเอกชนจะสามารถมีบทบาทสำคัญได้ด้วยการสร้างจิตสาธารณะผ่านกลไกใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยปูทางความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจด้วยกัน ประชาชน และผู้นำทางความคิด ให้เกิดการรวมเป็นเครือข่ายทางสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบในทางบวก เสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผลักดันให้เด็กกลุ่มนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้

CEO OF SANSIRI PLC

Related Articles

Zero Dropout

เท็น: เด็กเรียนรู้ด้วยหัวใจ เมื่อห้องเรียนเข้าใจชีวิตจริง

ในประเทศไทย ปัญหา เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามได้ จากข้อมูลล่าสุด มีเด็กและเยาวชนอายุ 3–18 ปี มากกว่า 1.02 ล้านคน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา เทียบเท่าประมาณ 8% ของเด็กวัยเรียนทั้งหมด  แม้ตัวเลขจะดูน่าห่วง แต่เบื้องหลังคือชีวิตจริงที่ซับซ้อน และเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว เช่นเดียวกับเรื่องจริงของ “เท็น

ส่งต่อโอกาสทางการศึกษาผ่านโครงการ ZERO DROPOUT

Zero Dropout  เพราะ “การศึกษา” เปรียบเสมือนใบเบิกทางต่อยอดสู่อนาคต แต่กลับมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ รายได้ในครอบครัวไม่เพียงพอ สภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการศึกษา เด็กบางคนต้องช่วยที่บ้านทำงานจนเรียนไม่ทัน หรือขาดเอกสารในการยืนยันตัวตน ทำให้ “เด็ก” หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษาและพลาดโอกาสในการทำตามความฝันและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น    โครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” เป็นสิ่งที่แสนสิริมีความมุ่งมั่นตั้งใจริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ

แสนสิริ กับ 18 ปี แห่งการสร้างรากฐานที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของเด็กทุกคน

SansiriSocialChange ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แสนสิริไม่ได้เพียงแค่สร้างบ้าน แต่เรายังมุ่งมั่นในการสร้างรากฐานสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการต่างๆ ร่วมกับพันธมิตร พร้อมส่งต่อโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งสุขภาพ การศึกษา กีฬา และคุณภาพชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างอนาคตที่ดีให้กับ “เด็กทุกคน”  กว่า 18 ปีที่ผ่านมา แสนสิริ ยืนหยัดและผลักดันในประเด็นของสิทธิเด็ก การยุติการใช้ความรุนแรง และการใช้แรงงานเด็ก